ไทยแชมป์จุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักศึกษาต่างชาติ
นักศึกษาต่างชาติเลือกเรียนต่อในไทยเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย และอันดับ 3 ในโลก
นักศึกษาต่างชาติเลือกเรียนต่อในไทยเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย และอันดับ 3 ในโลก
เว็บไซต์ให้บริการข้อมูลด้านการศึกษา educations.com เผยผลการจัดอันดับจุดหมายปลายทางยอดนิยมในการเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศประจำปี 2019 จากการสอบถามความคิดเห็นนักเรียน 20,000 คนทั่วโลก โดยไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตอันดับ 1 ในแถบเอเชีย และเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากนิวซีแลนด์และสเปน
จากการจัดอันดับในกลุ่มประเทศเอเชียด้วยกัน ไทยทำคะแนนสูงในด้านวัฒนธรรม (อันดับ 2) ทั้งในเรื่องการเป็นแหล่งเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆ ประเพณี และประวัติศาสตร์ และในด้านประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น (อันดับ 1) ในแง่ของสิ่งแวดล้อมรอบตัวและประสบการณ์ใหม่ รวมทั้งมีค่าครองชีพที่ไม่สูงเกินไปสำหรับนักศึกษา โดยเว็บไซต์ดังกล่าวระบุว่าปัจจุบันมีนักศึกษาจากต่างชาติอยู่ในไทยราว 20,000 คน
ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 2 ของเอเชีย โดยมีคะแนนคุณภาพการเรียนการสอนสูงเป็นอันดับ 1 และมีมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับท็อป 100 มหาวิทยาลัยทั่วโลกถึง 3 แห่ง ได้แก่ The University of Tokyo, Kyoto University และ Nagoya University แม้ค่าครองชีพของญี่ปุ่นจะค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียด้วยกัน แต่รัฐบาลมักจะให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนต่างชาติ ประกอบกับความปลอดภัย ความสงบ และธรรมชาติที่สวยงาม ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นักศึกษาต่างชาติราว 140,000 คนเลือกเดินทางไปศึกษาต่อ
หากวัดกันในระดับโลกไทยอยู่ในอันดับ 3 รองจากนิวซีแลนด์ จุดหมายปายทางของใครหลายๆ คนที่เต็มไปด้วยธรรมชาติที่งดงามตระการตา รวมทั้งฉากสวยๆ ที่ปรากฏในภาพยนตร์ไตรภาคเรื่อง The Lord of The Rings รวมถึงมีกีฬาสำหรับคนชอบความท้าทายทั้งสกี พายเรือ และการกระโดดร่มเหินเวหา อีกทั้งมหาวิทยาลัยทั้ง 8 แห่งของนิวซีแลนด์ก็อยู่ในอันดับท็อป 3% ของมหาวิทยาลัยโลก ครบเครื่องทั้งเรื่องวิชาการและกิจกรรมเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่นิวซีแลนด์เป็นจุดหมายปลายทางอันดับแรกของนักศึกษาทั่วโลก
อันดับโลกอื่นๆ ได้แก่ สเปน (2), แคนาดา (4), เม็กซิโก (5), คอสตาริกา (6), เนเธอร์แลนด์ (7), สวิตเซอร์แลนด์ (8), ฝรั่งเศส (9) และออสเตรเลีย (10)
ทั้งนี้ ผลการจัดอันดับวัดจากปัจจัยหลัก 7 ข้อ ได้แก่ วัฒนธรรม (30%), อาชีพ (22%), ประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น (20%), การสร้างเครือข่าย (15%), คุณภาพการเรียนการสอน (13%), ค่าเล่าเรียน (3%) และวีซ่า (1%)