ได้กลิ่น "การปฏิวัติ" โชยมาแต่ไกลจากในจีน
จีนกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลายคนอาจจะมองไม่เห็น แต่มีคนหนึ่งบอกใบ้ออกมา และสื่อของรัฐบาลตอบรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
คนภายนอกอาจไม่รู้สึกว่าจีนกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงที่สั่นสะเทือนในหลายๆ ด้าน คอข่าวต่างประเทศส่วนใหญ่มักโฟกัสไปที่ "จีนกับสหรัฐ" ไม่ค่อยติดตามว่า "จงหนานไห่" (ศูนย์กลางการปกครองงของจีน) กำลังคิดทำอะไรกับประเทศและประชาชน
ในไทย เมื่อเราเอ่ยถึง "การปฏิวัติ" มันมักมีความหมายถึงการยึดอำนาจมากกว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและทิศทางการเมือง แต่ในจีน หากเอ่ยคำว่าการปฏิวัติมันไม่ใช่แค่การชิงอำนาจของคนบางคน แต่มันคือการผลิกฟ้าคว่ำดินที่กระทบคนนับพันล้าน
กลิ่น "การปฏิวัติ" เริ่มชัดขึ้น เมื่อมีการเผยแพร่บทความของบุคคลที่มีชื่อว่า "หลี่กวงหม่าน ปิงเตี่ยน สือผิง" (หลี่กวงหม่านคอมเมนต์ ณ จุดเยือกแข็ง) หลี่กวงหม่านฯ คนนี้เป็นใครเรายังไม่ทราบชัด แต่รู้ว่าบทความของเขาชิ้นนี้เผยแพร่ก่อนใน WeChat
แต่หลังจากนี้นั้นมันถูกแชร์ต่อโดยสื่อของรัฐบาลเกือบยกแผง ไม่ว่าจะเป็น People’s Daily, Xinhua News Agency, PLA Daily, CCTV, China Youth Daily และ China News Service ล้วนแต่เป็นสื่อของรัฐระดับเอลิสต์
สื่อในไต้หวันและฮ่องกงที่อยู่คนละฝั่งกับรัฐบาลจีนก็รายงานบทความของหลี่กวงหม่านฯ ราวกับว่ากำลังสัมผัสได้ถึงอะไรบางอย่าง อันที่จริงแล้ว สื่อภาษาจีนนอกจีนค่อนข้างตื่นตัวในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ เพราะความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในจีนแบบรายวันเลยทีเดียว
และการที่สื่อของรัฐเผยแพร่บทความของหลี่กวงหม่านฯ นับว่าไม่ใช่เรื่องปกติเอาเลย มันต้องมีนัยอะไรสักอย่าง ไม่ต้องมองไปไกลเอาแค่ชื่อบทความนี้ใชคำว่า "เปี้ยนเก๋อ" ก็ส่อนัยที่น่าคิดมาก
บทความนี้มีชื่อว่า "ทุกคนสามารถรู้สึกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งกำลังดำเนินอยู่!" คำว่า "เปลี่ยนแปลง" หรือ เปี้ยนเก๋อ" นี้ มันสามารถแปลได้ว่า "การปฏิวัติที่ถึงแก่น" ได้ด้วย นัยความหมายของคำๆ นี้ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลง หรือสลับของเก่าเป็นของใหม่ แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่
มันสะท้อนกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในจีน ที่มีการล้างบาง กวาดล้าง ชำระล้างวงการต่างๆ ตั้งแต่การศึกษา บันเทิง ธุรกิจเทค การเงินการธนาคาร และวงการการเมือง
