posttoday

วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตภัยแล้ง วิกฤตชาติ

04 เมษายน 2559

สุวิทย์ คุณกิตติ

โดย...สุวิทย์ คุณกิตติ

รัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหา ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตภัยแล้งซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในขณะนี้ แต่กระบวนการและวิธีการยังมีลักษณะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และต่างคนต่างแก้

แม้ว่ารัฐบาลจะเน้นในเรื่องของการรวมพลังประชารัฐ มีการตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนขึ้นมาใหม่เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา แต่คณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นภาคธุรกิจเอกชนและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง แนวนโยบายแม้ว่าจะเน้นเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก แต่ผลที่ออกมาก็ไม่ทำให้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนฐานรากลดน้อยลงไปได้แต่อย่างใด จะเห็นผลบ้างก็อยู่ในส่วนของภาคธุรกิจเอกชน

ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้แตกต่างจากวิกฤตช่วงต้มยำกุ้งที่สถาบันการเงินและภาคธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงต้องใช้เงินจำนวนมากเข้าไปโอบอุ้มทั้งสถาบันการเงินและภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะต้องทำให้เกิดการหมุนเวียนทางด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งมาตรการที่ได้ผล ก็คือ การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเป็นกลไกในการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจให้ลงไปถึงฐานรากโดยตรงและเร็วที่สุด รัฐบาลในขณะนั้นมีเงินจำกัดจึงต้องทำให้เงินที่มีจำกัดนั้นเกิดผลในการขับเคลื่อนและการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบมากยิ่งขึ้น

เพื่อให้เกิดผลดังกล่าว คณะกรรมการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จึงกำหนดกรอบเงื่อนไขเพื่อให้การอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบให้ได้เร็วที่สุดและสามารถติดตามตรวจสอบว่าเงินที่ลงไปนั้นอยู่ที่ใครและไม่หายไปไหน ส่วนกระบวนการวิธีการในการที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองก็ให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านไปกำหนดหลักเกณฑ์ โดยผ่านกระบวนการพิจารณาและเห็นชอบจากประชาคมหมู่บ้าน กระบวนการในการอัดฉีดเงินจึงเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แตกต่างจากกระบวนการของสำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ที่เป็นผู้รับผิดชอบนโยบายในขณะนี้ ที่ไปเพิ่มเงื่อนไขกติกาที่ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรค ทำให้การไหลของเงินลงไปในระบบล่าช้า กะปริดกะปรอย ทำให้พลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปอย่างที่รัฐบาลตั้งใจไว้

โครงการและนโยบายที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากก็จะมีปัญหาในลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการอัดฉีดเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านและโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท หรือหมู่บ้านละ 5 แสนบาท ที่รัฐบาลประสงค์จะให้โครงการเหล่านี้ไปขับเคลื่อนการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ เพราะระเบียบราชการมีเงื่อนไขที่สลับซับซ้อนจึงใช้เวลานาน ในส่วนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ส่วนใหญ่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วสามารถดำเนินการด้วยตัวเอง ควรให้แต่ละกองทุนทำประชาคมแล้วดำเนินการได้เองเลย ส่วน สทบ.มีหน้าที่เพียงติดตามและตรวจสอบก็พอ

แต่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ ภาคธุรกิจเอกชนสถาบันการเงินมีประสบการณ์จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในหลายครั้งที่ผ่านมา จึงได้มีการปรับปรุงและเตรียมการเพื่อป้องกันและรองรับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นอีก จึงไม่ได้สร้างปัญหารุนแรงแต่อย่างใดและซึ่งแตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ภาคธุรกิจและสถาบันการเงินได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

การที่รัฐใช้นโยบายทั้งการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นการบริโภค การใช้จ่ายเงินและการลงทุนของประชาชน ก็เป็นการช่วยภาคธุรกิจ การค้าและอุตสาหกรรม แต่วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้คนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด คือ เกษตรกรและประชาชนฐานราก เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ประกอบกับภาวะภัยแล้ง ทำให้มีผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกษตรกรขาดทุนเพราะมีรายได้ลดลงและหนี้สินเพิ่มขึ้น

