posttoday

พลีบาร์เกน (Plea bargain) ที่ธรรมนัสอ้างถึงคืออะไร

11 กันยายน 2562

สาเหตุที่ทำให้ฝ่ายกฎหมายใช้วิธี Plea bargain ก็เพราะบางครั้งหลักฐานไม่แน่นหนาพอที่จะเอาผิด

 

ระหว่างตอบกระทู้ในรัฐสภากรณีการรายงานข่าวของสื่อออสเตรเลีย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เอ่ยถึงคำว่า "พลีบาร์เกน" ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมอย่างหนึ่งของออสเตรเลีย โดยกล่าวว่า "ศาลประเทศออสเตรเลียให้ตนอยู่ในกระบวนการการต่อรองการรับสารภาพ (Plea Bargaining) เพื่อให้กระบวนการไต่สวนแล้วเสร็จแค่นั้น แต่เมื่อยุติ ตนยังอยู่ต่อเพราะอยากใช้ชีวิตกับครอบครัว"

พลีบาร์เกน (Plea bargain) คืออะไร? ในเว็บไซต์ของสำนักงานอัยการรัฐเซาท์ออสเตรเลีย เรียกคำนี้ว่า plea negotiation และอธิบายไว้ดังนี้

คำว่า "plea negotiation" (การเจรจาต่อรองรับสารภาพ) หมายถึงกระบวนการที่โจทก์และจำเลย (ผ่านตัวแทนทางกฎหมายที่ได้รับการแต่งตั้ง) ทำข้อตกลง หรือมีทางออกที่น่าพอใจร่วมกันเกี่ยวกับคดีความทางอาญา โดยการเจรจาต่อรองในคดีอาญาในทำนองนี้จะไม่ทำกันโดยปิดลับ และไม่ได้หมายความโทษที่ผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับจะลดน้อยลงไป

สาเหตุที่ทำให้ฝ่ายกฎหมายใช้วิธี Plea bargain ก็เพราะบางครั้งหลักฐานไม่แน่นหนาพอที่จะเอาผิด รวมถึงมีปัจจัยด้านพยานแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยที่จะดำเนินคดีด้วยความมั่นใจทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้น ผู้ดำเนินคดีมีทางเลือก 2 ทางคือ 1.ดำเนินคดีด้วยข้อหาเดิม หรือ 2. ดำเนินคดีด้วยข้อหาใหม่ ซึ่งในบางกรณีมีโทษเบากว่าคดีเดิม

ฝ่ายผู้ต้องหาจะต่อรองกับอัยการว่าจะรับสารภาพในข้อหาใหม่โดยโทษอาจจะเบาลงกว่าข้อหาเดิม หรือถ้ามั่นใจว่าจะชนะแน่เพราะหลักฐานอ่อน ก็อาจเสี่ยงดวงด้วยการลุยกับข้อหาเดิมต่อไป

ทั้งนี้ ตามหลักการกฎหมายของออสเตรเลีย ผู้ถูกกล่าวหาไม่ควรสารภาพผิดเกินกว่าที่ถูกกล่าวหาหรือเกินไปกว่าหลักฐานที่ได้รับการเปิดเผย ดังนั้น จึงต้องมีความระมัดระวังการเลือกข้อหาที่จะดำเนินคดีหลังการต่อรองกันแล้ว เพื่อให้สมกับความผิดที่กระทำไป โดยจะมีความเป็นไปได้ดังนี้

1. ตกลงรับผิดตามข้อกล่าวหา (อิงกับหลักฐานพยานที่ข้อตกลงกัน)

2. ตกลงรับผิดตามข้อกล่าวหา (อิงกับหลักฐานพยานที่ขัดแย้งกัน)

3. ตกลงรับผิดตามข้อกล่าวหา ในข้อหาที่น้อยลงกว่าที่ตำรวจได้ตั้งไว้

4. ตกลงรับผิดตามข้อกล่าวหาที่อ่อนลงหรือตามข้อหาเดิม แต่ยังคงโทษที่สมเหตุสมผลไว้

5. ถอนข้อหาทั้งหมด ยุติการดำเนินคดี

6. พิจารณาข้อหาบางข้อโดยไม่ดำเนินคดี

7. ปฏิเสธการต่อรอง และดำเนินคดีตามปกติ

ทั้งนี้ "หลักฐานพยานที่ขัดแย้งกัน" หมายความว่า ผู้ถูกกล่าวยอมสารภาพความผิดที่เกี่ยวข้อง แต่ยังคงโต้แย้งหลักฐานหรือสถานการณ์แวดล้อมที่ยกขึ้นมาเป็นหลักฐานฟ้องเขา แต่ด้วยกระบวนการเจรจา ทำให้อัยการและผู้ถูกกล่าวหาตกลงกันได้ว่าจะฟ้องในข้อหาอื่น

หากมีการทำข้อตกลงระหว่างอัยการและฝ่ายจำเลย ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะทำการหามติร่วมกันต่อหน้าผู้พิพากษา เพื่อยอมรับว่าได้กระทำผิด (Pleas of Guilty) หากไม่มีข้อตกลงระหว่างอัยการและฝ่ายจำเลย ข้อเสนอจะถูกปัดตกไป และจะดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป

ในระบบกฎหมายแบบ Civil law เช่นในประเทศไทย การต่อรองแบบ Plea bargain เป็นเรื่องยากมาก ต่างจากระบบกฎหมายแบบ Common law (เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย และสหรัฐ) ในระบบกฎหมาย Civil law แบบไทยนั้น ถ้าจำเลยสารภาพ คำสารภาพจะถูกใช้เป็นหลักฐาน ส่วนอัยการก็มีข้อจำกัดโดยไม่มีอำนาจที่จะถอนข้อหาหรือลดข้อหาหลังจากที่มีการยื่นฟ้องคดี ทำให้การทำ Plea bargain เป็นไปไม่ได้ 

อ้างอิงจาก Understanding Plea Negotiations / Office Of The Director Of Public Prosecutions