posttoday

Bokassa เผด็จการทหารที่ตั้งตัวเองเป็นจักรพรรดิ

28 กันยายน 2564

แถบแอฟริกาขึ้นชื่อเรื่องการทำรัฐประหาร แต่ไม่มีใครกล้าหาญและบ้าบิ่นเท่ากับ ฌ็อง เบเดล โบกัสซา แห่งแอฟริกากลาง ที่สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ

ครั้งหนึ่งแอฟริกากลางที่เพิ่งได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 1960 ต้องถอยหลังกลับไปสู่ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้การปกครองของชายคนหนึ่งที่กล้าและบ้าบิ่นสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นจักรพรรดิและถูกขนานนามว่าเป็นจอมเผด็จการที่โหดเหี้ยมที่สุดคนหนึ่งของแอฟริกา แถมยังมีข่าวลือว่าเขากินเนื้อคน

ผู้ชายธรรมดาที่กล้าสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นจักรพรรดิเพียงองค์เดียวของแอฟริกากลางคือ ฌ็อง เบเดล โบกัสซา (Jean-Bédel Bokassa) ลูกชายของหัวหน้าหมู่บ้าน Bobangui ในแอฟริกากลางซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ French Equatorial Africa ซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในแอฟริกากลาง โดยมีพี่น้องที่คลานตามกันมาอีก 11 คน

ชีวิตวัยเด็ก

พ่อของโบกัสซาทำงานให้กับกรมป่าไม้ของฝรั่งเศสและมีหน้าที่จัดหาแรงงานให้เจ้าอาณานิคมที่ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ทั้งยังจับครอบครัวของคนงานท้องถิ่นไว้เป็นตัวประกันป้องกันการหลบหนี วันหนึ่งพ่อของโบกัสซาทนไม่ไหวกับการกระทำของฝรั่งเศสจึงแอบปล่อยเพื่อนบ้านที่ถูกจับตัวไว้ จึงถูกฝรั่งเศสจับตัวและทุบตีจนเสียชีวิต ส่วนแม่ที่ตรอมใจจากการเสียสามีก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายตามไปในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา โบกัสซาในวัย 6 ขวบและพี่น้องจึงกลายเป็นกำพร้า

โบกัสซามีญาติรับไปเลี้ยงดูและได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาฝรั่งเศสที่ก่อตั้งโดยมิสชันนารี และด้วยความเป็นเด็กกำพร้า ตัวเตี้ย และไม่ค่อยแข็งแรงจึงถูกเพื่อนๆ ล้อเลียนและรังแก

ที่โรงเรียนโบกัสซาชอบหนังสือไวยากรณ์ฝรั่งเศสเล่มหนึ่งของผู้เขียนชื่อ ฌ็อง เบเดล ครูจึงเรียกเขาว่า ฌ็อง เบเดล จนชื่อนี้กลายเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของเจ้าตัว

หลังจากเรียนจบชั้นมัธยม โบกัสซาในวัย 18 ปีตัดสินใจเข้าเป็นทหารในกองทัพอาณานิคมฝรั่งเศสในตำแหน่งทหารราบแนวหน้าในเดือน พ.ค. 1939

ชีวิตในกองทัพ

โบกัสซาได้รับการเลื่อนยศเป็นสิบโทในเดือน ก.ค. 1940 และจ่าสิบเอกในเดือน พ.ย. 1941 หลังจากนาซีเยอรมันยึดครองฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โบกัสซาเข้าร่วมกองกำลังปลดปล่อยฝรั่งเศสและสามารถต่อต้านรัฐบาลหุ่นเชิดของนาซีเยอรมันในฝรั่งเศส (Vichy government) จนสามารถล้มรัฐบาลนี้ที่เมืองบราซซาวิลในคองโกได้สำเร็จ

ต่อมาโบกัสซาได้รับคัดเลือกเข้าร่วมกับกองทัพฝรั่งเศสในการต่อสู้กับกองทัพนาซี และมีส่วนร่วมในปฏิบัติการ Dragoon ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถยกพลขึ้นบก และยึดเอาท่าเรือที่สำคัญทางตอนใต้ของฝรั่งเศสกลับมาจากการครอบครองของนาซีได้สำเร็จ

หลังสิ้นสุดสงครามโบกัสซาเข้าเรียนต่อในโรงเรียนทหารของฝรั่งเศสในด้านวิทยุสื่อสาร และโรงเรียนฝึกทหารในเซเนกัล ต่อมาในปี 1950 โบกัสซาเข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนในฐานะทหารสื่อสารรวมทั้งร่วมรบด้วย หลังสงครามจบลงในเดือน มี.ค 1953 โบกัสซาได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Légion d'honneur ซึ่งเป็นเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของฝรั่งเศส และเหรียญกล้าหาญ Croix de guerre รวมทั้งสัญชาติฝรั่งเศส

ระหว่างประจำอยู่ที่เวียดนาม 3 ปี โบกัสซาแต่งงานกับเหงียนถิฮุย หญิงชาวเวียดนามวัย 17 ปี และมีลูกสาวด้วยกัน 1 คน หลังจากนั้นเขาถูกเรียกตัวกลับโดยต้องทิ้งภรรยาและลูกไว้ที่เวียดนามโดยหวังว่าเข้าจะได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ที่เวียดนามอีก แต่สุดท้ายก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย

หลังจากกลับฝรั่งเศส โบกัสซาทำหน้าที่เป็นครูสอนด้านวิทยุสื่อสารแก่ทหารใหม่แอฟริกัน และได้รับการเลื่อนขั้นต่อเนื่อง ทั้งร้อยตรีในปี 1956 และร้อยโทในอีก 2 ปีหลังจากนั้น และหลังจากออกจากบ้านเกิดไปกว่า 20 ปี โบกัสซาได้ย้ายมาประจำที่เมืองบังกีอีกครั้ง โดยได้รับการเลื่อนขั้นเป็นร้อยเอกในปี 1961

ขณะที่ Ubangi-Chari ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ French Equatorial Africa ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสและกลายเป็นสาธารณรัฐแอฟริกากลางในปี 1960 โดยมี เดวิด ดัคโก เป็นประธานาธิบดีคนแรกของแอฟริกากลาง และประธานาธิบดีคนนี้ยังเป็นลูกพี่ลูกน้องของโบกัสซา

ปี 1962 โบกัสซาลาออกจากกองทัพฝรั่งเศสและเข้าประจำการในกองทัพแอฟริกากลางในตำแหน่งพันโท และด้วยความที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับประธานาธิบดีเข้าจึงได้รับหน้าที่ให้จัดตั้งกองทัพของแอฟริกากลาง ไม่นานโบกัสซาก็ได้เป็นผู้บัญชาการกองทัพแอฟริกากลางที่มีทหาร 500 นาย

ด้วยความที่เป็นญาติกับประธานาธิบดีดัคโกและประสบการณ์รบในต่างประเทศกับกองทัพฝรั่งเศส โบกัสซาจึงได้รับการเลื่อนยศอย่างรวดเร็วจนขึ้นเป็นพันเอกคนแรกของประเทศเมื่อปี 1964

โบกัสซาต้องการเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำกองทัพ เขามักจะปรากฏตัวในที่สาธารณะด้วยชุดเครื่องแบบเต็มยศ รวมทั้งประดับเข็มมากมายเต็มหน้าอก และมักจะนั่งติดกับประธานาธิบดีดัคโกในงานพิธีต่างๆ เพื่อแสดงว่าตัวเองมีความสำคัญต่อรัฐบาล และมักจะทะเลาะกับคนในคณะรัฐมนตรีเรื่องตำแหน่งที่นั่งบ่อยๆ

ในช่วงนั้นหลายคนเตือนประธานาธิบดีดัคโกว่าโบกัสซาอาจทำรัฐประหารซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในแถบแอฟริกา แต่ประธานาธิบดีดัคโกกลับไม่เชื่อและครั้งหนึ่งเคยพูดว่า “นายพลโบกัสซาแค่อยากได้เหรียญมาติดหน้าอกเท่านั้น และเขาก็โง่เกินกว่าจะทำรัฐประหาร”

ความสัมพันธ์ตึงเครียด

ทว่าภายหลังประธานาธิบดีดัคโกเริ่มเชื่อคำเตือนและระวังตัวมากขึ้น ฌ็อง อาร์เธอร์ บันดิโอ รั{มนตรีกลาโหมแนะนำให้ดัคโกแต่งตั้งโบกัสซาเป็นรัฐมนตรีเพื่อให้เขาห่างจากกองทัพลดโอกาสก่อรัฐประหารและยังเป็นการทำให้โบกัสซาซึ่งหลงใหลในยศฐาพึงพอใจ นอกจากนี้ประธานาธิบดียังจัดตั้งกองตำรวจติดอาวุธ 500 นายขึ้นมาถ่วงอำนาจกับกองทัพของโบกัสซา และหน่วยรักษาความปลอดภัยประธานาธิบดีอีก 120 นาย

ยึดอำนาจ

ด้วยปัญหาหลายอย่างของแอฟริกากลาง รวมทั้งการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลและนักการเมือง โบกัสซาเริ่มรู้สึกว่าเขาต้องยึดอำนาจรัฐบาลประธานาธิบดีดัคโกเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ ระหว่างนั้นทั้งดัคโกและโบกัสซาเริ่มระหองระแหงกันรุนแรงและมีการหักเหลี่ยมลูบคมกันตลอดเวลา ทั้งสองฝ่ายต่างวางแผนโค่นอีกฝ่ายหนึ่ง จนในที่สุดโบกัสซาก่อการรัฐประหารยึดอำนาจประธานาธิบดีดัคโกช่วงค่ำของวันที่ 31 ธ.ค. 1965 แล้วตั้งตัวเองเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของแอฟริกากลาง

แต่ที่ต่างจากการทำรัฐประหารของนายทหารทั่วไปคือ โบกัสซาไม่หยุดแค่การเป็นประธานาธิบดี หลังดำรงตำแหน่งผู้นำแอฟริกากลาง 10 ปี โบกัสซาเปลี่ยนรัฐธรรมนูญของประเทศโดยเปลี่ยนจากสาธารณรัฐมาเป็น “จักรวรรดิแอฟริกากลาง” และสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิโบกัสซาที่ 1 ในปี 1977

ต่อมาโบกัสซาจัดพิธีราชาภิเษกอย่างหรูหรา มีการสั่งนำเข้าแชมเปญชั้นนำของโลกอย่าง Moët & Chandon ถึง 24,000 ขวด และ Château Mouton-Rothschild และ Château Lafite Rothschild อีก 4,000 ขวด รวมทั้งยังสั่งรถยนต์เมอร์เซเดสอีก 60 คันจากเยอรมนี โดยให้ขนส่งมายังแคเมอรูนแล้วขนขึ้นเครื่องบินข้ามป่าของแอฟริกากลางมายังกรุงบังกี

โบกัสซายังสั่งทำมงกุฎเพชรราคา 5 ล้านเหรียญสหรัฐ จ้างดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสออกแบบผ้าคลุมกำมะหยี่ยาว 20 ฟุต สั่งให้สร้างบัลลังก์รูปนกอินทรีตัวใหญ่ทำจากทองคำ สร้างรูปปั้นขนาดใหญ่ของตัวเอง และส่งม้าไปฝึกถึงฝรั่งเศส ซึ่งทั้งหมดนี้ผลาญงบประมาณของแอฟริกากลางไปราว 20 ล้านเหรียญสหรัฐในขณะที่ประชาชนตาดำๆ แทบไม่มีกิน

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นจักรวรรดิและการสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิของโบกัสซาได้แรงบันดาลใจมาจากจักรพรรดินโปลีอง โบนาปาร์ต แห่งฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงและผลงานยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นฮีโร่ในดวงใจของโบกัสซา ที่ต่างกันคือ ที่สุดแล้วแอฟริกากลางภายใต้การปกครองของโบกัสซายังเป็นแบบเผด็จการทหารเหมือนเดิม

หนำซ้ำในระดับนานาชาติไม่มีใครยอมรับสถานะจักรพรรดิของโบกัสซา ยกเว้นฝรั่งเศสที่ยังหนุนหลังเขาอยู่ ขณะที่สื่อตะวันตกโดยเฉพาะในฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐมองว่าเขาเป็นตัวตลกและมักจะนำเขาไปเปรียบเทียบกับเผด็จการแห่งอูกันดาอย่าง อีดี อาร์มิน ที่มีชื่อเสียพอๆ กัน

วีรกรรมโจษจันของจักรพรรดิโบกัสซา นอกจากตั้งตนเป็นใหญ่คือคำสั่งฆ่าคนเห็นต่าง ออกคำสั่งให้ตัดหูคนขโมยของ กำจัดกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามให้สิ้นซาก เขามักใช้ให้ข้าราชบริพารจับคนโยนให้จระเข้กับสิงโตที่เลี้ยงไว้ดูเล่นกินร่างมนุษย์ทั้งเป็น ชื่นชอบดูการทรมานเช่นการใช้โซ่รัดกายหรือเอาค้อนทุบหัว

ทั้งยังมีข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วว่าจักรพรรดิโบกัสซานิยมกินเนื้อมนุษย์ เสิร์ฟอาหารทำจากเนื้อมนุษย์ให้กับแขกของประเทศ มีร่างเด็กถูกหั่นแช่ไว้ในตู้เย็นของครัวหลวง และยังมีเรื่องเล่าว่าในงานเลี้ยงทางการทูตงานหนึ่ง เขาหันไปกระซิบกับรัฐมนตรีฝรั่งเศสว่า “คุณอาจไม่ได้สังเกต แต่คุณกินเนื้อมนุษย์ไปแล้ว” อย่างไรก็ตามข่าวลือนี้ไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่

ถูกรัฐประหาร

ช่วงต้นปี 1979 แรงสนับสนุนจากฝรั่งเศสก็เริ่มแผ่วลงหลังเกิดการจลาจลเกี่ยวกับอาหารในกรุงบังกีจนนำมาสู่การสังหารประชาชน โดยฟางเส้นสุดท้ายของฝรั่งเศสคือ การจับกุมนักเรียนประถมทั่วประเทศที่ออกมาประท้วงคำสั่งของรัฐบาลที่ให้สวมเครื่องแบบที่มีรูปของโบกัสซาและถูกตัดเย็บโดยบริษัทที่ภรรยาของโบกัสซาเป็นเจ้าของทำให้ราคาสูงลิ่วจนหลายคนไม่มีเงินซื้อ โดยมีนักเรียนถูกสังหารกว่า 100 คน

เหตุการณ์นี้ทำให้ฝรั่งเศสรับไม่ได้จึงส่งกองทัพเข้ามาโค่นอำนาจโบกัสซาแล้วตั้ง เดวิด ดักโก กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ส่วนโบกัสซาต้องลี้ภัยไปไอวอรีโคสต์ในปี 1979 ก่อนจะไปขอลี้ภัยทางการเมืองที่ฝรั่งเศสโดยอาศัยความดีความชอบที่เคยรับราชการในกองทัพฝรั่งเศส

ปี 1980 โบกัสซาถูกตัดสินลับหลังจำเลยให้ประหารชีวิตในข้อหาลอบสังหาร ซ่อนเร้นอำพรางศพ ยักยอก ต่อมาเขาตัดสินใจเดินทางกลับจากฝรั่งเศสมายังแอฟริกากลางในปี 1986 จนถูกจับตัวและถูกดำเนินคดีอีกครั้งซึ่งศาลยังคงพิพากษาให้ประหารชีวิต ก่อนจะค่อยๆ ลดโทษเรื่อยมาเหลือจำคุกตลอดชีวิตและใช้แรงงาน 20 ปี และเหลือใช้แรงงาน 10 ปี ก่อนจะได้รับอิสรภาพในวันที่ 1 ก.ย. 1993

จากนั้นโบกัสซากลับมาใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในบ้านเกิดและเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่อปี 1996 ขณะอายุ 75 ปี หลังจากนั้นประธานาธิบดี ฟรองซัว โบซิส ซึ่งทำรัฐประหารเข้ามาเช่นกัน ประกาศนิรโทษกรรมให้แก่โบกัสซาเมื่อปี 2010 ในโอกาสครบรอบ 50 ปีที่แอฟริกากลางได้รับอิสรภาพ

ภาพ: National Archives