posttoday

เศรษฐกิจโลกป้อแป้ ยักษ์ใหญ่ต่างเจอปัญหา

16 สิงหาคม 2558

การแข็งตัวของเงินเหรียญสหรัฐกำลังจะกลายเป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวลมากที่สุดของเศรษฐกิจ

โดย...ธนพล ไชยภาษี, ก้องภพ เทอดสุวรรณ

เศรษฐกิจ ลุงแซม แกร่ง แต่ไม่แน่นอน …

ตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในช่วงปลายปี 2008 มาจนถึงขณะนี้เกือบจะ 7 ปีแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐถือว่าก้าวเข้าสู่การฟื้นตัวอย่างเต็มที่ และมีความแข็งแกร่งในระดับหนึ่งจนบรรดาสถาบันเศรษฐกิจโลกหลายแห่งต่างมองว่าสหรัฐจะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของโลกในปีนี้ แต่เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะแข็งแกร่งไม่จริงอย่างที่คิด

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเอาตัวรอดและเลี้ยงตัวมาได้ในช่วงหลังวิกฤต เกิดจากนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการผ่อนปรนเชิงปริมาณ (คิวอี) ที่เฟดปั๊มธนบัตรเข้าสู่ระบบอย่างมหาศาลและต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2008 จนเพิ่งมาสิ้นสุดเมื่อปลายปีที่แล้วนี้ ประกอบกับการใช้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ 0-0.25% จนถึงปัจจุบัน

การดำเนินนโยบายทางการเงินและดอกเบี้ยที่ไม่ปกติของเฟดได้ชุบชีวิตให้ตลาดทุนของสหรัฐฟื้นขึ้นมาจากหลุมภายในปีเดียว และได้ส่งอานิสงส์ไปยังตลาดทุนทั่วโลกที่กระแสทุนจากเฟดที่ไหลเข้าสู่ตลาดทุน ได้ไหลออกไปยังตลาดหุ้นทั่วโลกทำให้ ดัชนีหุ้นทั่วโลกได้ทะยานขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงปี 2009

กระนั้นก็ตาม การดำเนินนโยบายดังกล่าวถูกตั้งคำถามอย่างรุนแรงว่า ในเศรษฐกิจภาคจริงของสหรัฐยังไม่กลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเห็นได้จากอัตราว่างงานของสหรัฐ ที่อยู่ที่ราว 5.3% แม้จะดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับในช่วงสูงสุดในปี 2009 ที่พุ่งไปเกือบ 10% ประกอบกับการจ้างงานใหม่ที่จำนวนไม่น้อยเป็นเพียงตำแหน่งงานชั่วคราว และมีผู้ตกงานจำนวนมากที่ออกจากระบบงานไป

เศรษฐกิจโลกป้อแป้ ยักษ์ใหญ่ต่างเจอปัญหา

เอกชนสหรัฐยังคงใช้กลยุทธ์การทำกำไรด้วยการลดต้นทุนในส่วนการจ้างงานที่มีต้นทุนต่ำที่สุด และในปีนี้ หลายธนาคารและภาคธุรกิจยังคงเดินหน้าลดพนักงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลายบริษัทในภาคธุรกิจเหมืองที่เริ่มมีการปลดคนงานยกใหญ่อีกระลอกหนึ่ง เมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่องรุนแรงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รวมไปถึงอุตสาหกรรมพลังงานที่มีการลดคนงานหลังราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง

ปัญหาเงินเฟ้อต่ำยังคงเป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวลไม่น้อย และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เฟดวิตกกังวลในขณะนี้ โดยแม้เป้าหมายเงินเฟ้อของสหรัฐจะอยู่ที่ 2.0% แต่ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 0.1% เท่านั้น ระดับเงินเฟ้อต่ำมีความสัมพันธ์อย่างเลี่ยงไม่ได้กับราคาน้ำมันที่ลดต่ำลง ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอย่างชัดเจน แต่กระนั้น เศรษฐกิจสหรัฐก็ยังพอมีหวังจากยอดค้าปลีกในเดือน ก.ค. ที่ตัวเลขปรับขึ้น 0.6% จากที่คาดการณ์เอาไว้ที่ 0.5% เมื่อครัวเรือนสหรัฐมีการใช้จ่ายมากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มยานยนต์  น้ำมัน และการก่อสร้าง

