สหรัฐไปจีนกำลังจะมา จับตาฐานทัพกัมพูชาจ่ออ่าวไทย
เบื้องลึกเบื้องหลังของการรื้อถอนอาคารด้านการทหารของสหรัฐในฐานทัพเรือกัมพูชาและกระแสข่าวเกี่ยวกับการเข้ามาใช้ฐานทัพเรือของจีน
หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานเมื่อปีที่แล้วเกี่ยวกับร่างข้อตกลงลับที่อนุญาตให้จีนเทียบท่าเรือรบที่ฐานทัพเรือเรียม ใกล้เมืองสีหนุวิลล์ริมชายฝั่งอ่าวไทย
แต่ฮุน เซนยืนยันซ้ำแล้วซ้ำอีกว่ารัฐธรรมนูญของกัมพูชาห้ามต่างชาติใดๆ มาตั้งฐานทัพภายในดินแดนของกัมพูชา
ฮุน เซน ปฏิเสธอีกครั้งในเดือนมิถุนายนปีนี้ว่าจีนไม่ได้รับอภิสิทธิ์ให้มาตั้งฐานทัพเรือ และไม่มีเหตุผลอะไรที่จีนจะต้องมาใช้ที่ของกัมพูชาเพราะจีนก็มีฐานทัพในทะเลจีนใต้แล้ว พร้อมกับบอกว่าต้อนรับเรือรบจากทุกประเทศให้เข้ามาเทียบท่าที่ฐานทัพเรือเรียม
ฐานทัพเรียมเป็นที่จับตาอย่างมากเพราะมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ในอ่าวไทยซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าถึงทะเลจีนใต้ได้ ทำให้เกิดความกังวลว่าจีนอาจจะเข้ามาใช้ฐานทัพเรียม
ฐานทัพเรือเรียมตั้งอยู่ในเมืองเรียม จังหวัดพระสีหนุหรือเมืองสีหนุวิลล์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชาริมฝั่งอ่าวไทย การที่ต่างชาติจะมาใช้ฐานทัพนี้แบบถาวรอาจจะยาก เพราะตามรัฐธรรมนูญของกัมพูชาแล้วห้ามไม่ให้มีการตั้งฐานทัพต่างชาติในประเทศ และการตั้งฐานทัพต่างชาติยังขัดต่อสนธิสัญญาปารีสปี 1991 ที่ยุติสงครามกลางเมืองกัมพูชา
ถึงแม้จะห้ามต่างชาติเข้ามาปักหลัก แต่ตั้งแต่ปี 2010 ฐานนี้เป็นที่ตั้งของการฝึกร่วมกัมพูชา-สหรัฐประจำปีและการฝึกทางเรือภายใต้โครงการ Cooperation Afloat Readiness and Training (CARAT) ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมทางเรือระหว่างสหรัฐกับอาเซียน แสดงให้เห็นว่าก่อนหน้านี้สหรัฐใช้ฐานทัพนี้เช่นกันและยังให้เงินช่วยเหลือในการสร้างอาคารปฏิบัติงานที่กำลังเป็นข่าว
แต่ภาพดาวเทียมที่เผยแพร่โดยศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ (CSIS) ของสหรัฐที่เพิ่งเปิดเผยช่วงต้นเดือนตุลาคม 2020 แสดงให้เห็นว่ามีการรื้อถอนอาคารที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐในฐานทัพเรือของเรียม คือสำนักงานใหญ่ทางยุทธวิธีของคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อความมั่นคงทางทะเลที่เปิดใช้ในปี 2012 (หลังจากการซ้อมรบ CARAT กับสหรัฐ) จนทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับข่าวลือที่จีนจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับท่าเรือแห่งนี้
ที่น่าสังเกตก็คือ ขณะที่ทางการกัมพูชาปฏิเสธการมีอยู่ของข้อตกลงและยังบอกว่ามันเป็น "ข่าวปลอม" กัมพูชาได้เงินช่วยเหลือจากจีนเท่านั้น แต่แล้วนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน กลับกล่าวว่าจะนำความช่วยเหลือจากจีนมาสนับสนุนการพัฒนาฐานทัพเรือ ส่วนทางการจีนกลับนิ่งเฉยไม่รับและไม่ปฏิเสธทำให้เรื่องนี้ยิ่งลึกลับมากขึ้น
นักวิเคราะห์กล่าวว่าฮุน เซน มีเล่ห์เหลี่ยมสูงจำเป็นต้องรู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหางเพราะอาจเกิดกระแสต้านจีนจากสาธารณชน โดยเฉพาะในสีหนุวิลล์ซึ่งตอนนี้ธุรกิจและคาสิโนส่วนใหญ่เป็นของจีน
