posttoday

Haru หุ่นยนต์ AI ตัวช่วยใหม่ช่วยเหลือผู้ป่วยเด็ก

26 ธันวาคม 2567

การดูแลผู้ป่วยเด็กถือเป็นเรื่องน่าหนักใจ นอกจากสุขภาพกายยังต้องได้รับการดูแลทางจิตใจเป็นพิเศษ แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปจากหุ่นยนต์ Haru ที่จะช่วยประเมินและดูแลสภาพจิตใจเด็กๆ

การเจ็บป่วยเรื้อรัง นับเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดกับตัวเองหรือคนรอบตัว โดยเฉพาะการต้องพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน เรื่องยิ่งซับซ้อนเมื่อกลุ่มที่เกิดการเจ็บป่วยเป็นเด็กเล็ก จนอาจสร้างผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ การใช้ชีวิต ไปจนอนาคตของพวกเขา

 

นี่เป็นเหตุผลในการพัฒนา Haru หุ่นยนต์ AI ที่จะช่วยดูแลสภาพจิตใจของผู้ป่วยเด็ก

 

Haru หุ่นยนต์ AI ตัวช่วยใหม่ช่วยเหลือผู้ป่วยเด็ก

 

Haru หุ่นยนต์เยียวยาจิตใจผู้ป่วยเด็ก

 

ผลงานนี้เป็นของบริษัทยานยนต์ Honda Research Institute Japan Co., Ltd. กับการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI อย่าง Haru หุ่นยนต์ที่ได้รับการออกแบบให้อยู่เป็นเพื่อนคอยพูดคุยกับเด็กที่อยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน คอยช่วยประคับประคองสภาพจิตใจและสนับสนุนทางอารมณ์ที่เปราะบางของผู้ป่วย

 

Haru ได้รับการออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัดในระดับความสูงราว 30 เซนติเมตร เหมาะต่อการนำไปตั้งวางบนโต๊ะเพื่อใช้ในการสนทนา ตัวหุ่นได้รับการออกแบบให้แสดงสีหน้าและสายตาพร้อมรองรับการพูดคุย โดยมีจุดหมายในการช่วยนักจิตวิทยาในการประเมินสภาพอารมณ์และจิตใจของผู้ป่วย ช่วยให้ผ่อนคลายและสร้างรอยยิ้มผ่านการสนทนา

 

กลไกการทำงานของ Haru จะอาศัยกล้องและไมโครโฟนจากตัวหุ่นเพื่อตรวจสอบสีหน้า ท่าทาง ไปจนน้ำเสียงของคู่สนทนา ข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาวิเคราะห์สภาพอารมณ์ของผู้ใช้งาน พร้อมรองรับการเชื่อมต่อเข้ากับเซ็นเซอร์ของอุปกรณ์อัจฉริยะ เช่น สมาร์ทวอช เพื่อให้สามารถประเมินสถานะของผู้ป่วยแม่นยำยิ่งขึ้น

 

จากการทดสอบการใช้งานใน Virgen del Rocío University Hospital กับกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่เป็นมะเร็งพบว่า Haru ช่วยให้เด็กมีทัศนคติตอบสนองเชิงบวก ผู้ป่วยเด็กที่สนทนากับหุ่นยนต์มีสภาพจิตใจดีขึ้นกว่ากลุ่มที่ได้รับคำแนะนำจากมนุษย์ถึง 95% ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวทางร่างกายและสติปัญญาต่อไป

 

Haru จึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยเด็กที่ต้องรักษาตัวเป็นเวลานาน

 

Haru หุ่นยนต์ AI ตัวช่วยใหม่ช่วยเหลือผู้ป่วยเด็ก

 

หุ่นยนต์ไม่ได้แทนที่แต่เติมเต็มส่วนที่ขาดไป

 

