กัมพูชาสั่งห้ามเผาฟางข้าว-ขยะ สู้มลพิษPM2.5
หนังสือพิมพ์ขะแมร์ ไทม์ส (Khmer Times) ของกัมพูชา รายงานว่ากัมพูชาได้ออกคำสั่งห้ามประชาชนที่อาศัยอยู่ในชนบทเผาฟางข้าวและขยะในไร่นา เพื่อลดมลพิษทางอากาศ
เนตร พักตรา (Neth Pheaktra) โฆษกกระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชาอ้างอิงข้อมูลจากการสำรวจพบว่า แหล่งที่มาและกิจกรรมหลักที่ทำให้ความเข้มข้นของอนุภาคเฉื่อยเพิ่มขึ้น ได้แก่ การปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะที่ใช้น้ำมันดีเซลและเชื้อเพลิงอื่นๆ ไฟป่า การเผาทุ่งหญ้า การเผาขยะการเกษตร การถางป่า การเผาฟางข้าว การเผาขยะมูลฝอยในที่โล่งและหลุมฝังกลบ และฝุ่นจากสถานที่ก่อสร้าง
เขากล่าวว่าผลการสำรวจช่วงธันวาคม 2019 – เมษายน 2020 ซึ่งเป็นฤดูแล้ง เผยว่ากรุงพนมเปญและจังหวัดต่างๆ มีคุณภาพอากาศแย่ลงอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะอนุภาคเฉื่อยที่ลอยอยู่ในอากาศ (PMID และ PM2.5) ที่มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นจนสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
พักตรากล่าวว่าเพื่อป้องกันการเกิดมลพิษทางอากาศในประเทศ กระทรวงจึงกำลังนำมาตรการ 5 ประการมาใช้ ได้แก่ การป้องกันไฟป่า การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางถนน การกำจัดฝุ่นบริเวณท้องถนน การให้ความรู้ประชาชนเพื่อไม่ให้เผาขยะ ขยะมูลฝอย หญ้า ฟางข้าวหรือวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอื่นๆ และการเตรียมมาตรการป้องกันไฟป่า
หนังสือพิมพ์รายงานคำพูดของพักตราว่า “เราคาดหวังให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม โดยลดการเผาขยะในพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่เพาะปลูกและสัมปทานที่ดิน เพราะการเผาทั้งหมดล้วนสะสมจนกลายเป็นมลพิษทางอากาศ แม้แต่อนุภาคที่เล็กที่สุดก็ยังหมุนเวียนอยู่ในชั้นบรรยากาศและอาจส่งผลกระทบต่อการหายใจ”
“เราขอให้ประชาชนล้มเลิกการเผาฟาง แต่ให้ใช้วิธีไถกลบและฝังแทน” เขากล่าว “โดยสามารถฝังลงในบ่อหมักเพื่อแปรรูปเป็นปุ๋ยได้”
เทพ บุญเทือน (Tep Bunthoeun) ชาวบ้านคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในอำเภอพนมสะรวจ จังหวัดกำปงสปือ กล่าวว่าเขามักเผาฝางทันทีหลังจากเก็บเกี่ยวข้าว แต่ตอนนี้เขารู้แล้วว่าควันจะส่งผลเสียต่อคุณภาพอากาศและพื้นที่การเกษตรอย่างไร จึงยุติวิธีดังกล่าวแล้ว
สดึง เชนี (Sdeung Chany) ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเมืองกงพิสัย จังหวัดกำปงสปือกล่าวว่า ทุกเช้าเธอจะทำความสะอาดบ้านและเผาขยะพลาสติกจำนวนหนึ่ง เพราะคิดว่าการเผาขยะเพียงเล็กน้อยไม่ได้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
“ฉันรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่ฉันเคยทำเมื่อได้เห็นประกาศของกระทรวงสิ่งแวดล้อม ตอนนี้ฉันรู้แล้วว่าการเผาฟางข้าว ไฟป่า และการเผาขยะพลาสติก ล้วนสร้างมลพิษทางอากาศเช่นเดียวกัน” เชนีกล่าว
อนุเคราะห์เนื้อหาข่าวโดยสำนักข่าวซินหัว
ภาพประกอบ - ชาวอินเดียกำลังเผากองไม้เนื่องในพิธีกรรมทางศาสนา Photo by Sanjay KANOJIA / AFP