"เพราะฉับไวและประชาชนเชื่อใจรัฐบาล" ไต้หวันกับเบื้องหลังการรับมือโควิด
รัฐบาลที่ดำเนินนโยบายฉับไวก่อนการระบาดมาถึงและมีคำอธิบายให้ประชาชนรู้สึกเชื่อมั่นที่จะปฏิบัติตาม
ไต้หวันเป็นประเทศที่ควบคุมการระบาดได้อยู่หมัดที่สุดประเทศหนึ่ง ทั้งๆ ที่ใกล้ชิดกับจีนอย่างมากในแง่การเคลื่อนของผู้คนและการคมนาคม กอ่นที่จะเกิดการระบาด มีเที่ยวบินจากอู่ฮั่นมายังไทเปถึงวันละ 8 เที่ยว ซึ่งน่าจะทำให้ไต้หวันเต็มไปด้วยผู้ติดเชื้อจำนวนมหาศาลรองจากจีน (และมีผู้คาดการณ์ว่าไต้หวันจะต้องแย่แน่ๆ) แต่อะไรที่ทำให้ไต้หวันควบคุมโควิด-19 ไม่ให้ลุกลามใหญ่โตได้?
โพสต์ทูเดย์ได้มีโอกาสได้สัมภาษณ์กับ ดร. สตีฟ กัว (Steve Kuo) อดีตผู้อำนวยงานสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคของไต้หวัน (CDC) และที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของไต้หวัน ซึ่งผ่านประสบการณ์การระบาดของโรคซาร์สมาแล้วและเป็นผู้แบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จของไต้หวันในการควบคุมโควิด-19 ให้กับสื่อต่างประเทศ
ดร. กัวบอกเมื่อโรคระบาดเริ่มต้นขึ้นที่อู่ฮั่น ทาง CDC ของไต้หวันได้ส่งทีมแพทย์ 2 คนไปสืบหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น ในเวลานั้นเป็นวันที่ 15 มกราคม 2563 มีรายงานออกมาบ้างแล้วเกี่ยวกับการระบาด และและไม่กี่วันต่อมาไต้หวันก็มีประกาศเกี่ยวกับโรคระบาดออกมา ซึ่งถือว่าเป็นการตอบสนองสถานการณ์ที่รวดเร็วมาก ไต้หวันจึงเป็นประเทศแรกๆ ที่ตอบสนองกับการระบาดทั้งๆ ที่ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ
ดร. กัว เล่าว่าเพียงแค่ 5 วันหลังจากที่เจ้าหน้าที่แพทย์กลับมาจากอู่ฮั่น ไต้หวันเริ่มจัดตั้งหน่วยบัญชาการกลาง
"วันนั้นจึงเป็นวันดีเดย์ของเราในปฏิบัติการต่อสู้กับโรค"
เป็นการจัดตั้งศูนย์บัญชาการก่อนที่รัฐบาลจีนจะตั้งศูนย์บัญชาการบ้างอีก 5 วันต่อมา นี่คือคีย์เวิร์ดสำคัญในการรับมือกับการระบาดใดๆ ก็ตาม นั่นคือ "ต้องไวเอาไว้ก่อน"
คำถามก็คือไต้หวันได้ยินข่าวลือเรื่องการระบาดจากจีนหรือเปล่าและทางการจีนปิกปิดข้อมูลในตอนแรกหรือไม่?
