เลือกตั้ง66:เปรียบเทียบ นโยบายประชานิยม พรรคการเมือง ใช้เงินเท่าไหร่
ใกล้วันเลือกตั้ง 14พ.ค. 2566 พรรคการเมือง ออกแคมเปญ นโยบายต่างๆเรียกคะแนนนิยมจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง นโยบายประชานิยม นโยบายพรรคการเมืองแต่ละพรรคถูกจับตามอง ทั้งความเป็นไปได้ ความคุ้มค่า เม็ดเงินมหาศาล ที่ต้องเทลงไป แลกกับคะแนนเสียงนั้น คุ้มค่าหรือไม่
ใกล้วันเลือกตั้ง 14พ.ค.2566 พรรคการเมืองในสนามเลือกตั้ง ก้าวไกล เพื่อไทย พลังประชารัฐ ไทยสร้างไทย รวมไทยสร้างชาติ ออกแคมเปญ โดยเฉพาะ นโยบายประชานิยม สวัสดิการก้าวหน้า ที่หวังเป็นตัวเรียกคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งแต่ละพรรคก็มีรูปแบบ วิธีการแตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าอย่างไร นโยบายแต่ละพรรคล้วนใช้เม็ดเงินมหาศาล โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ สำรวจ นโยบายแต่ละพรรค ที่มารายได้ พร้อมทั้งประเมิน คาดการณ์ เม็ดเงินที่ต้องทุ่มลงไป แลกกับ คะแนนเสียงนั้น คุ้มค่าหรือไม่
1.พรรคก้าวไกล นโยบายสวัสดิการก้าวหน้า
แกนนำพรรคก้าวไกล ระบุ การออกนโยบายคำนึงถึงความเป็นไปได้ ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต ข้อมูลจากพรรคก้าวไกล ที่เปิดออกมาในการดูแลตั้งวัยเกิด เช่น ของขวัญแรกเกิด 3000 บาท ให้พ่อแม่ซื้อสิ่งของจำเป็นในการเลี้ยงลูก เงินเด็กเล็กเดือนละ 1200 บาท สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้ ศูนย์ดูแลเด็กใกล้บ้านและที่ทำงาน วัยเติบโต เช่น เรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง คูปองเปิดโลก ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน ยกเลิกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผ้าอนามัยและนำร่องแจกผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียน
วัยทำงาน เช่น ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท รัฐช่วย SME 6 เดือนแรก สัญญาจ้างเป็นธรรม ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แรงงานทุกกลุ่มตั้งสหภาพได้ ประกันสังคมถ้วนหน้า เจ็บป่วยได้เงินชดเชยและค่าเดินทางหาหมอ เรียนเสริมทักษะ-เปลี่ยนอาชีพ ฟรีไม่จำกัดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และคูปองเรียนเสริม
วัยสูงวัย ประกอบด้วย เงินผู้สูงวัยเดือนละ 3000 บาท สร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง ค่าทำศพถ้วนหน้า 10,000 บาท
ทุกอายุ ประกอบด้วย บ้านตั้งตัว 350,000 หลัง รัฐช่วยผ่อน-จ่ายค่าเช่า น้ำประปาดื่มได้ทุกพื้นที่ เติมเงินให้ท้องถิ่น เพิ่มขนส่งสาธารณะ เน็ตฟรี 1 GB ต่อเดือน เงินคนพิการเดือนละ 3000 บาท
แต่ละนโยบายที่ออกมาล้วนใช้เม็ดเงินมหาศาล ไม่ได้น้อยไปกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ขณะเดียวกันทางพรรค ได้แจกแจงวงเงิน 6.5 แสนล้านบาทต่อปี คาดการณ์ว่าจะดึงมาได้จากแต่ละส่วนเพื่อนำมาใช้ผ่านนโยบายสวัสดิการก้าวหน้า ประกอบไปด้วย(1)ลดขนาด เพิ่มประสิทธิภาพกองทัพ และเรียกคืนธุรกิจกองทัพ 5 หมื่นล้านบาท (2)ลดงบกลาง 3 หมื่นล้านบาท (3)ปรับลดโครงการที่ไม่จำเป็น 1 แสนล้านบาท (4)เงินปันผลที่รัฐจะได้จากรัฐวิสาหกิจเพิ่ม 1.3 หมื่นล้านบาท (5)เก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินโดยเก็บจากทรัพย์สินของคนที่มีทรัพย์สินเกิน 300 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้รายได้ 6 หมื่นล้านบาท
(6)เก็บภาษีที่ดินรายแปลง รวมแปลง ซึ่งจะได้รายได้เพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท (7)เก็บภาษีนิติบุคคลทุนใหญ่วงเงินรวม 9.2 หมื่นล้านบาท (8)ปฏิรูปสิทธิประโยชน์บีโอไอให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกันกับ OECD คาดว่าได้เงินเข้ารัฐเพิ่มอีก 8,000 ล้านบาท (9)เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีภาครัฐตั้งเป้าเพิ่มรายได้เข้ารัฐอีก 1 แสนล้านบาท (10)นโยบายหวยบนดินที่จะเพิ่มรายได้ให้กับรัฐประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี
2. พรรคเพื่อไทย นโยบายแจกเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท แจกให้บุคคลที่มีอายุตั้งแต่16ปีขึ้นไป