ขณะที่กำลังนั่งเขียนอยู่นี้มีข่าวว่าทางการจีนสั่งให้บริษัทเกมส์ออนไลน์กำหนดโควต้าเวลาให้ผู้ใช้บริการที่ไม่ใช่ผู้ใหญ่เล่นเกมส์ได้แค่วันละ 1 ชั่วโมงในวันหยุดเท่านั้น คำสั่งนี้เกิดขึ้นหลังจากทางการจีนเพิ่งจัดระเบียบวงการเกมส์ออนไลน์ไปหมาดๆ คำสั่งล่าสุดคือการ "บีบ" ให้วงการนี้มีอิทธิพลต่อเยาวชนน้อยลง
หลังจากรัฐบาลสั่งกวาดล้างธุรกิจกวดวิชาเพื่อให้เด็กๆ ไม่เรียนมากไปกว่าจำเป็นและป้องกันความเหลื่อมล้ำจากการที่คนมีเงินมีโอกาสทางการศึกษาล้ำหน้าคนรายได้ระดับอื่นเกินไป ทางการจีนจัดเด็กๆ ให้อยู่ในแถวด้วยการเล่มเกมส์เป็นเวลาและมีโอกาสเข้าถึงมันยากขึ้น และกวาดล้างกลุ่มแฟนบันเทิง (ซึ่งมักเป็นเยาวชนอีกนั่นแหละ) ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวและฟุ้งเฟ้อหลายครั้ง
นี่แหละคือ "เปี้ยนเก๋อ" อย่างแท้จริง
โดยเฉพาะวงการบันเทิงกำลังถูกจับตาเป็นพิเศษ เพราะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมประชาชน แต่ดาราหลายคนพฤติกรรมไม่น่าชื่นชม และรัฐบาลไม่อดทนต่อไปอีกจึงต้องลึกขึ้มาเก็บกวาดครั้งใหญ่
"หลี่กวงหม่าน ปิงเตี่ยน สือผิง"มองเห็นการปฏิวัติอันลึกซึ้งนี้และเอ่ยถึงพฤติกรรม "อันฉาวโฉ่" ของคนดังในวงการบันเทิงคนแล้วคนเล่า แต่เรื่องทีเกิดขึ้่นในวงการบันเทิงเป็นเพียงคลื่นลูกหนึ่งในคลื่นลูกแล้วลูกเล่าที่ซัดทำลาย "พฤติกรรมไม่พึงประสงค์" ในสายตาของรัฐบาลจีน
เขาเขียนว่า "ตั้งแต่การระงับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของ Ant ไปจนถึงการที่รัฐบาลกลางแก้ไขระเบียบเศรษฐกิจและการต่อต้านการผูกขาดไปจนถึงการปรับ Ali และการสอบสวนของ Didi จำนวนเงิน 18.2 พันล้านหยวน ไปจนถึงการฉลองครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งพรรคฯ อันโอ่อ่าโดยรัฐบาลกลาง, ข้อเสนอที่จะเดินตามเส้นทางของความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน และความวุ่นวายล่าสุดในวงการบันเทิง การดำเนินการแก้ไขเป็นชุดๆ โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังบอกเราว่าจีนกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตั้งแต่ด้านเศรษฐกิจ การเงิน วัฒนธรรม และการเมือง ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้ง (เปี้ยนเก๋อ) หรือการปฏิวัติที่ลึกซึ้ง (เก๋อมิ่ง)"
จะเห็นได้ว่าในข้อเขียนนี้เขาถึงกับใช้คำว่า "การปฏิวัติ" หรือ "เก๋อมิ่ง" กันตรงๆ คำๆ นี้บ่งนัยถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วย ดังนั้น มันจึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (เปี้ยนเก๋อ) แต่จีนกำลังมุ่งไปถึงการถอนรากถอนโคนทางการเมืองด้วย - บทความกล่าวต่อไปว่า
