'ชินอิลปา' จุดจบคนขายชาติ เวรกรรมถึงลูกหลาน
เรื่องราวของผู้ทรยศแผ่นดินเกิดตัวเอง แม้จะเสพสุขบนความทุกข์ของเพือนร่วมชาติ และประวัติศาสตร์ไม่มีวันให้อภัย
"โชซอน" หรืออาณาจักรเกาหลีเคยเป็นรัฐใต้อิทธิพลจีนมาก่อน จีนจึงมีฐานะเหมือน "พี่ใหญ่" ของโชซอน การตัดสินใจสำคัญๆ เกี่ยวกับบ้านเมืองของโชซอนต้องคำนึงถึงจีนด้วย
แต่จีนช่วงปลายราชวงศ์แมนจูเริ่มเสื่อมถอยลงพร้อมๆ กับการรุกรานของชาติตะวันตกและญี่ปุ่น ชาติตะวันตกและญี่ปุ่นใช้อิทธิพลที่เหนือกว่าบีบบังคับจีนให้ยอมยกดินแดนให้ต่างชาติใช้อำนาจตามกฎหมายของตนได้ (หรือสิทธิสภาพนอกอาณาเขต) และหลายดินแดนยังตกเป็นของต่างชาติด้วยสาเหตุอื่นๆ
ต่อมาญี่ปุ่นพยายามรุกคืบเข้ามาที่โชซอนจนเกิด "กรณีคังฮวา" ซึ่งเป็นการปะทะกันด้วยอาวุธระหว่างโชซอนและญี่ปุ่นซึ่งเกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกับเกาะคังฮวาเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2418 หลังจากเหตุการณ์นั้น กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ปิดกั้นพื้นที่ดังกล่าวและร้องขอขอคำขอโทษอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลโชซอน ซึ่งโชซอนจำต้องส่งคณะทูตไปยินยอมลงนามสนธิสัญญาคังฮวาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2419 ซึ่งเปิดให้ญี่ปุ่นเข้ามาดำเนินการในเกาหลีได้
สนธิสัญญานี้เท่ากับยุติสถานะของเกาหลีในฐานะอารักขาของจีนในทางนิตินัย บังคับให้เกาหลีเปิดท่าเรือโชซอนสามแห่งเพื่อการค้าของญี่ปุ่น ให้สิทธินอกอาณาเขตแก่พลเมืองญี่ปุ่น และเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียมกันซึ่งลงนามภายใต้การบังคับขู่เข็ญ
ต่อมาในโชซอนเกิดกบชาวนาที่เรียกว่ากบฏทงฮักขึ้น แต่โชซอนยังสำนึกตัวเองว่าเป็นรัฐอารักขาของจีนทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นได้ยื่นมือเข้ามาบงการทีละน้อยๆ แล้ว ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2437 รัฐบาลโชซอนได้ขอความช่วยเหลือจากจีนเพื่อยุติการจลาจลทงฮัก แต่ผู้นำญี่ปุ่นอ้างว่าเป็นการละเมิดอนุสัญญาเทียนจินจึงตัดสินใจแทรกแซงทางทหารเพื่อท้าทายจีน
จุดเสื่อมของมังกรจีน
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2437 กองกำลังของจักรวรรดิชิง 1,500 นายได้ปรากฏตัวขึ้นที่อินชอน ทำให้เกิดการเผชิญหน้าขึ้น นี่กลายเป็นสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่งที่กินเวลา ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2437 – 17 เมษายน พ.ศ. 2438 เพื่อชิงอิทธิพลเหนือโชซอน ปรากฎว่าราชวงศ์ชิงยอมยุติสงคราม จีนลงนามในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิในปี พ.ศ. 2438 สนธิสัญญาดังกล่าวได้รับรอง "ความเป็นอิสระและเอกราชของเกาหลีที่เต็มที่และสมบูรณ์" ซึ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์แบบรัฐบรรณาการของเกาหลีกับราชวงศ์ชิงของจีนสิ้นสุดลง นำไปสู่การประกาศเอกราชของโชซอนอย่างสมบูรณ์ในทางนิตินัยและพฤตินัย
