posttoday

เตรียมใจไว้เลย โลกเรายังร้อนได้มากกว่านี้อีก

10 ธันวาคม 2563

ปี 2020 เป็น 1 ใน 3 ปีที่ร้อนที่สุดในรอบ 170 ปี แต่นี่ยังไม่ถือว่าร้อนที่สุด เพราะจากนี้ไปโลกจะร้อนขึ้นอีกอย่างน้อยปีละ 1 องศาเซลเซียส

เร็วๆ นี้มีรายงานเกี่ยวกับความร้อนของโลกออกมาเป็นระยะ ล่าสุดโครงการสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติเผยว่า ช่วงสิ้นสุดของศตวรรษนี้ หรือในปี 2100 อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียส แม้ว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ช่วงที่ Covid-19 ระบาดจะลดลงก็ตาม

และยังเตือนอีกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงช่วงล็อกดาวน์จะช่วยโลกร้อนได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าเราไม่พร้อมใจกันลดใช้พลังงานจากฟอสซิลเป็นวงกว้างและรวดเร็วที่สุด โดยผู้เชี่ยวชาญยังห่วงอีกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะหวนกลับมาอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในปี 2021

หรือจะเป็นรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ที่เตือนว่าโลกกำลังอยู่ในช่วง “หายนะของสภาพภูมิอากาศ” และปีนี้เป็น 1 ใน 3 ปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาตั้งแต่ปี 1850 หรือเมื่อ 170 ปีที่แล้ว

รายงานเดียวกันนี้ยังบอกอีกว่า อุณหภูมิทั่วโลกในแต่ละปีจะร้อนขึ้นอีกอย่างน้อย 1 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม (ช่วงปี 1850-1900) ในช่วง 5 ปีข้างหน้า

ในเวลาใกล้เคียงกันกรมอุตุนิยมวิทยาของอังกฤษเผยข้อมูลว่า หากยังไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พื้นที่ส่วนใหญ่ของอังกฤษจะไม่มีหิมะภายในปี 2100 หรืออีกเพียง 80 ปีข้างหน้าเท่านั้น และทางตอนใต้ของประเทศจะไม่เจอกับอุณหภูมิ 0องศาเซลเซียสหรือติดลบภายในปี 2040

จากคำเตือนข้างต้นจะเห็นว่าตัวแปรสำคัญของภาวะโลกร้อนก็คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด (75%) และยังเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการสะสมพลังงานความร้อนในชั้นบรรยากาศมากที่สุดอีกด้วย

นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือช่วง 170 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการขับรถยนต์ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า การทำไร่ หรือการเลี้ยงปศุสัตว์ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน สูงกว่าในยุคไดโนเสาร์สูญพันธุ์ หรือเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว

ในปี 1850 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศอยู่ที่ 280 ส่วนในล้านส่วน แต่ข้อมูลล่าสุดจากองค์การนาซา (ต.ค.2020) พบว่าเพิ่มขึ้นมาที่ 415 ส่วนในล้านส่วน

ถ้าถามว่า 415 ส่วนในล้านส่วนร้ายแรงแค่ไหน ตอบได้เลยว่า ขณะนี้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นแล้วอย่างน้อย 1 องศาเซลเซียส เพียง 1 องศาเซลเซียสเรายังรู้สึกว่าร้อนจนแทบทนไม่ไหว แต่นักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นหากความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม อุณหภูมิจะสูงขึ้นถึง 2-3 องศาเซลเซียส

และตอนนี้แม้จะไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ก็พอมองเห็นสัญญาณเตือนที่โลกส่งมาให้มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ไฟป่าเกิดถี่ขึ้น พายุเฮอร์ริเคนและไต้ฝุ่นรุนแรงขึ้น รวมทั้งคลื่นความร้อนที่เล่นงานหลายประเทศ

ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นคือระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปัจจุบันบวกกับกิจกรรมที่ทำลายระบบนิเวศของมนุษย์กำลังผลักให้โลกเข้าสู่ภาวะสภาพภูมิอากาศอบอุ่น (Warmhouse) และ สภาวะโลกร้อนในระดับวิกฤต (Hothouse) ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 34 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งในยุคนั้นร้อนจนไม่มีน้ำแข็งขั้วโลก และอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงกว่าในปัจจุบันราว 9-14 องศาเซลเซียส

หรือที่ใกล้กว่านั้นคือ ภายในปี 2100 หรืออีก 80 ปีข้างหน้า ถ้ามนุษย์ยังไม่หยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้นอีก 4.7 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างกะทันหันนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวลกันว่าทั้งโลกและมนุษย์จะปรับตัวไม่ทัน เพราะเมื่อ 250 ล้านปีที่แล้วที่เกิดเหตุการณ์ที่นำมาสู่สูญพันธุ์ครั้งใหญ่นั้น ต้องใช้เวลานับพันนับหมื่นปีกว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นถึงจุดพีค บางรายงานบอกว่าใช้เวลาถึง 150,000 ปี

หรือเมื่อ 56 ล้านปีก่อนที่โลกประสบกับภาวะโลกร้อนครั้งใหญ่ ก็ยังต้องใช้เวลาราว 10,000-20,000 ปีอุณหภูมิจึงจะเพิ่มสูงสุด

ทว่าภาวะโลกร้อนที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ใช้เวลาเกิดขึ้นเพียง 200 ปีเท่านั้น

เมื่อหายนะมาถึงมนุษย์จะได้รับผลกระทบที่เกิดจากน้ำมือของตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รายงานของสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) พบว่าประชากรโลกมากถึง 1,200 ล้านคนใน 31 ประเทศจะต้องย้ายที่อยู่ภายใน 30 ปีข้างหน้าอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรและภาวะโลกร้อน

ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งจาก Climate Impact Lab พบว่าหากยังไม่หยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวนผู้เสียชีวิตจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงจะแซงหน้าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคติดต่อทั้งหมดรวมกัน

ขณะที่แม้ว่าหลายประเทศจะตื่นตัวแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน พยายามวางนโยบายปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ไม่ว่าจะเป็นจีน สหภาพยุโรป อังกฤษ แต่ก็ยังเป็นการแก้ปัญหาแบบประเทศใครประเทศมัน ทำให้ความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังมีอุปสรรคอยู่มากและอาจไม่บรรลุเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมตามข้อตกลงปารีส

อย่างไรก็ดี จะผลักภาระให้ประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนเพียงลำพังไม่ได้ ประเทศกำลังพัฒนาต้องเร่งดำเนินการด้วย แต่หากลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศกำลังพัฒนาอาจต้องแบกรับภาระหนัก

เหตุผลหนึ่งคือค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส สถาบันเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนานานาชาติ (IIED) ระบุว่าบรรดาประเทศกำลังพัฒนาอาจต้องใช้เงินถึง 93,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเพื่อให้ข้อตกลงบรรลุเป้าหมาย

อีกเหตุผลคือ ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ต้องพึ่งพารายได้จากกิจการที่ต้องตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือกิจการที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาทิ ประเทศไทยที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นตัวการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันดับต้นๆ

แต่ไม่ว่าอย่างไร เราทุกคนคงต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อรักษาโลกที่สวยงามไว้ส่งต่อให้ลูกหลานในอนาคต