posttoday

เรื่องที่เรารู้และยังไม่รู้เกี่ยวกับ 'โอไมครอน' (Omicron)

29 พฤศจิกายน 2564

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ 'โอไมครอน' หลังกระจายไปแล้ว 13 ประเทศทั่วโลก

โอไมครอนคืออะไร?

โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 หรือที่องค์การอนามัยโลกตั้งชื่อว่า "โอไมครอน" (Omicron) ที่ตรวจพบในแอฟริกาใต้ ถูกจัดให้เป็นโควิด-19 สายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern : VOC) เช่นเดียวกับสายพันธุ์อัลฟาที่พบครั้งแรกในประเทศอังกฤษ, สายพันธุ์เดลตาที่พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย, สายพันธุ์แกมมาที่พบครั้งแรกในประเทศบราซิล และสายพันธุ์เบตาที่พบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้

โดยพบการกลายพันธุ์ที่ "มากผิดปกติ" ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์กังวลว่าไวรัสตัวนี้จะมัศักยภาพในการแพร่เชื้อและหลบเลี่ยงวัคซีนมากกว่าไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ขณะที่แอฟริกาใต้รายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นอย่างไร?

โอไมครอนมีการกลายพันธุ์มากถึง 50 ตำแหน่ง ซึ่งมากกว่าสายพันธุ์เดลตาที่แพร่ระบาดอย่างหนักในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าการกลายพันธุ์มากกว่า 30 ตำแหน่งเกิดขึ้นที่โปรตีนหนาม (spike protein) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไวรัสสามารถเข้าสู่เซลล์ของร่างกายมนุษย์ จึงเกิดความวิตกว่าการกลายพันธุ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้ไวรัสมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีน

"การวิเคราะห์เบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าไวรัสสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์จำนวนมาก และจะต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติม" องค์การอนามัยโลกกล่าว

แพร่ไปไกลแค่ไหนแล้ว?

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน โดยสำนักข่าวรอยเตอร์สระบุว่าขณะนี้พบเชื้อดังกล่าวใน แอฟริกาใต้ บอตสวานา อิสราเอล อิตาลี เบลเยียม เยอรมนี เดนมาร์ก ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส แคนาดา และฮ่องกง

ขณะที่หลายประเทศได้กำหนดมาตรการจำกัดการเดินทาง หรือระงับการเดินทางระหว่างแอฟริกาใต้เพื่อพยายามยับยั้งการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน และป้องกันไม่ให้แพร่กระจายเข้าสู่ประเทศ

อาการรุนแรงแค่ไหน?

เบื้องต้นทราบว่าโอไมครอนมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง แต่องค์การอนามัยโลกระบุว่าขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าไวรัสดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยรุนแรงมากกว่าโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ หรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

อย่างไรก็ตามดร. แองเจลีค คูตซี (Angelique Coetzee) ประธานสมาคมการแพทย์แห่งแอฟริกาใต้กล่าวว่าผู้ป่วยหลายสิบรายที่เธอพบในช่วงกว่สัปดาห์ที่ผ่านมาแสดงอาการเพียงเล็กน้อย อาทิ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ไอแห้ง อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย และฟื้นตัวเต็มที่โดยไม่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล

นอกจากนี้เธอยังไม่พบผู้ป่วยคนใดสูญเสียกลิ่นหรือรับรส ซึ่งต่างจากสายพันธุ์เดลตา รวมถึงไม่พบว่าผู้ป่วยมีระดับออกซิเจนลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย

คูตซีกล่าวว่าโชคไม่ดีที่โอไมครอนถูกปั่นให้เป็น "ไวรัสที่อันตรายอย่างยิ่ง" เนื่องจากมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งในขณะที่ยังไม่ทราบถึงความร้ายแรงจริงๆ ของมัน

"เราไม่ได้บอกว่าจะไม่มีโรคร้ายแรงเกิดขึ้น แต่สำหรับตอนนี้ผู้ป่วยที่เราได้เห็นมีอาการเพียงเล็กน้อย แม้แต่ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน" คูตซีกล่าว

วัคซีนสู้ได้ไหม?

เนื่องจากโอไมครอนมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งจึงทำให้เกิดความกังวลว่าวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนามาเพื่อต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบครั้งแรกในอู่ฮั่นจะมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อต้องรับมือกับโอไมครอน

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกกล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปในตอนนี้ และจำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อศึกษาพฤติกรรมของไวรัสตลอดจนประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ผู้ผลิตวัคซีนหลายรายได้ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าว โดย BioNTech ผู้พัฒนาวัคซีนจากเยอรมนีกล่าวว่าทางบริษัททราบถึงความกังวลที่เกิดขึ้น และจะศึกษาเพิ่มเติมเพื่อตัดสินใจว่าจะต้องพัฒนาวัคซีนกันอีกครั้งหรือไม่

ด้าน AstraZeneca แถลงว่ากำลังทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีนนี้และผลกระทบต่อวัคซีน และกำลังทดสอบแอนติบอดี AZD7442 กับสายพันธุ์ใหม่นี้และหวังว่าแอนติบอดีจะยังคงรักษาประสิทธิภาพไว้ได้

ขณะที่ Moderna คาดว่าจะทราบเกี่ยวกับความสามารถของวัคซีนในปัจจุบันเกี่ยวกับให้การต้านไวรัสโอไมครอนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งหากจำเป็นต้องพัฒนาวัคซีนใหม่คาดว่าจะพร้อมในต้นปี 2022

สำหรับ Novavax กล่าวว่าบริษัทได้เริ่มทำงานเพื่อพัฒนาวัคซีนโควิด-19 รุ่นหนึ่งซึ่งกำหนดเป้าหมายไปที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่โดยเฉพาะ และจะพร้อมสำหรับการทดสอบและการผลิตในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

น่ากังวลขนาดไหน?

องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern : VOC) แต่ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่ามันมีความอันตรายร้ายแรงมากกว่าโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ หรือไม่อย่างไร ซึ่งขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญกำลังเร่งศึกษาเพื่อประเมินศักภาพของไวรัส และประสิทธิภาพของวัคซีนในการรับมือกับไวรัสดังกล่าว

Photo by JEFF PACHOUD / AFP