การทำลายอาคารของสหรัฐที่ฐานทัพเรือเรียมก็เช่นกันน่าจะมีนัยอะไรบางอย่างที่ทำให้สหรัฐต้องกังวล
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2020 เตีย บัญ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชาปฏิเสธข้อกังวลดังกล่าว เขาบอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีพร้อมยืนยันว่าอาคารดังกล่าวถูกทุบลงเมื่อเดือนที่แล้ว และบอกว่า “เราย้ายสถานที่ไปยังจุดใหม่ เราไม่สามารถรักษามันได้อีกต่อไปและอาคารก็เก่าแล้ว”
เตีย บัญ กล่าวว่าที่ตั้งของอาคารใหม่จะ "ดีกว่ามาก" และเสริมว่ากัมพูชาได้ "ความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย" จากสหรัฐในการก่อสร้างอาคารที่พังยับเยินในขณะนี้
ส่วนที่ตั้งของอาคารแห่งใหม่อยู่ระหว่างการก่อสร้างตั้งทางเหนือของฐานทัพเรียมประมาณ 30 กิโลเมตรเรียกได้ว่าไกลจากฐานทัพแบบเข้าป่าเข้าพง เพราะน่าจะเลยเข้าไปในเขตชนบทที่ห่างจากเมืองสีหนุวิลล์
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฮุน เซน หันเหออกจากสหรัฐเนื่องจากรัฐบบาลสหรัฐตำหนิรัฐบาลกัมพูชาที่บั่นทอนประชาธิปไตยและกดขี่สิทธิมนุษยชน ทำให้กัมพูชาหันไปคบหากับจีนมากขึ้นจนจีนกลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในกัมพูชา
มีเงื่อนงำบางอย่างที่น่าสนใจก่อนการทุบอาคารของสหรัฐในฐานทัพเรียม เกี่ยวข้องกับสถานที่อีกขุดหนึ่งที่อาจจะถูกใช้เป็นฐานทัพจีน นั่นคือดาราสาครรีสอร์ทในจังหวัดเกาะกง
เมื่อวันที่ 22 กันยายน ไมค์ ปอมเปโอรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอ้างถึง "รายงานที่น่าเชื่อถือ" ว่าดาราสาครรีสอร์ทในจังหวัดเกาะกงที่บริษัทจีนกำลังพัฒนาอยู่สามารถใช้เป็น "สินทรัพย์" ทางทหารของจีนได้
ในช่วงสัปดาห์เดียวกัน ดับเบิลยู. แพทริก เมอร์ฟี เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกัมพูชาได้พบหารือกับ เตีย บัญ ไม่นานหลังจากที่ที่กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศมาตรการคว่ำบาตรกลุ่ม Union Development Group (UDG) ในเทียนจิน ซึ่งเป็นบริษัทจีนกำลังก่อสร้างดาราสาครรีสอร์ทในจังหวัดเกาะกง มูลค่า 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐ
หลังจากคุยกับเตีย บัญ ทูตเมอร์ฟีโพสต์เฟซบุ๊คว่า การหารือเกี่ยวกับ “ความร่วมมือด้านความมั่นคงที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมทั้งความพยายามอย่างต่อเนื่องในการรักษาอธิปไตยของกัมพูชา”
แต่จากปากคำของ เตีย บัญ อาคารที่สหรัฐมอบเงินให้สร้างที่ฐานทัพเรียมก็น่าจะถูกทุบในเดือนกันยายนนั่นเอง แสดงให้เห็นถึงท่าทีของกัมพูชาต่อความเป็นห่วงเป็นใยของสหรัฐต่ออธิปไตยของกัมพูชาได้เป็นอย่างดี นั่นคือ "สหรัฐอย่าเข้ามายุ่ง"
กัมพูชาไม่มีเหตุอะไรที่ต้องทำตามสหรัฐเลย สหรัฐนั่นเองยังบีบให้กัมพูชาจนมุมจนต้องเลือกจีน เมื่อสภาคองเกรสผ่านกฎหมาย Cambodia Democracy Act of 2019 โดยอ้างประชาธิปไตยเล่นงานฮุน เซนและพรรคพวกฐานบ่อนทำลายประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
กฎหมายตัวนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้เพราะประธานาธิบดีสหรัฐยังไม่เซ็น ถ้าเซ็นเท่ากับปิดฝาโลงไม่ให้สหรัฐเข้ามามีอิทธิพลกัมพูชาอย่างแน่นอน ดังนั้นสหรัฐก็จะใช้มันขู่ฮุน เซนอยู่แบบนี้
