กับดักหนี้เส้นทางสายไหม จีนล่อลวงจริง หรือแค่ข้อกล่าวหา?

26 เมษายน 2562

จีนโต้ไม่ได้สร้างกับดักหนี้ล่อลวงประเทศยากจน ย้ำทำด้วยเจตนาดี

จีนโต้ไม่ได้สร้างกับดักหนี้ล่อลวงประเทศยากจน ย้ำทำด้วยเจตนาดี

การประชุมสุดยอดโครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative) ซึ่งมีจีนเป็นเจ้าภาพเริ่มขึ้นแล้ว ท่ามกลางบรรยากาศที่แตกต่างจากการประชุมครั้งแรกเมื่อ 2 ปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด การประชุมในปีนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ “โครงการแห่งศตวรรษ” ของจีนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติโดยเฉพาะสหรัฐที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากัน ว่าเป็นความพยายามของจีนในการสยายปีกแผ่อิทธิพลไปทั่วโลกด้วยการล่อลวงให้ประเทศยากจนอื่นๆ “ติดกับดักหนี้” จากเงินกู้ยืมก้อนโตที่จีนหยิบยื่นให้ประเทศเหล่านั้นนำมาสร้างสาธารณูปโภค

ร้อนถึงประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ผู้นำจีนต้องชี้แจงแถลงไขกันกลางที่ประชุมที่มีผู้นำประเทศเข้าร่วม 37 คนรวมทั้งประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย และนายกรัฐมนตรี จูเซปเป คอนเต ของอิตาลี และผู้นำอาเซียนว่า ทุกอย่างต้องทำอย่างโปร่งใส ไร้การคอร์รัปชั่น และยั่งยืนสร้างความเติบโตให้กับทุกฝ่าย แต่ก็ไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องหนี้ที่ทุกคนกังวลแต่อย่างใด ทว่าที่ผ่านมาจีนพยายามย้ำหลายครั้งว่าทำด้วยเจตนาดี ไม่ได้วางกับดักให้ประเทศอื่นเป็นหนี้

แต่ถึงอย่างนั้นบางประเทศก็กำลังปวดหัวในการหาเงินมาใช้หนี้เงินกู้จากจีน

นับตั้งแต่จีนเปิดตัวโครงการ Belt and Road Initiative เมื่อปี 2013 ด้วยความหวังจะฟื้นฟูเส้นทางสายไหมในยุคโบราณที่จะเชื่อมจีนกับเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ผ่านการลงทุนมโหฬารด้านเส้นทางถนน ทางรถไฟ และทางทะเล จีนทุ่มเม็ดเงินให้ประเทศยากจนนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบเงินกู้ไปแล้วกว่า 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.89 ล้านล้านบาท โดยที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน (EXIM) ซึ่งเป็นเจ้าของเงินกู้ 25% ระบุว่าขณะนี้มีเงินค้างชำระอยู่ถึง 149,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.76 ล้านล้านบาท

กับดักหนี้เส้นทางสายไหม จีนล่อลวงจริง หรือแค่ข้อกล่าวหา? สนามบินนานาชาติมัตตาลา ราชปักษา Photo by Anuradha Dullewe Wijeyeratne

หมายความว่าแม้เงินกู้ของจีนจะคิดดอกเบี้ยถูกกว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น แต่ก็เกินความสามารถของประเทศลูกหนี้ที่จะชำระหนี้ก้อนโต ผลที่ตามมาคือ ต้องจำยอมให้จีนเข้าครอบครองพื้นที่หรือสาธารณูปโภคภายในประเทศเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ศรีลังกา ที่รับเงินกู้จากจีนมาสร้างท่าเรือและสนามบินกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 31,975  ล้านบาท แต่ไม่สามารถทำกำไรมาชำระคืนเงินกู้ได้ เพราะสนามบินมัตตาลามีเที่ยวบินลงเพียงวันละ 1 เที่ยว จนได้ฉายาว่าเป็นสนามบินที่“เงียบเหงาที่สุดในโลก” จึงต้องยอมให้บริษัทซึ่งเป็นของรัฐบาลจีนเช่าท่าเรือฮัมบันโตตาซึ่งเป็นท่าเรือยุทธศาสตร์ถึง 99 ปี สุดท้ายจีนก็ได้เข้ายึดหัวหาดด่านหน้าของมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจะเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญในโครงการ Belt and Road