ตามปกติแล้วมันมีเครือข่ายข้อมูลข่าวสาร หากมีข่าวลือเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็จะต้องทำให้ข่าวลือนั้นกระจ่างเพื่อที่จะตอบสนองสถานการรณ์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่นเรื่องน่าผิดสังเกตเกี่ยวกับการติดเชื้อในโรงพยาบาลหนึ่งและดูเหมือนจะติดเชื้อเพิ่มขึ้น และคนที่นั่นรู้สึกหวาดกลัวไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น
ถ้าเช่นนั้น เป็นเพราะมันคือโรคอุบัติใหม่ที่จะต้องใช้เวลาในการสอบสวนและสรุปข้อมูลใช่หรือไม่? ดร. กัว ตอบว่า
"ผมจะไม่บอกหรือนิยาม (ว่าเป็นการปกปิดข่าว) โดยรัฐบาลจีน เพราะตอนนั้นสถานการณ์ยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน ตอนนั้นเป็นช่วงปลายเดือนธันวาคม" ดร. กัว บอก อย่างไรก็ตามเขาตั้งข้อสังเกตว่า
"แต่แน่ล่ะไม่ใช่รัฐบาลกลางทำแน่ๆ เพราะบางครั้งรัฐบาลท้องถิ่น โรงพยาบาลท้องถิ่นอาจจะไม่อยากรายงานข่าวร้ายในทันทีเพราะคิดว่าคงรับมือได้"
ดร. กัวบอกว่าอาจเป็นเรื่องที่ผิดที่จะสรุปว่ารัฐบาลกลางของจีนต้องการปกปิดเรื่องนี้ แต่รัฐบาลท้องถิ่นอาจจะไม่แน่ เพราะพวกเขาไม่รู้ว่ามันคืออะไรพวกเขาจึงไม่รายงานให้รัฐบาลกลางรับทราบในทันที ไม่ว่าพวกเขาจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจปกปิดการระบาดหรือไม่ก็ตามก็ตาม
คำตอบของ ดร. กัว ค่อนข้างสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวในจีนที่มีการกล่าวกันว่ารัฐบาลกลางอาจถูกรัฐบาลท้องถิ่นปิดบังข้อมูล แต่ขณะเดียวกันก็มีบางกระแสชี้ว่ารัฐบาลจีนต้องหาแพะรับบาปเรื่องที่เกิดขึ้นและรัฐบาลท้องถิ่นอู่ฮั่นและมณฑลหูเป่ยต้อง "รับผิดชอบ" กับสิ่งที่เกิดขึ้น
มาที่ไต้หวัน เราสามารถบอกได้หรือไม่ว่าไต้หวันประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดเพราะลงมือป้องกันอย่างรวดเร็วกกว่าประเทศอื่น?
"ต้องระวังเอาไว้ว่า เราก็สำเร็จในระดับหนึ่งในการเผชิญหน้ากับโรคระบาด แต่นี่เป็นแค่การเริ่มต้น เราถึงไม่อยากจะฉลองความสำเร็จเร็วเกินไป จะว่าไปแล้วมันเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้จากการระบาดครั้งก่อน" ดร. กัว กล่าว
การระบาดของโรคซาร์ส ไต้หวันมีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากจีนและฮ่องกง จากประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ไต้หวันตั้งการ์ดระมัดระวังความเป็นไปได้ที่จะมีการรระบาดใหญ่ในอนาคต
"แน่นอนมันเป็นแบบนั้น ที่จริงแล้วไม่ใช่แค่ไต้หวัน ยังมีฮ่องกงกับสิงคโปร์ด้วยที่มีประสบการณ์เดียวกัน" ดร. กัวบอก "โดยเฉพาะโคโรนาไวรัส ในตอนแรกที่ผู้คนได้ยินชื่อโคโรโนาไวรัสพวกเขาคิดว่ามันอาจจะเป็นโคซาร์ส ทุกคนจึงระวังตัว"
ในเมื่อสิงคโปร์มีประสบการณ์แบบเดียวกันแต่ดูเหมือนว่าตอนนี้สิงคโปร์จะเริ่มควบคุมการระบาดไว้ไม่ได้ทั้งๆ ที่สิงคโปร์สั่งห้ามเที่ยวบินจากจีนเข้าประเทศก่อนไต้หวันถึง 5 วัน