สัญญาณบวกจากยอดค้าปลีกของสหรัฐนั้นถือว่าเป็นการจุดความหวังของเศรษฐกิจสหรัฐ เนื่องจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐต้องอาศัยพลังผู้บริโภคเป็นส่วนใหญ่ คิดเป็นราว 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐทั้งหมด

แต่เหนือสิ่งอื่นใด แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้เฟดจะได้ส่งสัญญาณว่า สหรัฐมีความแข็งแกร่งเพียงพอต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก และจะทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐในปีนี้น่าจะเป็นไปตามแผน แต่การแข็งตัวของเงินเหรียญสหรัฐกำลังจะกลายเป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวลมากที่สุดของเศรษฐกิจสหรัฐ

เห็นได้จากการตอบสนองของบรรดาราคาหุ้นเอกชนสหรัฐหลายรายที่ดิ่งตัวในทันทีเมื่อธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ประกาศปรับลดอัตราอ้างอิงแลกเปลี่ยนเงินหยวนรายวันติดต่อกัน 3 ครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงไปมากกว่า 3% เมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐ แน่นอนว่า ความเคลื่อนไหวนี้จะทำให้สินค้าสหรัฐมีราคาแพงขึ้น และจะส่งผล
กระทบต่อยอดขายสินค้าของบริษัทสัญชาติสหรัฐที่ต้องพึ่งตลาดจีนเช่นกัน

เจเน็ต เยลเลน ผู้ว่าการเฟด เคยเปรยไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ว่า เฟดจะจับตาความเคลื่อนไหวของค่าเงินเหรียญสหรัฐอย่างใกล้ชิด อีกทั้งแนวโน้มที่น่ากลัวหลังจากนี้ก็คือ หากเฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือน ก.ย.ตามที่คาดการณ์กันไว้ จะยิ่งทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นอีก และภาวะนี้อาจเป็นภัยต่อเศรษฐกิจสหรัฐเองได้ ซึ่งในขณะนี้ค่าเงินเหรียญสหรัฐได้แข็งค่าขึ้นมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ของโลก

สรุปแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ในระดับหนึ่งที่น่าพอใจนับตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เป็นต้นมา แต่ทว่า ผลกระทบจากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้นโยบายที่ไม่ปกติจากคิวอี และการใช้ดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานาน ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐต้องประสบกับการฟื้นตัวที่ไม่สมดุลกันระหว่างตลาดทุนที่เติบโตนำหน้าเศรษฐกิจภาคจริงไป อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากดัชนีเงินเฟ้อที่ต่ำ

ความพยายามที่สหรัฐจะกลับสู่การดำเนินนโยบายปกติโดยเฉพาะนโยบายดอกเบี้ยนั้นยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้ค่าเงินสหรัฐแข็งตัวโดด เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ของโลกมากขึ้นไปอีก รวมไปถึงการปรับลดค่าเงินของจีนครั้งล่าสุดนั้นก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีความไม่แน่นอนยิ่งขึ้นอีกด้วย

เศรษฐกิจโลกป้อแป้ ยักษ์ใหญ่ต่างเจอปัญหา

อียูยังไม่ทันฟื้น ส่อเจอกรีซซ้ำ

สหภาพยุโรป (อียู)  28 ประเทศ กลายเป็นอีกหนึ่งเขตเศรษฐกิจที่กำลังฉุดสภาพเศษรษฐกิจโลกให้ซบเซาลง เนื่องจากสภาพการค้าการลงทุนของอียูที่มีสายสัมพันธ์ร้อยลัดกับทั้งโลกกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวนั่นเอง