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าจิบูตี ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพหลักของสหรัฐในแอฟริกา ก็กำลังจะเสียท่าเรือสำคัญให้กับจีนเช่นกัน

สถานการณ์เดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับหลายประเทศ รายงานของศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาโลกระบุว่าปัจจุบันมี 68 ประเทศที่รับเงินสนับสนุนจากโครงการ Belt and Road ของจีน โดยมี 8 ประเทศที่มีความเสี่ยงไม่สามารถชำระหนี้ได้ ได้แก่ จิบูตี คีร์กีซสถาน มัลดีฟส์ มองโกเลีย มอนเตเนโกร ปากีสถาน ทาจิกิสถาน และลาว โดยในกรณีของลาวนั้น มูลค่าทางรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมไปยังคุนหมิงของจีนนั้นสูงถึง 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 214,266 ล้านบาท คิดเป็นครึ่งหนึ่งของจีดีพีของประเทศเลยทีเดียว แล้วลาวจะนำเงินจากไหนมาใช้หนี้ให้จีน

ด้วยเหตุนี้ ทำให้มีบางประเทศอย่างไทย เนปาล ถอนตัวหรือชะลอโครงการ มาเลเซียก็เพิ่งเจรจาต่อรองจนจีนยอมลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทางรถไฟถึง 1 ใน 3 ส่วนเอธิโอเปียกำลังเจรจาการชำระหนี้คืน ขณะที่ปากีสถานที่จีนเข้าไปลงทุน 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.98 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของจีดีพีประเทศ กำลังเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อกู้ยืมเงินมาชำระหนี้จีน

กับดักหนี้เส้นทางสายไหม จีนล่อลวงจริง หรือแค่ข้อกล่าวหา? นายกรัฐมนตรี จูเซปเป คอนเต จับมือกับประธานาธิบดี สีจิ้นผิงของจีน หลังลงนามข้อตกลงทางการค้าในโครงการ Belt and Road ที่กรุงโรมของอิตาลี เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2019 ภาพ : REUTERS/Yara Nardi

แม้จะมีตัวอย่างประเทศที่เป็นหนี้จีนให้เห็นมากมาย แต่อิตาลี ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี จูเซปเป คอนเต ก็ยินดีกระโดดลงไปในกับดักของจีนโดยไม่สนใจคำเตือนของสหรัฐและ IMF  เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา อิตาลีได้ลงนามความตกลงร่วมโครงการ Belt and Road กับจีนมูลค่ามหาศาลไม่แพ้ชาติอื่น  ทำให้อิตาลีเป็นประเทศแรกจากกลุ่มจี 7 และประเทศสมาชิกร่วมก่อตั้งสหภาพยุโรปประเทศแรกที่เซ็นสัญญาร่วมโครงการนี้

โดยหนึ่งในนั้นคือดีลการบริหารจัดการท่าเรือทรีเอสเตทางตอนเหนือของทะเลเอเดรียติก และท่าเรือเจนัวซึ่งเป็นเมืองท่าทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดของอิตาลี สำหรับท่าเรือทรีเอสเตนั้น ถือเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญอีกหนึ่งตัวของจีน เพราะเป็นเส้นทางเชื่อมจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปสู่ประเทศที่ไม่ติดทะเลอย่างฮังการี เชก สโลวาเกีย เซอร์เบีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของโครงการ Belt and Road

เจย์ บาตองบาคาล ศาสตราจารย์ด้านกิจการและกฎหมายทะเลระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ มองว่า เงินทุนจากจีนช่วยให้หลายประเทศพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และแม้ว่าความช่วยเหลือของจีนจะมาในรูปแบบการเป็นพันธมิตรที่ดี ไม่ได้เป็นการบังคับขู่เข็ญเหมือนยุคล่าอาณานิคม แต่ผู้นำประเทศทั้งหลายก็ต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียให้รอบคอบ เพราะไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ

Thailand Web Stat