เมื่อพูดถึงหุ่นยนต์มุมมองที่หลายท่านมีอาจเป็นไปในทางลบ จากความวิตกว่าหุ่นยนต์อาจเข้ามาแทนตำแหน่งงาน อีกทั้งยังนำไปสู่การตั้งคำถามว่า เหตุใดเราจึงต้องให้หุ่นยนต์มาคอยดูแลสนับสนุนสภาพจิตใจของผู้ป่วยเด็กที่เจ็บป่วย ในเมื่อนั่นสมควรเป็นหน้าที่ของจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาในการเข้าช่วยเหลือ

 

ในความจริงจิตแพทย์และนักจิตวิทยานับเป็นสาขาอาชีพที่ประสบปัญหาขาดแคลนไปทั่วโลก ไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ การดูแลรักษาก็ต้องอาศัยสาขาเฉพาะทางทำให้มีผู้เชี่ยวชาญน้อยสวนทางจำนวนผู้ป่วยเด็ก อีกทั้งการประเมินและดูแลรักษาแต่ละเคสยังใช้เวลานาน จิตแพทย์และนักจิตวิทยาจึงไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง

 

การเข้ามาของหุ่นยนต์จึงช่วยเหลือผู้ป่วยในหลายด้าน ทั้งการเข้าตรวจสอบสภาพจิตใจของผู้ป่วยเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ เข้าสนับสนุนและสร้างความเห็นอกเห็นใจ อีกทั้งยังช่วยเป็นคู่สนทนาคลายความเหงาให้แก่เด็กที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน

 

ตัวหุ่นยังรองรับสนับสนุนภาคการศึกษาให้แก่เด็กที่ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล จากฟังก์ชันที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนออนไลน์ ช่วยให้ผู้ป่วยเด็กมีโอกาสได้รับการศึกษาไปพร้อมกับเด็กคนอื่นในห้อง รวมถึงตอบโต้บทสนทนาได้แบบเรียลไทม์

 

จากการทดสอบใช้งานเห็นได้ชัดว่า Haru ช่วยให้ผู้ป่วยเด็กเปิดใจและมีสภาพจิตใจดีขึ้น สาเหตุอาจมาจากการที่ตัวหุ่นไม่ได้รับการระบุลักษณะใดของมนุษย์ ทั้งเพศ เชื้อชาติ และสัญชาติ จึงสามารถสื่อสารผ่านมุมมองที่เป็นกลาง โดยไม่มีความแตกต่างทางอายุ นิสัย หรือวัฒนธรรม ทำให้เด็กสะดวกใจในการพูดคุยปรึกษามากกว่าผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้ใหญ่

 

ไม่เพียงเกิดประโยชน์เพียงกับผู้ป่วยเด็กเท่านั้น สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองหุ่นยนต์ยังช่วยคลายความเหงา ทำหน้าที่คล้ายผู้ดูแลให้ผู้ดูแลได้พักผ่อนและมีเวลาเป็นส่วนตัวมากขึ้น เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ได้รับการแบ่งเบาภาระในการดูแลผู้ป่วยเด็ก จนอาจส่งผลดีต่อการรักษาและฟื้นตัวเช่นกัน

 

 

 

 

จริงอยู่ Haru อาจไม่ได้ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยแก่เด็กโดยตรง แต่หุ่นยนต์ก็สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ผู้ป่วยเด็กจะสามารถเพลิดเพลินและมีความสุขในระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งตัวผู้ป่วย คนรอบข้าง หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ต่อไป

 

ปัจจุบันหุ่นยนต์ก็มีการทดสอบใช้งานตั้งแต่ปี 2021 เราคงต้องรอดูต่อไปว่า เมื่อวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ Haru จะเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กทั่วโลกได้แค่ไหน

 

 

 

ที่มา

 

https://global.honda/en/topics/2024/ct_2024-11-29eng.html

 

https://www.youtube.com/watch?v=fAkK5wNlUqw&ab_channel=HondaAutoItalia