"นี่คือการคืนทวงคืนจากกลุ่มทุนกลับสู่มวลชน และนี่คือการเปลี่ยนแปลงจากทุนเป็นศูนย์กลางไปสู่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ดังนั้น นี่คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ประชาชนกลายเป็นแกนหลักของการเปลี่ยนแปลงนี้อีกครั้ง และทุกคนที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางจะถูกละทิ้ง การเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งนี้ยังเป็นการหวนกลับ คือการหวนคืนสู่ความตั้งใจดั้งเดิมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน การหวนคืนสู่ธรรมชาติ (ของพรรคฯ) ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการหวนกลับคืนสู่แก่นแท้ของลัทธิสังคมนิยม"
เนื้อหาตอนนี้สะท้อนแนวทางของสีจิ้นผิงอย่างชัดเจนที่ต้องการส่งเสริมค่านิยมสังคมนิยมในจีนอีก หลังจากที่คนจีนหลงไหลกับทุนนิยม (หรือที่เรียกอย่างสวยหรูว่า "สังคมที่มีคุณลักษณะแบบจีน") มานับสิบๆ ปีแล้ว ผลของการปล่อยให้ประชาชนเสพทุนนิยมคือ เศรษฐกิจจีนใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก แต่มันต้องแลกมาด้วยความเสื่อมถอยเรื่องค่านิยมต่างๆ ทั้งความสุรุ่ยสุร่าย ความคลั่งไคล้ที่ไร้เหตุผล และการไม่มีจริยธรรมของคนระดับไอดอลของสังคม
สีจิ้นผิงก็ยังเชิดชูแนวคิด "สังคมที่มีคุณลักษณะแบบจีน" เพียงแต่เขาต้องดึงสติประชาชนให้เป็นสังคมนิยมมากขึ้น ทุนนิยมให้น้อยลง
การทำแบบนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้คนหลงกับทุนนิยมจนถอนตัวไม่ขึ้น หนทางที่ต้องทำคือต้อง "ช็อค" ด้วยการกวาดล้างเซคเตอร์ต่างๆ แบบไม่หยุดหย่อน เป็นการปฏิวัติแบบสายฟ้าแลบในภาคส่วนที่กระทบต่อมิติด้านทุนนิยมของประชาชนอย่างลึกซึ้ง
ส่วนพวกนายทุนที่กอบโกยจนเกินเหตุนั้น หลังจากนี้จะต้องปรับตัวไม่อย่างนั้นจะอยู่ไม่ได้ - บทความเตือนว่า
"การเปลี่ยนแปลงนี้จะล้างฝุ่นทั้งหมดออกไป ตลาดทุนจะไม่ใช่สวรรค์สำหรับนายทุนที่จะร่ำรวยในชั่วข้ามคืนอีกต่อไป ตลาดวัฒนธรรมจะไม่ใช่สวรรค์ของดาราสาววายร้ายอีกต่อไป และข่าวและความคิดเห็นของสาธารณชนจะไม่อยู่ในฐานะที่บูชาวัฒนธรรมตะวันตกอีกต่อไป (นี่คือ) การกลับมาของสีแดง (คอมมิวนิสต์) การกลับมาของวีรชน (ของพรรคฯ) และการกลับมาของความเสียสละภักดี (ต่อพรรคฯ)"
บทความนี้ยังไปไกลถึงขั้นเสนอแนะแนวทางว่าควรทำอย่างไรต่อไป ไม่แน่ว่านี่คือการแย้มพรายให้รู้ว่ารัฐบาลจีนจะมุ่งไปทางนี้ก็เป็นได้
"ดังนั้น เราจำเป็นต้องควบคุมความวุ่นวายทางวัฒนธรรมทั้งหมด และสร้างวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา มีสุขภาพดี มีพลังชายชาตรี เข้มแข็ง และมุ่งเน้นที่ผู้คน เราต้องปราบความวุ่นวายของการยักย้ายถ่ายเทเงินทุนขนาดใหญ่ การผูกขาดแพลตฟอร์ม และความโกลาหลจากการที่เงินไม่ดีขับไล่เงินดีในตลาดทุน ชักนำการไหลของเงินทุนไปยังองค์กรธุรกิจ องค์กรที่มีเทคโนโลยีสูง และอุตสาหกรรมการผลิต จัดการความโกลาหลของการศึกษาอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มจากการจัดการสถาบันฝึกอบรมและเขตการศึกษาจะช่วยให้การศึกษากลับสู่คนสามัญและมีความเป็นธรรมอย่างแท้จริง เพื่อให้คนทั่วไปมีพื้นที่ในการยกระดับตัวเองให้สูงขึ้น ในอนาคตราคาบ้านที่สูงและค่ารักษาพยาบาลที่สูงจะได้รับการแก้ไขอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทำการปราบภูเขาใหญ่ที่กีดขวางให้ราบคาบ คือภูเขาของการศึกษา การรักษาพยาบาล และที่อยู่อาศัย"
