การเมืองเปลี่ยน โลกหันพึ่งผู้นำรุ่นใหม่
ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์
โดย ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์
ในขณะนี้ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า “จาซินดา อาร์เดิร์น” หัวหน้าพรรคแรงงานของนิวซีแลนด์ จะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของประเทศในรอบกว่า 150 ปีที่ผ่านมา และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลกด้วยวัยเพียง 37 ปี หลังเตรียมจะตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคนิวซีแลนด์เฟิสต์ ซึ่งมีนโยบายของพรรคคล้ายกับพรรคแรงงานคือ การเพิ่มค่าแรงสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพิ่มการก่อสร้างที่พักอาศัย และลดจำนวนผู้ลี้ภัยในประเทศ
ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ “เซบาสเตียน คัวซ์” วัย 31 ปี หัวหน้าพรรคประชาชน (โอวีพี) เตรียมขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ป้ายแดงของออสเตรียและเป็นผู้นำอายุน้อยที่สุดของโลก โดยมีนโยบายชูโรงของพรรคคือ การขวางผู้อพยพที่ทะลักล้นเข้ายุโรป โดยคัวซ์ประกาศว่าจะปิดช่องทางอพยพหลักเข้าสู่ยุโรป ผ่านทะเลบอลข่าน
และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และย้ำว่าจะหยุดการอพยพเข้าออสเตรียอย่างผิดกฎหมาย ขณะที่หลายฝ่ายคาดว่าคัวซ์จะตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (เอสพีโอ)
ที่เป็นพรรคขวาจัด
พรรคโอวีพีของคัวซ์ได้รับคะแนนโหวต 31.5% ในขณะที่พรรคเอสพีโอได้รับเสียง 26.9% ด้านพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (เอสพีโอ) ที่เป็นพรรครัฐบาลเก่าได้รับเพียง 26%
ทั้งนี้ การขึ้นมาดำรงตำแหน่งของอาร์เดิร์นและคัวซ์บ่งชี้ถึงแนวโน้มของหลายๆ ประเทศที่เริ่มหันไปเลือกนักการเมืองสายเลือดใหม่ขึ้นเป็นผู้นำ แทนที่นักการเมือง “เก๋าเกม” ที่อยู่ในวงการมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในยุโรป เช่น ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครงวัย 39 ปี จากฝรั่งเศส หรือนายกรัฐมนตรี ลีโอ วาราดคาร์ วัย 38 ปี ของไอร์แลนด์
“ประชาชนเริ่มเกิดความรู้สึกว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องหามาตรการใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ส่งผลให้หลายคนเลิกสนใจเรื่องอายุและประสบการณ์ของนักการเมืองที่จะขึ้นเป็นผู้นำ เพราะเริ่มรู้สึกถึงปัญหาที่เป็นดินพอกหางหมูในยุโรป” ซูซี เดนนิสัน จากคณะมนตรีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหภาพยุโรป (อีซีเอฟอาร์) ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองของอียู กล่าว
จาซินดา อาร์เดิร์น ว่าที่นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์
ด้าน สเตฟาน เลห์น จากสถาบันคลังสมองคาร์เนกียุโรป เปิดเผยว่า โซเชียลมีเดียเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ระบบการเมืองในยุโรปเกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น
“การเมืองกลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เร็วยิ่งขึ้น และคาดการณ์ได้ยากขึ้นภายใต้อิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ดังนั้นคนรุ่นหนุ่มสาวจึงสามารถรับมือกับการเมืองสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลามากกว่านักการเมืองรุ่นเก่า” เลห์น กล่าว
ขณะที่ซีเอ็นบีซีเสริมว่า นักการเมืองหนุ่มสาวยังสร้างขวัญกำลังใจให้คนยุโรปว่า คนรุ่นใหม่สามารถยืนหยัดและรับมือปัญหาด้านต่างๆ ได้ โดยเฉพาะด้านผู้อพยพ ที่ทะลักเข้าสู่ยุโรปผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมากกว่าล้านคนในปี 2015 ส่งผลให้อียูและหลายประเทศเริ่มหันมาคุมเข้ม และประเด็นผู้อพยพเป็นเหตุผลหนึ่งที่ชาวออสเตรียหันมาสนับสนุนคัวซ์
สถานการณ์ของผู้นำรุ่นใหม่ดูจะสวนทางกับผู้นำรุ่นเก่า ไม่ว่าจะเป็น “เทเรซา เมย์” จากสหราชอาณาจักร ซึ่งผ่านประสบการณ์ในแวดวงการเมืองมาอย่างโชกโชน และกำลังประสบปัญหาคะแนนความนิยมอยู่ในขณะนี้ โดยเมย์พลาดคว้าเสียงใหญ่ในช่วงการเลือกตั้งเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และกำลังถูกวิจารณ์ด้านภาวะความเป็นผู้นำ
ด้าน “อังเกลา แมร์เกิล” ของเยอรมนี ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรครัฐบาล คริสเตียนเดโมแครต (ซีดียู) มามากกว่า 10 ปี เองก็ได้เสียงน้อยที่สุดรอบ 70 ปีในการเลือกตั้งเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะคว้าชัยชนะได้เป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกันในการเลือกตั้งทั่วไปก็ตาม
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้ว่าทั้งสหราชอาณาจักรและเยอรมนีอาจจะได้ผู้นำสายเลือดใหม่ เหมือนกับคัวซ์ ภายในอนาคต