AUKUS ทำอินโด-แปซิฟิกระอุ 3 ชาติจับมือสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์
อินโดนีเซียหวั่นประเทศมหาอำนาจแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ในอินโด-แปซิฟิก
สืบเนื่องจากที่สหรัฐ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ประกาศความร่วมมือด้านความมั่นคง "AUKUS" เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าจะเป็นการคานอำนาจของจีนที่กำลังแผ่อิทธิพลในภูมิภาคนี้
โดยความร่วมมือดังกล่าวจะเอื้อให้ทั้ง 3 ประเทศแบ่งปันเทคโนโลยีทางทหาร ตลอดจนการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งจะส่งผลให้ออสเตรเลียสามารถสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นเป็นครั้งแรก และกลายเป็นประเทศที่ 7 ของโลกนอกเหนือจากสหรัฐ, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, จีน และอินเดีย ที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง
ส่งผลให้อินโดนีเซียออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยกระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์ในวันนี้ (17 ก.ย.) ระบุว่า "อินโดนีเซียมีความกังวลอย่างยิ่งต่อการแข่งขันด้านอาวุธในภูมิภาคนี้" พร้อมกล่าวว่ากำลังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเรียกร้องให้ออสเตรเลียรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ตลอดจนเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ
ด้านนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลียกล่าวว่าอินโดนีเซียได้รับแจ้งเกี่ยวกับความร่วมมือดังกล่าวแล้ว และจะมีการพูดคุยกับประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ของอินโดนีเซียในเร็วๆ นี้
ท่ามกลางความตึงเครียดบนพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ที่ร้อนระอุ โดยกองทัพเรืออินโดนีเซียเผยว่าได้เพิ่มเรือลาดตระเวนรอบหมู่เกาะนาทูนาในสัปดาห์นี้หลังพบเรือของจีนและสหรัฐในน่านน้ำของประเทศ
ขณะที่หลายประเทศพยายามต่อต้านการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของจีน รวมถึงประเทศพิพาทอย่างบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม รวมไปถึงไต้หวันด้วย ด้านบรรดาชาติตะวันตกก็กำลังกังวลต่ออิทธิพลของจีนที่กำลังแผ่ขยายไปทั่วภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ทั้งนี้ AUKUS จะมีผลบังคับใช้ในอีก 18 เดือนข้างหน้า โดยออสเตรเลียตั้งใจจะสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ถึง 8 ลำซึ่งจะได้รับความร่วมมือจากสหรัฐและสหราชอาณาจักร แต่ยืนยันว่าจะไม่ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเรือดำน้ำ
Photo by Brendan Smialowski / AFP