ปมปัญหาของเศรษฐกิจอียูในปัจจุบันมีที่มาจากสภาพเศรษฐกิจภายในที่ชะลอตัวตามผลกระทบของวิกฤตหนี้ยุโรปปี 2012 กลายเป็นการกระตุ้นให้เศรษฐกิจอียูเข้าสู่สภาพสุ่มเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืดเป็นอย่างมาก โดยอัตราเงินเฟ้อของกลุ่มยูโรโซนดิ่งลงมาถึง -0.6% เมื่อสิ้นเดือน ธ.ค. 2014 

ซ้ำร้ายอียูยังต้องเผชิญกับวิกฤตความตึงเครียดกับรัสเซียต่อกรณียูเครน จนเลยเถิดกลายเป็นการรวมหัวกับสหรัฐคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียในที่สุด จนส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจของรัสเซียถล้ำเข้าสู่สภาวะหดตัว และค่าเงินรูเบิ้ลก็ดิ่งลงเหว

ขณะที่รัสเซียก็ดำเนินการคว่ำบรตรสินค้าเกษตรของอียูเพื่อเป็นการโต้ตอบเช่นกัน ซึ่งกระทบต่อประเทศในยุโรปตะวันออกที่ประวัติศาสตร์ทำให้มีสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจผูกผันกับรัสเซียไปเต็มๆ กลายเป็นแรงฉุดสภาพเศรษฐกิจของประเทศในบริเวณดังกล่าว

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ กลุ่มยูโรโซนทั้ง 19 ประเทศยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงวิกฤตผิดนัดชำระหนี้ของกรีซอีกเช่นกัน แม้ปัจจุบันรัฐบาลกรีซจะยอมรับข้อเสนอของฝ่ายเจ้าหนี้ยูโรโซนสำหรับการรับโครงการรับความช่วยเหลือทางการเงินซึ่งกรีซจะต้องแลกกับการใช้มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่กรีซอาจผิดนัดชำระหนี้ได้อีกในอนาคตด้วยอัตราหนี้สาธารณะที่สูงถึง 170% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างฮวบฮาบ เนื่องจากนักลงทุนพากันดึงทุนกลับหมด เพราะไม่มั่นใจว่าในความเสี่ยงในจากความไม่แน่นอนของกรีซ

แน่นอนว่า กรีซไม่ได้ประเทศที่มาขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เพียงพอจะสร้างผลกระทบให้กับโลกได้ แต่หากกรณีการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซนำไปสู่การที่กรีซต้องออกจากยูโรโซนซึ่งเท่ากับการสั่นครอนความเป็นเอกภาพของอียู ก็ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ระดับโลกทีเดียว

นอกจากนี้ หนึ่งในเจ้าหนี้รายใหญ่อย่างธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจต้องแบกรับหนี้เสียจำนวนมหาศาลหากกรีซผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งการที่อีซีบีในฐานะผู้ดูแลสกุลเงินยูโรต้องเผชิญกับภาวะหนี้เสียจำนวนมาก ก็ย่อมสั่นครอนความน่าเชื่อถือของสกุลเงินยูโรไม่น้อย

ทั้งนี้ อียูถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ 1 ใน 4 ของโลก และหากคิดรวมเศรษฐกิจของทั่วทั้งยุโรป จีดีพีจะมีขนาดใหญ่กว่า สหรัฐมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลกเสียอีก

อย่างไรก็ตาม แม้สภาพเศรษฐกิจของอียูจะย่ำแย่ แต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา อีซีบีก็ได้ตัดสินใจดำเนินนโยบายเข้าซื้อพันธบัตร (คิวอี) ของกลุ่มประเทศสมาชิกยูโรโซนเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หลังจากการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยเงินติดลบใช้ไม่ได้ผล

ความเคลื่อนไหวส่งผลให้เริ่มเห็นสัญญาญฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขึ้นมาบ้าง อัตราการเติบโตของประเทศสมาชิกยูโรโซนบางแห่งเริ่มฟื้นตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นมาอยู่ที่ 0.2%