ดร. กัวอธิบายว่าที่ไต้หวันมีมาตรการที่เข้มงวด มีการระบุผู้ติดเชื้อและผู้ที่อาจจะติดเชื้อให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างไปในการนี้และความพยายามทำเรื่องนี้มากกว่าที่รัฐบาลสิงคโปร์ทำ ดังนั้นเมื่อดูที่ตัวเลขผู้ที่ถูกไต้หวันสั่งกักตัวอาจจะมากกว่าสิงคโปร์ แต่ผู้ติดเชื้อในสิงคโปร์มีมากกว่า กระนั้น ดร. กัว ไม่ด่วนสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์เพราะต้องใช้เวลาเจาะลึกกันต่อไปว่าอะไรกันแน่ที่ทำให้สิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อมากขึ้นทั้งๆ ที่มีประสบการณ์จากซาร์สมาแล้วและมีมาตรการที่เข้มงวด
อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ ประชาชนไต้หวันคุ้นเคยกับการสวมหน้ากากอนามัย ตั้งแต่วันแรกที่ประชาชนรู้ข่าวการระบาดประชาชนจะเริ่มสวมหน้ากากป้องกันทำให้เกิดการขาดแคลนหน้ากากอย่างรุนแรง แต่ในเวลาต่อมาเราทราบว่าโรคใหม่นี้ติดเชื้อกันง่ายกว่าซาร์ส ดังนั้นการป้องกันระบบทางเดินหายใจจึงเป็นด่านป้องกันการติดโรคได้ดี
แต่จริงๆ แล้วประชาชนทั่วไปควรใช้หน้ากากหรือไม่เป็นประเด็นถกเถียงกันทั่วโลก แม้แต่ในไต้หวันเอง ดร. กัว เล่าว่า ในช่วงแรกของการระบาดประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ก่อนรัฐบาลบอกกับประชาชนทั่วไปว่าถ้าไม่ได้ไปในที่พลุกพล่านก็อย่าสวมหน้ากาก ให้สงวนไว้สำหรับคนป่วย คนชรา และผู้ที่เดินทางไปโรงพยาบาล
"แต่สามสัปดาห์ก่อน เราเพิ่งจะทราบจากงานวิจัยมาสนับสนุนเรื่องการกระจายของโรคผ่านละอองในอากาศ และต่อมาเรายังทราบว่ามีอาการหลายอย่างของผู้ป่วยที่สามารถกระจายเชื้อได้ เราถึงเปลี่ยนนโยบายให้ประชาชนมาใส่เครื่องป้องกัน รัฐบาลจึงบอกให้ประชานว่าจำเป็นต้องสวมหน้ากากเวลาขึ้นรถโดสารหรือรถใต้ดิน การขนส่งสาธารณทุกอย่าง"
ดร. กัวชี้การที่รัฐบาลไม่สนับสนุนให้ประชาชนสวมหน้ากากในช่วงแรกเพราะปัญหาความขาดแคลนซึ่งกระทบต่อบุคคลากรทางการแพทย์ แต่จำต้องเปลี่ยนนโยบายโดยอิงกับหลักฐานที่ได้รับมา
แล้วประชาชนไม่รู้สึกสับสนกับนโยบายที่กลับไปกลับมาของรัฐบาลหรือ? เพราะดูเหมือนว่ารัฐบาลทั่วโลก (รวมถึงไทย) จะถูกวิจารณ์ว่ามีคำสั่งย้อนแย้ง
"เรามีความเชื่อมั่นในรัฐบาล โดยเฉพาะในเวลาวิกฤตแบบนี้ เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายโดยมีคำอธิบายที่ดีมากๆ ว่าทำไมเราต้องทำแบบนี้ ประชาชนส่วนใหญ่จึงปฏิบัติตามด้วยดี"
นั่นแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไต้หวันปรับนโยบายไปตามข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ พวกเขาจึงมีเหตุผลอธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจ และประชาชนเข้ากับการเปลี่ยนจุดยืน ดังนั้นรัฐบาลที่อิงกับองค์ความรู้และมีความโปร่งใส่กับประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
กระนั้น ในการจัดอันดับความเข้มงวดของรัฐบาลโดยสถาบันบางแห่ง เช่น COVID-19 Government Response Tracker ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ให้ไต้หวันอยู่ในอันดับท้ายตาราง ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้