ข้อความสุดท้ายมีน้ำเสียงการปฏิวัติสังคมนิยมอย่างชัดเจน คำว่า "ภูเขาใหญ่ทั้งสาม" (ซานจั้วต้าซาน) เป็นศัพท์แสงของสังคมนิยมจีน แต่ก่อนหมายถึงสิ่งที่ขัดขวางสังคมนิยม คือ ลัทธิจักรพรรดินิยม, ระบอบศักดินา และทุนนิยมเล่นพรรคเล่นพวก สิ่งเหล่านี้คือ อุปสรรคในการสร้างจีนใหม่หลังการปลดปล่อย แต่ตอนนี้อุปสรรคของจีนที่รุ่งเรืองคือ "การศึกษา การรักษาพยาบาล และที่อยู่อาศัย"
ผู้เขียนกล่าวว่า "แม้ว่าเราไม่ได้พยายามฆ่าคนรวยและช่วยคนจน (เหมือนยุคปราบ "ภูเขาใหญ่ทั้งสาม" ในสมัยก่อน) แต่เราจำเป็นต้องแก้ปัญหาการช่องว่างรายได้ที่เพิ่มขึ้นระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างมีประสิทธิภาพ ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันคือการเปิดทางให้คนงานธรรมดามีรายได้เพิ่มขึ้นจากการกระจายความมั่งคั่งทางสังคม"
ส่วนที่เหลือของบทความเอ่ยถึงแนวโน้มของการเผชิญหน้าระหว่างจีนกับโลกภายนอก ซึ่งหากมีโอกาสผู้เขียนจะเอ่ยถึงต่อไป
สิ่งที่สำคัญกว่าจากบทความของ "หลี่กวงหม่านฯ" ก็คือท่าทีผลักดันให้จีนหวนคืนสู่รากเหง้าสังคมนิยมหรืออย่างน้อยก็ลดความเห็นแก่ตัวแบบทุนนิยมลงเสีย
การที่สื่อของรัฐพร้อมใจกันลงบทความนี้ย่อมสะท้อนว่ามันสอดคล้องกับแนวทางของรัฐนั่นเอง อันที่จริงแล้วหากไม่มีบทความนี้ หลายๆ คนก็พอจะเดาออกว่าจีนกำลังมุ่งไปในทางเดียวกับที่บทความนี้บอก
เพียงแต่การเลือกใช้คำ "ปฏิวัติ" และ "การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างลึกซึ้ง" ทำให้อดคิดไม่ได้ว่ามันจะส่งแรงกระเพื่อมหนักหนาขนาดไหนในจีน
การปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อทศวรรษที่ 60 เริ่มต้นด้วย "หนังสือตัวโต" (ต้าจื้อเป้า) หรือประกาศแจ้งข่าวที่ติดไว้ตามกำแพง แปะไว้บอกเจตนารมณ์และแนวทางการปฏิวัติและเปิดโปงศัตรูของการปฏิวัติ บทความชิ้นนี้ก็คล้ายกับหนังสือตัวโตในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม
มันคือการบอกให้ประชาชนปรับท่าทีให้เป็นสังคมนิยมมากขึ้นและเริ่มต้นการกวาดล้างศัตรูของสังคมนิยม
ครั้งสุดท้ายที่จีนใช้คำว่า "ปฏิวัติ" (เก๋อมิ่ง) คือการปฏิวัติวัฒนธรรม (เหวินฮว่า ต้าเก๋อมิ่ง) เมื่อทศวรรษที่ 60 คือการทำลายล้างรากฐานสังคมแบบใหม่ เพื่อทำให้จีนเป็นสังคมคอมมิวนิสต์บริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่ผลของมันวินาศสันตะโรเอามากๆ
เรามารอดูกันว่า "เก๋อมิ่ง" คราวนี้จะจะมีผลเช่นไร
โดย กรกิจ ดิษฐาน
AFP PHOTO / JEAN VINCENT