ตัวเลขงบประมาณที่ต้องใช้เฉพาะนโยบายนี้ประมาณ 5.4 – 5.5 แสนล้านบาท เมื่อไปดูประชากรที่อยู่ในเกณฑ์รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ราว54,676,932 คน คิดเป็นวงเงินกว่า 5.4 – 5.5 แสนล้านบาท แม้พรรคเพื่อไทย จะถูกร้องเรียนไปยังกกต.และถูกตั้งคำถามทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ ถึงความเป็นไปได้ ทางพรรคชี้แจงว่า นโยบายนี้ทำได้แน่นอน พร้อมชี้แจงไปยังกกต. เบื้องต้นเงินที่มานั้น จะมีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ใหม่ ตัดงบประมาณบางส่วนจากส่วนราชการ รายได้จากการเก็บภาษีที่สามารถเก็บได้เพิ่มขึ้น และเงินคงเหลือจากการที่ผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการบางส่วนมาเลือกรับเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลแทนการรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น
3. พรรคพลังประชารัฐ นโยบายแจกเงินผู้สูงอายุ ตามขั้นบันได
นโยบายนี้คาดการณ์ว่าน่าจะใช้งบประมาณ 5.2 แสนล้านบาทต่อปี มีการกำหนดว่าจะเพิ่มสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุเป็นแบบขั้นบันได เพิ่มสวัสดิการผู้สูงอายุ โดยเริ่มจากอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับ 3000 บาท อายุ 70 ปีขึ้นไปได้รับ 4000 บาท และอายุ 80 ปีขึ้นไปได้รับ 5000 บาท
เมื่อแบ่งตามกลุ่มอายุ คำนวณตัวเลขงบประมาณที่จะใช้ในแต่ละช่วงวัยของผู้สูงอายุและคำนวณเป็นงบประมาณทั้งปี (1)ผู้สูงอายุ 60 – 69 ปี จำนวน 6.84 ล้านคน ได้รับเงิน 3000 บาทต่อเดือน ต้องใช้งบประมาณ 246,240 ล้านบาทต่อปี (2)ผู้สูงอายุ 70 – 79 ปี จำนวน 3.52 ล้านคน ได้รับเงิน 4000 บาทต่อเดือน ต้องใช้งบประมาณ 168,960 ล้านบาทต่อปี (3)ผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป จำนวน 1.75 ล้านคน ได้รับเงิน 5000 บาทต่อเดือน ต้องใช้งบประมาณ 1.05 แสนล้านบาทต่อปี
4.พรรคไทยสร้างไทย นโยบายบำนาญประชาชน เดือนละ 3,000 บาท
คาดการณ์ว่าน่าจะใช้งบประมาณ 4.32 แสนล้านบาทต่อปี พรรคไทยสร้างไทย ออกนโยบายให้บำนาญผู้สูงอายุ 3000 บาทต่อเดือนเท่ากันทุกคน เมื่อดูฐานข้อมูลประชากรไทยปี 2565 ประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12.1 ล้านคน คำณวนจากจำนวนผู้สูงอายุของไทยที่จะได้เงินบำนาญเดือนละ 3000 บาทตามนโยบายดังกล่าว งบประมาณที่ต้องใช้ต่อเดือน เป็นเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็นงบประมาณที่ใช้ต่อปี วงเงินทั้งสิ้นประมาณ 4.32 แสนล้านบาทต่อปี
5.พรรครวมไทยสร้างชาติ นโยบายบัตรสวัสดิการพลัส
นโยบายนี้คาดว่าน่าจะใช้เงินงบประมาณ 1.75 แสนล้านบาทต่อปี บัตรสวัสดิการพลัส ต่อยอกจาก โครงการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่จะให้สิทธิเพิ่มเป็น 1000 บาทต่อเดือน ขณะเดียวกัน ผู้ถือบัตรยังมีสิทธิกู้ฉุกเฉินในวงเงิน 10,000 บาทต่อคน โดยสามารถนำบัตรนี้ไปเป็นหลักประกันเงินกู้กับธนาคารออมสินซึ่งมีโครงการให้สินเชื่อรายย่อยในวงเงิน 10,000 บาทอยู่แล้ว หากคำนวณจากผู้มีสิทธิ์ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีการตรวจสอบสิทธิ์ในปี 2565 – 2566 จำนวน 14.6 ล้านราย พบว่าหากมีการเพิ่มวงเงินการใช้จ่ายในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปเป็น 1000 บาทต่อราย จะต้องใช้งบประมาณ 1.46 หมื่นล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 1.75 แสนล้านบาทต่อปี
ได้เห็น นโยบายของแต่ละพรรคการเมือง ที่ทยอยเปิดออกมาล็อตแรก แต่เชื่อว่า น่าจะยังไม่หมดเท่านี้ แต่ละพรรค รอเวลา ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง 1-2สัปดาห์ก่อนวันลงคะแนนเสียง14พ.ค.2566 ที่แต่ละพรรค เตรียมนโยบายทั้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน บางพรรคอย่าง ประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองอื่นๆ ยังอุบไต๋ ไพ่เด็ดเอาไว้ ยังไม่เปิดออกมากระตุ้นคะแนนเสียงรอบสุดท้าย ยิ่งเข้าใกล้วันเลือกตั้งมากขึ้นเท่าใด คงได้เห็น นโยบายระลอกใหม่ เกทับบลัฟแหลก ดึงคะแนนเสียงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกันอย่างดุเดือดแน่นอน