ญี่ปุ่นทุบสถิติ!! ประชากรอายุเกิน100เฉียด7หมื่น หวั่นวิกฤตขาดคนวัยทำงาน
รัฐบาลญี่ปุ่นเผยประชากรอายุเกิน 100 ปีมีเกือบ 7 หมื่นคน หวั่นเกิดวิกฤตขาดแคลนประชากรวัยทำงาน หลังอัตราการเกิดต่ำสุดในรอบ 120 ปี
รัฐบาลญี่ปุ่นเผยประชากรอายุเกิน 100 ปีมีเกือบ 7 หมื่นคน หวั่นเกิดวิกฤตขาดแคลนประชากรวัยทำงาน หลังอัตราการเกิดต่ำสุดในรอบ 120 ปี
เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขประชากรที่มีอายุเกิน 100 ปี พบว่า ในเวลานี้มีจำนวนมากถึง 67,824 คน เพิ่มขึ้นจากเมื่อปีที่แล้วถึง 2,132 คน นับเป็นอัตราปรับเพิ่มต่อเนื่องเป็นปีที่ 47 ติดต่อกัน นับตั้งแต่ปี 1971 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวญี่ปุ่นยังมีจำนวนผู้เฒ่าอายุเกินศตวรรษเพียง 339 คนเท่านั้น
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอายุขัยของประชากรยืนยาวที่สุด จากตัวเลขเมื่อปี 2015 โดยองค์การอนามัยโลก พบว่า อายุขัยเฉลี่ยทั้งชายและหยิงในญี่ปุ่นอยู่ที่ 83.7 ปี เมื่อแยกตามเพศ หญิงชาวญี่ปุ่นมีอายุยืนยาวมากที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 1 ส่วนผู้ชายอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก อย่างไรก็ตาม จากการสำตรวจล่าสุดโดยรัฐบาลพบว่า ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 87.9 ปี
สำนักข่าวอาซาฮี ชุมบุน รายงานว่า ผู้หญิงชาวญี่ปุ่นที่มีอายุยืนที่สุดชื่อว่า นาบิ ทาจิมะ อายุ 117 ปี อยู่ที่เมืองคิไค จ.คะโงะชิมะ ส่วนผู้ชายคือ มาซาโซะ โนนะกะ อายุ 112 ปี ชาวเมืองอาโชโร จ.ฮอกไกโด ขณะที่ จ.ชิมาเนะ เป็นพื้นที่ที่มีประชากรอายุเกิน 100 ปีมากที่สุด
นับตั้งแต่ปี 1963 ที่มีการประกาศให้วันที่ 15 ก.ย. เป็นวันผู้สูงอายุ ในปีดังกล่าวมีผู้ที่อายุถึง 100 ปีเพียง 153 คน ต่อมาเพิ่มขึ้นถึง 10,000 คนในปี 1998 และถึง 50,000 คนในปี 2012 จนกระทั่งถึง 60,000 คนในปี 2015
ที่ผ่านมารัฐบาลจะมอบจานทำจากเงินบริสุทธิ์ให้ผู้สูงอายุวัยเกิน 100 ปี ซึ่งแต่ละใบมีมูลค่าสูง แต่หลังจากที่มีผู้อายุเกิน 100 ปีเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รัฐบาลพิจารณาจะเปลี่ยนของรางวัล เนื่องจากงบประมาณเริ่มบานปลาย
ในส่วนของสาเหตุที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นมีอายุยืนยาว และมีประชากรวัยร่วมศตวรรษมากที่สุดในโลก มีผลการวิจัยบ่งชี้หลายปัจจัย เช่น จากการศึกษาของศูนย์สาธารณสุขและยาสากลแห่งชาติ ในกรุงโตเกียว พบว่า การรับประทานที่มีความสมดุลทางโภชนาการเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นมีอายุยืนยาว โดยที่รัฐบาลก็มีส่วนช่วยในเรื่องนี้ ด้วยการเผยแพร่สัดส่วนการรับประทานอาหารที่เหมาะสมในแต่ละวัน
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้เฒ่าอายุเกินร้อยในอัตราสูงระดับโลก กลับไม่ใช่ผลดีต่อญี่ปุ่นสักเท่าไรนักในเวลานี้ เพราะขณะที่ประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น แต่อัตราการเกิดต่ำ โดยปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 120 ปี เนื่องจากคนรุ่นใหม่ตัดสินใจมีลูกน้อยลง หรือหันมาใช้ชีวิตตัวคนเดียวกันมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าในเวลาอีกไม่นาน ญี่ปุ่นจะประสบปัญหาขาดแคลนประชากรวัยทำงาน ทำให้เศรษฐกิจของชาติชะลอตัว รัฐจะขาดงบประมาณ แต่ในวลาเดียวกันจะมีความต้องการงบประมาณมากขึ้น เพื่อใช้ดูแลประชากรสูงวัยที่จะมากกว่าคนวัยทำงานหรือเด็กแรกเกิดหลายเท่าตัว
ปัจจุบันญี่ปุ่นต้องสูญเสียเงินหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากผลของการขาดแคลนเด็กแรกเกิดและคนวัยทำงาน และในอนาคตยังจะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงกว่า จนถูกขนานนามว่าเป็นระเบิดเวลาด้านประชากร โดยรัฐบาลญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหานี้ ด้วยการผ่อนปรนมาตรการรับผู้อพยพหรือแปลงสัญชาติ แต่เพราะสังคมญี่ปุ่นมีความอนุรักษนิยมสูง ทำให้ชาวต่างชาติไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร
ที่มา www.m2fnews.com