แม้ว่ารัฐบาลจะเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง แต่กระบวนการและวิธีการที่ได้ดำเนินการที่ผ่านมาก็ยังมีปัญหา เพราะขาดความเป็นเอกภาพและความเชื่อมโยงของนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาในลักษณะองค์รวม ทำให้การแก้ไขปัญหามีลักษณะต่างคนต่างทำ และเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแต่เพียงอย่างเดียว

จะเห็นได้ว่าในขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนที่สามารถใช้การได้เหลือน้อยเต็มที และยังคาดการณ์ว่าจะใช้ได้จนถึงเดือน ก.ค. แต่ปีนี้ข้อมูลทางด้านอุตุนิยมวิทยาคาดว่าฝนจะมาล่าช้ากว่าปกติ และถึงแม้ว่าจะมีฝนตกแต่ปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจะเพิ่มขึ้นและพอเพียงที่จะใช้ก็คงต้องใช้เวลาอีกระยะอย่างน้อย 1-2 ปี เพราะสภาพความแห้งแล้งที่ต่อเนื่องกันมายาวนาน

หากฝนที่คาดว่าจะตกในช่วงเดือน ก.ค.ไม่ตกและยังแห้งแล้งต่อไปจะทำอย่างไร เพราะหน่วยงานภาครัฐเตรียมการรองรับเพียงเดือน ก.ค.เท่านั้น

ดังนั้น รัฐบาลต้องควบคุมให้มาตรการประหยัดการใช้น้ำของทุกภาคส่วนที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต้องเตรียมมาตรการไว้รองรับ กรณีน้ำไม่พอเพียงต่อการอุปโภคบริโภค ต้องเตรียมจัดหาน้ำสำรองหากภัยแล้งยาวกว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่น ต้องปรับแผนขุดเจาะน้ำบาดาล ในพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยให้ความสำคัญเร่งด่วนลำดับแรกในการจัดหาน้ำต้นทุนเพื่อผลิตน้ำประปามากกว่าการขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อประโยชน์อย่างอื่น

ถึงแม้ว่าจะมีฝนตกในช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ก็ตาม แต่กว่าปริมาณน้ำในเขื่อนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จะมีน้ำเพียงพอที่จะใช้ในการปลูกพืชในฤดูแล้งอย่างเต็มที่ก็คงต้องใช้ระยะเวลาอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเตรียมมาตรการในการที่จะรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นด้วย

ปัญหาเรื่องน้ำไม่ได้มีแต่เพียงปัญหาภัยแล้งที่ทำให้เกิดความเสียหายเกือบ 1.2 แสนล้านบาท แต่ยังมีปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมามูลค่าความเสียหาย 1.36 ล้านล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมจะต้องใช้เงินอีกเกือบ 8 แสนล้านบาท รวมแล้วเป็นเงินกว่า 2 ล้านล้านบาท

รัฐบาลควรปรับปรุงนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เสียใหม่ จากที่เคยให้ความสำคัญในเรื่องการก่อสร้างระบบรางและโครงการรถไฟ มาให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการบริหารจัดการน้ำ เพื่อกระจายน้ำจากพื้นที่ที่มีน้ำมากไปเติมให้กับพื้นที่ที่มีน้ำน้อยตาม “แนวพระราชดำริอ่างพวงและแก้มลิง” ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งโดยก่อสร้างระบบกระจายน้ำที่จะเข้าไปถึงทุกไร่นาและทำประปาถึงทุกบ้าน ประชาชนฐานรากและเกษตรกรจะสามารถทำไร่ทำนาและพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ อย่างสม่ำเสมอและยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการสนอง “แนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง”

หากเศรษฐกิจฐานรากมั่นคงแข็งแรง เศรษฐกิจไทยจะเข้มแข็งยั่งยืน ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไรเราก็จะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง สามารถยืนอยู่บนขาของเราได้อย่างมั่นคงตาม “แนวทางพระราชดำริ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

รัฐบาลนี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและสามารถจะแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตภัยแล้งซึ่งเป็นวิกฤตที่สำคัญของชาติได้

หากรัฐบาลสามารถดูแลแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรและประชาชนฐานรากซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้มีอยู่ มีกิน มีใช้ มีเหลือ มีความสุข รัฐบาลและประเทศชาติก็จะมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน