อินเดียส่อแววถูกทิ้ง สหรัฐหันผนึกกำลังออสเตรเลีย-อังกฤษ
หรืออินเดียจะถูกลอยแพ หลังสหรัฐจ่อช่วยออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำนิวเคลียร์ต้านจีน
สืบเนื่องจากการที่สหรัฐร่วมมือกับสหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ประกาศความร่วมมือด้านความมั่นคง "AUKUS" เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าจะเป็นการคานอำนาจของจีนที่กำลังแผ่อิทธิพลในภูมิภาคนี้
โดยความร่วมมือดังกล่าวจะเอื้อให้ทั้ง 3 ประเทศแบ่งปันเทคโนโลยีทางทหาร ตลอดจนการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งจะส่งผลให้ออสเตรเลียสามารถสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นเป็นครั้งแรก
ทว่า อรุณ ประกาศ (Arun Prakash) อดีตผู้บัญชาการทหารเรืออินเดียทวีตเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าความร่วมมือดังกล่าวอาจทำให้รัฐบาลอินเดียไม่พอใจ
"เป็นเวลาหลายปีแล้วที่สหรัฐ บอกอินเดียว่ากฎหมายของอเมริกาทำให้ไม่สามารถแบ่งปันเทคโนโลยีขับเคลื่อนนิวเคลียร์กับใครได้ รวมถึงประเทศพันธมิตร" เขากล่าว
For years, US has been telling India that their laws make it impossible to share nuclear-propulsion tech with anyone, including allies. Even the Indo-US Nuclear deal & signing of all four ‘foundational agreements’ did not seem to matter. And now this… https://t.co/9QdLaXUStE
— Arun Prakash (@arunp2810) September 16, 2021
ย้อนกลับไปในปี 2008 อินเดียและสหรัฐได้ลงนามในข้อตกลง ซึ่งสหรัฐตกลงที่จะร่วมมือด้านนิวเคลียร์กับอินเดีย แต่ข้อตกลงนี้ไม่ครอบคลุมถึงความร่วมมือด้านนิวเคลียร์ทางทหาร
ในปีถัดมา ทั้งสองประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาซึ่งครอบคลุมความร่วมมือทางทหารอย่างลึกซึ้งและการเข้าถึงอาวุธที่ซับซ้อน ทว่า ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมถึงเทคโนโลยีนิวเคลียร์ทางการทหารเช่นเคย
แต่ตอนนี้ AUKUS จะทำให้สหรัฐแบ่งปันเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์กับออสเตรเลีย ท่ามกลางความพยายามตอบโต้อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
จึงเกิดคำถามว่าทำไมที่ผ่านมาอินเดียจึงไม่ได้รับการเข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐในลักษณะเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม นาวเตช สารนา (Navtej Sarna) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำกรุงวอชิงตันระหว่างปี 2016 ถึง 2018 มองว่า ไม่ควรเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอินเดีย และออสเตรเลีย เนื่องจากมีประวัติศาสตร์และพลวัตที่แตกต่างกัน
พร้อมกล่าวอีกว่าอินเดียควรพิจารณาความหมายของสนธิสัญญา AUKUS ซึ่งหากมันช่วยต่อต้านจีนในภูมิภาคได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่ออินเดียไปด้วย
เศขระ สิงหะ (Shekhar Sinha) อดีตผู้บัญชาการกองทัพเรืออินเดียกล่าวว่าการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของออสเตรเลียจะมี "ผลกระทบสำคัญ" ต่อความสมดุลของอำนาจในอินโด-แปซิฟิก
ด้านรัฐบาลอินเดียยังไม่ได้ตอบโต้หรือแสดงความเห็นใดๆ อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับข้อตกลง AUKUS
โดยรัชนาถ สิงห์ (Rajnath Singh) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอินเดียกล่าวว่ารัฐบาลอินเดียกำลังศึกษาเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว
หลังจากที่ได้พุดคุยกับลอยด์ ออสติน (Lloyd Austin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลสหรัฐจะยังคงร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอินเดียเช่นเคย และข้อตกลง AUKUS จะไม่ส่งผลกระทบต่อความร่วมมือระหว่างสหรัฐและอินเดีย
รวมไปถึงความร่วมมือกลุ่มจตุภาคีด้านความมั่นคง (Quad) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐ อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในขณะที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการคานอำนาจของจีนที่กำลังเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาค
โดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมที (Narendra Modi) ของอินเดียมีกำหนดเยือนวอชิงตันเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มจตุภาคีด้านความมั่นคง (Quad) ร่วมกับสหรัฐ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ในวันที่ 24 กันยายนที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายกังวลว่าข้อตกลง AUKUS จะลดความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มจตุภาคี Quad ลงไปได้
ที่มา Times of India, South China Morning Post
ภาพโดย REUTERS/Tom Brenner