แต่ฮุน เซนเป็นพวกหมูไม่กลัวน้ำร้อนแถมยังเหลี่ยมจัด
ศัตรูคนสำคัญของฮุน เซน คือสม รังสีที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศพยายามเจาะยางฮุน เซนโดยใช้ประเด็นนี้เป็นอาวุธ เมือเดือนมิถุนายน 2020 สม รังสี เขียนบทความลงในนิตยสาร Foreign Affairs อนทรงอิทธิพลซึ่งพิทักษ์ผลประโยชน์ของอเมริกัน เขาร่ายยาวถึงแผนการที่จีนใช้ฮุน เซนและฮุน เซนช่วยเหลือจีนอย่างไร
แต่สม รังสีก็เล่นเกมส์อันตรายด้วยการเอียงไปทางสหรัฐอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการที่เขาบอกว่าจีนต้องการกัมพูชาเป็นฐานทัพเพื่อที่จะจีนจะได้ข่มขู่ (harass) เรือรบของสหรัฐและพันธมิตรของสหรัฐในภูมิภาค
สม รังสีพยายามชี้ให้เห็นว่า "ปัจจุบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ยังคงอยู่นอกขอบเขตอิทธิพลโดยตรงของจีน แต่หากประชาคมระหว่างประเทศไม่ดำเนินการในตอนนี้เพื่อหยุดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบใช้สองทางของจีนซึ่งจะอนุญาตให้กองกำลังติดอาวุธของจีนปฏิบัติการจากกัมพูชา ในไม่ช้าความเป็นอิสระทางการเมืองของประเทศเหล่านี้จะตกอยู่ในอันตราย"
ถึงแม้ว่าสม รังสีจะเอียงพอๆ กับฮุน เซน แต่เขาก็พูดถึงเรื่องนัยพัวพันของอาเซียนกับกรณีฐานทัพในกัมพูชา เพียงแต่เขาพยายามจี้ให้สหรัฐเดินเกมรุกมากกว่านี้ โดยเฉพาะการบอกว่า "กัมพูชาอาจกลายเป็นจุดตายของยุทธศาสตร์การควบคุม (จีน) ของสหรัฐในภูมิภาคนี้"
เราจะเห็นได้ว่าทั้งฮุน เซนและสม รังสี ชักศึกเข้าบ้านตัวเองไม่พอ ยังจะชักยักษ์เข้ามาขยี้อาเซียนด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ฮุน เซนปฏิเสธข่าวให้จีนมาตั้งฐานทัพ เขาบอกว่าต้อนรับเรือรบจากทุกประเทศให้เข้ามาเทียบท่าที่ฐานทัพเรือเรียม แต่จริงๆ แฃล้วคงไม่ใช่ทุกชาติที่กัมพูชาจะต้อนรับ เพราะเมื่อปี 2017 กัมพูชาแจ้งกับสหรัฐไปว่าขอระงับการซ้อมรบร่วมในปีนั้นละปีต่อไปและหลังจากนั้นก็ไม่ได้ซ้อมร่วมกันอีก
ตรงกันข้าม เมื่อต้นปีนี้เองสำนักข่าว ABC ของออสเตรเลียเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ทหารของจีนพบกับฝ่ายกัมพูชาอย่างลับๆ เมื่อปี 2019 หนึ่งในกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่หทารฝ่ายจีนทำในกัมพูชาคือการ "ตรวจตราฐานทัพเรียม" และรวมถึงเกาะตาเกียวที่มีฐานหน่วยทัพเรืออีกแห่งของกัมพูชาอยู่ใกล้ๆ กัน และยังไปถึงเกาะปูลูไวที่อยู่ห่างออกไปแทบจะกลางอ่าวไทย
เกาะปูลูไวมีความสำคัญมากกับไทยเพราะเกาะนี้ตั้งในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างกัมพูชา ไทย และเวียดนาม และว่ากันตามตรงแล้วอ่าวไทยมีพื้นที่ทับซ้อนที่วุ่นวายเกี่ยวพันถึง 4 ประเทศ การปล่อยให้การตั้งฐานทัพของ "ประเทศที่ 5" จะสร้างปัญหาแน่นอน
แต่เดูเหมือนกัมพูชาจะไม่สนใจเรื่องนั้น หลังจากเชิญฝ่ายจีนมาชมพื้นที่ทับซ้อนแล้ว ต่อมากัมพูชาร่วมซ้อมรบกับจีนเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ทั้งๆที่โคโรนาไวรัสกำลังระบาดหนักในจีนและเริ่มลามมายังที่อื่นๆ ถ้าไม่รักกันจริงกัมพูชากับจีนคงไม่กล้าทำอะไรแบบนี้ในสถานการณ์ที่วุ่นวายเอามากๆ
น่าจะชัดแล้วว่ากัมพูชาเลือกใคร ระหว่างสหรัฐกับจีน
บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน
Photo by Ly Lay / AFP