แต่เกาหลีไม่ได้เป็นเอกราชจริงๆ ญี่ปุ่นแทรกแซงอย่างรุนแรงถึงขนาดส่งคนมาลอบสังหารพระนางมย็องซอง (พระนางมิน) พระมเหสีของพระเจ้าโคจงอย่างอุกอาจจนสวรรคตในพระราชวังหลวง จนวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2439 พระเจ้าโคจงและมกุฎราชกุมารต้องทรงลี้ภัยจากพระราชวังคยองบกกุงไปยังสถานกงสุลรัสเซีย และต้องลี้ภัยนานถึง 1 ปีในสถานกงสุล
หลังจากสิ้นอิทธิพลจีน โชซอนถูกแทรกซึมโดยญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ ขุนนางและรัฐบาลและราชสำนักโชซอนแตกแยกเป็นฝ่ายๆ ทั้งฝ่ายอิงญี่ปุ่น ฝ่ายอิงรัสเซีย และสหรัฐต่างคิดจะให้ต่างชาติเข้ามาช่วยถ่วงดุลต่างชาติอีกฝ่าย เพราะโชซอนอ่อนแอเกินไปที่จะรักษาเอกราชตามลำพัง เพราะแม้แต่พี่ใหญ่อย่างจีนก็ยังปกป้องตัวเองไม่ได้
หลังการปลงพระชนม์พระราชินีมย็องซอง คณะมนตรีชุดเก่าก็ถูกสังหารหรือถูกบีบให้หนี ฝ่ายโปรรัสเซียและโปรสหรัฐเข้ามามีอำนาจ หนึ่งในนั้นคือ "อี วัน-ยง" ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในท้องเรื่องนี้ต่อไป
คณะมนตรีชุดใหม่โปรรัสเซียถึงขนาดให้รัสเซียได้รับสัมปทานการค้าและทรัพยากร และยังมอบให้ประเทศมหาอำนาจตะวันตกอื่นๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย แต่ญี่ปุ่นยังคงเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของเกาหลี การสมยอมกับต่างชาติทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มที่สนับสนุนเอกราชอย่างแท้จริง
จุดจบของโชซอน
ในปี พ.ศ. 2440 พระเจ้าโคจงเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากทั้งต่างประเทศและกลุ่มเรียกร้องเอกราชที่แท้จริง พระเจ้าโคจงจึงเสด็จออกจากกงสุลรัสเซียมาพระราชวังท็อกซูกุง ซึ่งก็ยังมีทหารรัสเซียมาคอยอารักขาที่วังด้วย ที่พระราชวังท็อกซูกุงทรงประกาศการก่อตั้ง "จักรวรรดิเกาหลีที่ยิ่งใหญ่" และยุบอาณาจักรโชซอนลงเสียเท่ากับตัดขาดจากการเป็นรัฐอารักขาของจีน ยกตัวเองเป็น "จักรวรรดิ" เทียบเท่าจีนและญี่ปุ่น พร้อมกับเริ่มการปฏิรูประเทศจริงๆ จัง
แต่เกาหลีก็ยังตกอยู่ใต้อิทธิพลต่างชาติอยู่ดี โดยเฉพาะกับรัสเซียและญี่ปุ่นที่พยายามแย่งชิงความเป็นหนึ่งเหนือเกาหลี ดังนั้น "จักรวรรดิเกาหลีที่ยิ่งใหญ่" จึงเป็นเพียงแค่ชื่อเรียกเท่านั้น มันไม่ได้ยิ่งใหญ่สมชื่อเลย เป็นแค่หมากเล็กๆ ตัวหนึ่งในกระดานชิงอำนาจ
รัสเซียกับญี่ปุ่นเขม่นใส่กันจนกระทั่งถึงจุดที่ต้องลงมือในที่สุด กลายเป็นสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2447 ถึง 5 กันยายน 2448 ซึ่งญี่ปุ่นชนะ สามารถกำจัดคู่แข่งรายสุดท้ายที่มีอิทธิพลในเกาหลีออกไปได้ และภายใต้สนธิสัญญาพอร์ทสมัธซึ่งลงนามในเดือนกันยายน 2448 รัสเซียยอมรับ "ผลประโยชน์ทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจสูงสุด" ของญี่ปุ่นในเกาหลี