ในเรื่องนี้ ดร. กัวบอกว่า การจัดอันดับความเข้มงวดบางแห่งไปวัดที่จำนวนเที่ยวบินจากจีนหรือจากอู่ฮั่นมาไต้หวันซึ่งมีจำนวนหลายเที่ยวต่อสัปดาห์ แต่สิ่งที่ไต้หวันทำก็คือทำการสกรีนผู้ที่เดินทางเข้าประเทศเป็นแห่งแรก โดยตรวจกันตั้งแต่บนเครื่อง ดังทั้นทุกเที่ยวบินจากอู่ฮั่นจึงไม่รอดจากตาข่ายตรวจจับของไต้หวัน จากนั้นมีกระบวนการติดตามตัวอย่างใกล้ชิด มีสายด่วนให้รีบแจ้งเมื่อมีอาการ
"ผมคิดว่านี่คือสาเหตุที่เราลดความเสี่ยงลงได้ ทั้งๆ ที่เรามีความเสี่ยงมากแต่ก็ทำให้ต่ำลงได้ และยังสามารถฉวยโอกาสทองในการควบคุมการระบาดเอาไว้อย่างทันท่วงที"
การไม่พลาดโอกาสทองเป็นอีกหนึ่งคีย์เวิร์ดของความสำเร็จ ประเทศตะวันตกพลาดที่จะฉวยโอกาสนี้และทำให้หลายประเทศกลายเป็นศูนย์กลางการะบาดแทนที่จีนไปอย่างไม่น่าเชื่อ
"ผมคิดว่าพวกเขา (ประเทศตะวันตก) ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องซาร์สมาตั้งแต่แรก อย่างในสหรัฐ เกาหลีและญี่ปุ่นไม่มีการติดเชื้อซาร์สเลย พวกเขาจึงไม่มีแนวทางในการรับมือ" ดร. กัวกล่าว "พวกเขาช้าเกินไป พลาดโอกาสทองในการควบคุมการระบาดทั้งๆ ที่มีเวลา 3 หรือ 4 สัปดาห์ล่วงหน้า"
ด้วยข้อจำกัดทางการเมือง ทำให้ไต้หวันไม่สามารถเป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้และยังเกิดวิวาทะในระหว่างการระบาดใหญ่เรื่องที่ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกอ้างว่ามีการเหยียดผิวต่อตัวเขามาจากบางกลุ่มในไต้หวัน ซึ่งเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันได้ตอบโต้และประณามข้อกล่าวหานี้อย่างรุนแรงว่าไม่เป็นความจริง
ความไม่ลงรอยกันระหว่างไต้หวันกับ WHO น่าจะบั่นทอนความพยายามในการป้องกันการระบาด (และก่อนหน้านี้ไต้หวันก็พยายามจะเป็นสมาชิกหรือร่วมสังเกตการณ์ใน WHO มาตลอด) แต่ในทัศนะของ ดร. กัว มันกลับเป็นตรงกันข้าม
ดร. กัว บอกว่าเมื่อตอนที่ทุกคนรู้ว่ามันเป็นการระบาดทั่ว (Pandemic) แล้ว องค์การอนามัยโลกเพิ่งเริ่มที่จะขยับแล้วเพิ่งจะมาบอกว่ามันคือการระบาดทั่ว ทั้งๆ ที่ องค์การนามัยโลกควรเป็นคนแรกที่ประกาศต่อสาธารณชนว่าการระบาดทั่วกำลังจะเกิดขึ้น แต่ที่พวกเขาไม่ทำคงเพราะไม่ต้องการให้กระทบกระเทือนกับจีน ทำให้องค์การอนามัยโลกขยับรับมือค่อนข้างช้าและยังประกาศสถานะการระบาดช้า
"ด้วยเหตุที่เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ WHO เราจึงระมัดระวังอย่างขันแข็งยิ่งขึ้น ทำงานอย่างหนักขึ้นเพื่อปกป้องประชาชนของเรา ผมค่อนข้างแน่ใจว่า มันไม่มีอะไรแตกต่างมากนักสำหรับไต้หวันในการปกป้องระบบสาธารณสุขของเราไม่ว่าจะเป็นสมาชิกหรือไม่เป็นก็ตาม" ดร. กัว กล่าว
"ในทัศนะของผม มันจะเป็นเรื่องที่ดีมากหากเราได้เป็นสมาชิกของ WHO แต่จะเป็นสมาชิกหรือผู้สังเกตการณ์หรือไม่นั้นเราก็ยังทำหน้าที่ของเรา เรายังคงช่วยเหลือประชาชนของเราต่อไป"
สัมภาษณ์และรายงานโดย - กรกิจ ดิษฐาน