หลังจากนั้นไม่นาน ญี่ปุ่นตกลงกับสหรัฐ คือข้อตกลงแทฟต์–คัตสึระ การหารือเกิดขึ้นระหว่างวิลเลียม ฮาวเวิร์ด แทฟต์ รัฐมนตรีกระทรวงการสงครามของสหรัฐอเมริกา (อนาคตคือประธานาธิบดี) และเคาท์ คัตสึระ ทาโร นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2448 ซึ่งญี่ปุ่นตกลงว่าจะไม่แผ่อิทธิพลไปยังฟิลิปปินส์ของสหรัฐ สหรัฐก็จะเห็นชอบกับการที่ญี่ปุ่นยึดเกาหลีเป็นรัฐอารักขา แทฟท์เห็นพ้องกันว่าการจัดตั้งอารักขาของญี่ปุ่นเหนือเกาหลีจะส่งผลโดยตรงต่อเสถียรภาพในเอเชียตะวันออก
ตอนนี้เกาหลีมีสภาพไม่ต่างจากฝูงแกะน้อยที่รอหมาป่าเขมือบเท่านั้น แต่ปรากฏว่า "แกะทรยศฝูงแกะ" นั่นเองที่ทำให้หมาป่าสามารถเขมือบแกะน้อยเกาหลีได้อย่างง่ายดายและชอบธรรม
จุดเริ่มต้นคนขายชาติ
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2448 รัฐบุรุษคนสำคัญของญี่ปุ่น อิโต ฮิโรบูมิ เดินทางมาถึงฮันซองหรือกรุงโซลและได้มอบจดหมายจากจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นถึงพระจ้าโคจง ขอให้พระองค์ลงนามในสนธิสัญญายอมยกเกาหลีเป็นรัฐอารักขาของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน อิโตบีบหนักขึ้นโดยสั่งให้กองทหารญี่ปุ่นล้อมพระราชวังของเกาหลีและคุกคามจักรพรรดิเพื่อบังคับให้พระเจ้าโคจงเห็นด้วยกับสนธิสัญญา
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน อิโตและจอมพลฮาเซกาวะ โยชิมิจิ เขาไปที่พระที่นั่งชุงมย็องจอนในพระราชวังท็อกซูกุงเพื่อเกลี้ยกล่อมพระเจ้าโคจงลงพระปรมาภิไธยรับสนธิสัญญา เมื่อพระเจ้าโคจงทรงปฏิเสธอีก คราวนี้อิโตหันไปบีบคณะรัฐมนตรีให้ลงนามยอมรับพร้อมกับขู่ที่จะทำร้ายร่างกาย
นายกรัฐมนตรี ฮัน กยู-ซอล ร้องคำรามด้วยความโกรธแค้น จนอิโตต้องเรียกทหารมาลากตัวเขาไปไว้อีกห้องหนึ่งพร้อมกับสั่งด้วยเสียงเย็นชาขณะมองไปยังรัฐมนตรีคนอื่นๆ ว่า “ถ้าเขายังคงแหกปากอยู่ ให้ฆ่าเขาซะ” ฮัน กยู-ซอลคือฝ่ายต่อต้านพร้อมด้วยรัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรียุติธรรม แม้จะนายกรัฐมนตรีจะต่อต้าน แต่เสียงของเขาไม่มีอำนาจพอจะต่อต้านได้ เพราะมี "คนขายชาติ" ในคณะรัฐมนตรียอมทำตามญี่ปุ่น
คนเหล่านี้คือรัฐมนตรีทั้งห้า คือ อี วัน-ยง, อี กึน-แท็ก, อี จี-ยง, ควอน จุง-ฮย็อน และพัค เจ-ซุน ร่วมกันลงนามยอมรับ "สนธิสัญญาญี่ปุ่น-เกาหลีฉบับที่สอง ปี 2448" หรือ "สนธิสัญญาอึลซา" แม้ว่าพระเจ้าโคจงจะทรงปฏิเสธที่จะลงนามในสนธิสัญญาด้วยพระองค์เอง
พระเจ้าโคจงทรงพยายามส่งทูตลับ 3 คนไปที่การประชุมอนุสัญญาสันติภาพกรุงเฮกครั้งที่สองเพื่อพยายามย้ำว่าญี่ปุ่นไม่มีอำนาจเหนือเกาหลีรวมทั้งสนธิสัญญาญี่ปุ่น-เกาหลี 2448 (สนธิสัญญาอึลซา) ก็ไม่มีความชอบธรรม ทูตของพระเจ้าโคจงยืนยันสิทธิของกษัตริย์ในการปกครองเกาหลีโดยไม่ขึ้นกับญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม มหาอำนาจประเทศต่างๆ ในกรุงเฮกไม่อนุญาตให้ทูตเข้าร่วมการประชุมและขัดขวางภารกิจทางการทูตนี้เพราะดีลกับญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว
เกาหลีจึงตกเป็นรัฐอารักขาของญี่ปุ่นเพราะ "คนขายชาติทั้งห้าแห่งสนธิสัญญาอึลซา" เมื่ออิโต ฮิโรบูมิ ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่ของญี่ปุ่นประจำเกาหลี พวกคนขายชาติทั้งห้าต่างก็ได้ดิบได้ดีกันถ้วนหน้า
อี วัน-ยง ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2449 ถึง พ.ศ. 2453 และยังไม่พอเขายังเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการบังคับให้จักรพรรดิโคจงสละราชสมบัติในปี พ.ศ. 2450 หลังจากที่จักรพรรดิโคจงพยายามประณามสนธิสัญญาอึลซาที่ประชุมอนุสัญญาสันติภาพกรุงเฮกครั้งที่สอง
ในปี 2450 อี วัน-ยง ยังเป็นหัวหน้าในหมู่รัฐมนตรีทั้งเจ็ดที่สนับสนุนสนธิสัญญาญี่ปุ่น-เกาหลี พ.ศ. 2450 ซึ่งทำให้กิจการภายในของเกาหลีอยู่ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง พัค เจ-ซุน ซึ่งเป็นหนึ่งในคนขายชาติทั้งห้าได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ยังร่วมมือสนับสนุนสนับสนุนสนธิสัญญาญี่ปุ่น-เกาหลี พ.ศ. 2450 และสนธิสัญญาฯ ปี พ.ศ. 2453 จนสำเร็จลุล่วงด้วย ส่งผลให้การยึดเกาหลีเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นเสร็จสมบูรณ์
เสพสุขบนความทุกข์ของบ้านเมือง
หลังประเทศชาติของตนถูกญี่ปุ่นกลืน คนขายชาติเหล่านี้ก็ได้รับการอวยยศเป็นขุนนางญี่ปุ่น เช่น เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2453 พัค เจ-ซุนได้รับตำแหน่งขุนนางระดับไวส์เคาท์จากรัฐบาลญี่ปุ่นและได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรแห่งรัฐสภาญี่ปุ่น อี วัน-ยง ได้รรับตำแหน่งที่สูงกว่าเป็นมาร์ควิส และยังมั่งคั่งร่ำรวยจากการยอมเป็น "ข้ารับใช้" ของญี่ปุ่น
อัน วัน-ยง นั้นความมั่งคั่งของเขาที่พอกพูนขึ้นมาจากขายประเทศของตัวเองให้ญี่ปุ่นในตอนนี้มีมูลค่าหลายล้านล้านวอน เป็นเจ้าของที่ดินมากกว่า 130 ล้านพย็อง (1 พย็องเท่ากับ 3.3058 ตารางเมตร) ว่ากันว่าในยุคที่เกาหลีตกเป็นเมืองขึ้่นญี่ปุ่นนั้น พวกขายชาติเหล่านี้เป็นพวกที่มั่งคั่งที่สุดในบรรดาคนชั้นสูงของเกาหลี
เล่ากันว่า อี กึน-แท็ก หนึ่งในรัฐมนตรีขายชาติหลังจากลงนามในสนธิสัญญาอึลซาแล้วกลับมาบ้าน บอกกับคนในบ้านด้วยความยินดีกว่า "ครอบครัวเราจะรวยกันใหญ่แล้วนับจากนี้ เราจะมีวาสนาไม่สิ้นสุดในภายภาคหน้า" เมื่อคนครัวที่กำลังแล่เนื้อได้ยินเข้าก็สับมีดลงบนเขียงดังปัง แล้ววิ่งออกจากบ้านไปพลางร้องตะโกนว่าตัวเขามารับใช้คนขายชาติเสียแล้ว ส่วนคนรับใช้ที่ทำหน้าที่เย็บผ้าก็ประณามเจ้านายแล้วออกจากบ้านไปเช่นกัน
คนเกาหลีมีความโกรธแค้นคนขายชาติเหล่านี้มาก และตั้งกลุ่มลอบสังหารขึ้นมา เช่นกลุ่ม "ซันอินโจ อัมซัลดัน" แม้แต่อิโต ฮิโรบูมิ ก็ถูกลอบสังหารด้วย เพียงแต่พวกคนขายชาติกลับมีอายุยืนกว่าอิโตและเสวยสุขขณะที่ประชาชนชาวเกาหลีต้องถูกกดขี่และลบล้างอัตลักษณ์ความเป็นคนเกาหลีเพื่อกลืนชาติให้เป็นญี่ปุ่น
คนทรยศขายชาติเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ 5 คน แต่ยังมีทั้งสิ้น 15 คนที่ลงนามในสนธิสัญญามอบอำนาจให้ญี่ปุ่นฉบับต่างๆ หรือสมคบกับญี่ปุ่นเพื่อขายชาติ เช่น "คนขายชาติอึลซาทั้งห้า" ลงนามในสนธิสัญญาอึลซา "คนขายชาติชองมีทั้งเจ็ด" ลงนามในสนธิสัญญาชองมีในปี 2450 "คนขายชาติคย็องซุลทั้งเก้า" ที่ลงนาในสนธิสัญญาคย็องซุล
คนขายชาติเหล่านี้ หากรอดชีวิตจากถูกประชาชนผู้รักชาติลอบสังหารมาได้ ลูกหลานของพวกเขาก็อยู่ไม่เป็นสุข
ลูกหลานพลอยรับเคราะห์
อี วัน-ยง เมื่อตายไปนั้นถูกฝังสุสานที่ภูเขานังซันอันห่างไกล เพราะกลัวว่าคนจะตามไปทำลายสุสาน แม้แต่ก่อนการปลดปล่อยเกาหลีเป็นเอกราช ฃก็มีการทำลายสุสานบ่อยครั้งแล้ว เจ้าหน้าที่สายตรวจของญี่ปุ่นจึงต้องคอยปกป้องสุสาน หลังจากการปลดปล่อย สุสานยังคงถูกทำลายต่อไป ในที่สุดในปี 2522 ทายาทสายตรงได้ทำลายสุสานทั้งหมดและศพก็ถูกเผา ส่วนหลุมฝังศพของเขาถูกแปลงเป็นเหมืองหินไม่เหลือร่องรอยอีก เรียกว่า "ตายไม่เหลือซาก"
หลังจากการปลดปล่อยเกาหลีเป็นอิสรภาพในปี 2488 ครอบครัวและลูกหลานของอี วัน-ยง ถูกคนด่าทอและขว้างด้วยก้อนหินไม่ว่าจะไปที่ไหน หลานชายคนโตหายตัวไประหว่างสงครามเกาหลี และหลานชายคนที่สองทนผู้คนประณามไม่ไหวต้องหนีไปญี่ปุ่นแล้วกลายเป็นคนญี่ปุ่นที่ได้รับสัญชาติญี่ปุ่น บางคนอพยพขนทรัพย์สินหนีไปแคนาดา
ลูกหลานของคนขายชาติเหล่านี้ต้องรับกรรมของบรรพชนของพวกเขา เมื่อเกาหลีใต้ได้รับเอกราชแล้ว ได้มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดต่อต้านชาติในปี พ.ศ. 2491 ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีอี ซึง-มัน เพื่อดำเนินคดีกับพวกขายชาติให้ญี่ปุ่นมีการส่งคำฟ้อง 221 คดี บางคนมีโทษถึงประหาร
หลังจากผ่านสมัยของอี ซึง-มันแล้วไม่ได้มีการเล่นงานพวกขายชาติอีกอาจเป็นเพราะเกาหลีตกอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการ แต่มีการเรียกชื่อคนกลุ่มนี้เป็นกิจลักษณะขึ้นโดยเรียกว่า "ชินอิลปา" หรือฝ่ายโปรญี่ปุ่น ในช่วงทศวรรษที่ 80 และ 90 การล้างแค้นพบชินอิลปาก็เริ่มได้รับการสนับสนุนมากขึ้นในขณะที่เกาหลีใต้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
จนกระทั่งมีการผ่านกฎหมายพิเศษในการยึดทรัพย์สินของผู้สมคบที่สนับสนุนชาวญี่ปุ่น สภาแห่งชาติเกาหลีใต้ผ่านมติรับรองเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2548 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2548 ภายใต้กฎหมายนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้สามารถยึดที่ดินและทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เป็นเจ้าของโดยพวกชินอิลปา และลูกหลานของพวกนี้ ส่วนทรัพย์สินที่ถูกริบมาจะถูกนำไปชดเชยนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนอิสรภาพของเกาหลีและลูกหลานของวีรชนเหล่านี้
และในปี 2550 คณะกรรมการสอบสวนทรัพย์สินพวกชินอิลปาได้ตัดสินใจยึดทรัพย์สินของ อี วัน-ยงมาเป็นของรัฐ
โดย กรกิจ ดิษฐาน