posttoday

ตลาดหุ้นจะ 'พัง' และน้ำมันจะ 'พุ่ง' แค่ไหนถ้าเกิดสงคราม?

14 กุมภาพันธ์ 2565

บทความทัศนะ - การทำสงครามเพื่อเกียรติยศและศักดิ์ศรี เป็นสงครามของพระราชายุคโบราณ

กับผู้นำยุคใหม่ การทำสงครามคือการแย่งชิง "ทุน" และ "ทรัพยากร" มันอาจจะอยู่ในรูปของดินแดนหรือผู้คนก็ได้

นักทฤษฎีสมคบคิดอาจจะเชื่อว่าสงครามยุคใหม่เป็นการยั่วยุของนักอุตสาหกรรมอาวุธที่มีอิทธิพลเหนือบางประเทศ คนพวกนี้กระหายสงคราม เพราะสงครามจำเป็นต้องใช้อาวุธ

บางทฤษฎีสมคบคิดเชื่อว่าผู้นำบางคนก่อสงครามเพื่อกลบเกลื่อนความผิดพลาดในบ้านตัวเอง

ไม่ว่าจะอย่างไร สงครามยุคนี้เกี่ยวพนกับเศรษฐกิจโลกจนแยกออกแทบไม่ได้ อย่างที่เห็นว่าข่าวการรเกิดสงครามทำให้ "ทุน" ในตลาดสะดุ้งอยู่เรื่อยๆ ทั้งทุนในตลาดเงินและทุนที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์

แต่ก็ดูเงื่อนไขหลายๆ อย่างด้วย ไม่ใช่ว่าพอเกิดสงครามขึ้นมาจะทำให้เศรษฐกิจโลก-ตลาดทุนถึงกาลล่มสลาย

อย่างรัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของโลกส่วนยูเครนอยู่ในอันดับ 6 ของโลก กลิ่นของสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจึงทำให้ราคาข้าวสาลีทะยานขึ้นมา

แต่ในบรรดาสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมันมีความเปราะบางที่สุด นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าน้ำมันก็จ่อจะถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและบางคนว่าอาจจะไปถึง 120 ดอลลาร์

นั่นพราะรัสเซียคือผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก หากมีการคว่ำบาตรรัสเซียขึ้นมา การส่งออกน้ำมันจะมีปัญหาแน่นอน รวมถึงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ส่งออกมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก

แต่เพราะทุกประเทศในโลกต้องการน้ำมันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในยุหลังโควิด (ที่เชื่อว่าน่าจะใกล้ปิดฉากแล้ว) การคว่ำบาตรน้ำมัน-ก๊าซจากรัสเซียจึงเป็นการฆ่าตัวตายกันเห็นๆ

ดังนั้นเราจึงเห็นชาติตะวันตกขู่รัสเซียโดยใช้คำว่า ถ้าบุกยูเครนล่ะก็ รัสเซียจะเจอกับผลกระทบที่หนักหน่วง แต่ไม่ยอมบอกตรงๆ ว่าจะคว่ำบาตร เพราะมันเป็นคำที่สุ่มเสี่ยงเกินไปที่จะ "เข้าตัว"

เหมือนสำนวนภาษาอังกฤษว่า "ปืนลั่นเข้าใส่ตีนตัวเอง"

ชาติตะวันตกอาจจะคว่ำบาตรรัสเซียจริง แต่ต้องคิดดีๆ ไม่ให้กระทบต่อความต้องการน้ำมันของโลก

น้ำมันยังมีผลต่อตลาดหุ้นโดยตรง ตลาดหุ้นนั้นตามปกติก็หวั่นไหวกับความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาตร์สำคัญอยู่แล้ว แต่มันจะยิ่งผวาหนักหากพื้นที่ขัดแย้งเกี่ยวข้องกับน้ำมันโลกโดยตรง

ต่อไปนี้คือตรรกะพื้นฐานในเชิงเศรษฐศาสตร์ - นั่นก็เพราะหากน้ำมันพุ่งขึ้น ผู้บริโภคจะต้องใช้จ่ายมากขึ้น จนต้องลดการใช้จ่ายด้านอื่นๆ เมื่อผู้บริโภคใช้จ่ายลดลง ผลประกอบการภาคธุรกิจก็จะลดลง ทำให้ตลาดหุ้นซบเซาไปด้วย

อีกแง่หนึ่ง น้ำมันที่แพงขึ้น ทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจสูงขึ้น และอีกแง่หนึ่ง น้ำมันที่แพงขึ้นทำให้นักลงทุนหวั่นไหวกับอนาคต ทำให้แบกรับความเสี่ยงด้านการลงทุน (ERP) เพิ่มขึ้น แรงกดดันจึงไปตกลงกับราคาหุ้น

ว่ากันตามหลักการแล้ว น้ำมันที่แพงขึ้นจะส่งผลต่อตลาดหุ้นแบบนี้ ดังนั้น หากเกิดตูมตามขึ้นในแถวๆ ยูเครนแล้วชาติตะวันตกเกิดหน้ามืดไปคว่ำบาตรรัสเซียขึ้นมา ตลาดหุ้นก็จะต้องรับวิบากกรรมในลักษณะนี้

ไม่ใช่ทุกครั้งที่มันจะเป็นไปตามตรรกะนี้ และมีงานวิจัยของ Fed ออกมาว่าแล้วยอมรับว่าเดาไม่ถูกว่าราคาน้ำมันกระทบต่อราคาหุ้นแค่ไหน แต่ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าราคาน้ำมันมีผลต่อราคาหุ้นแค่เล็กน้อย 

ดังนั้นเราจึงขออนุมานตามตรรกะคลาสสิกไปก่อนว่า "น้ำมันแพง หุ้นจะตก"

นอกจากน้ำมันแล้ว หุ้นยังสั่นไหวกับการทำสงครามหรือไม่? (สมมติว่าสงครามยูเครน-รัสเซียไม่เกี่ยวกับน้ำมันเลย)

ลองดูการวิจัยโดย LPL Financial เกี่ยวกับผลกระทบของสงครามต่อดัชนีหุ้น ตั้งแต่การโจมตีที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ปี 1941 (สงครามโลกครั้งที่ 2) เรื่อยมาจนถึงความขัดแย้งกึ่งๆ สงคราม คือการสังหารนายผลของอิหร่าน (ปี 2020) พบว่า ตลาดหุ้นมีความต้านทานต่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ - พูดสั้นๆ ก็คือ "ตลาดหุ้นไม่สะเทือน"

เมื่อดูสถิติของดัชนี S&P 500 ในช่วงที่เกิดสงคราม/ความขัดแย้งต่างๆ จะพบว่ามันไม่ได้ตื่นตระหนกจนตกลงเกินกว่า 6% เลย เฉลี่ยแล้วดัชนีจะตกลง 1.2% เท่านั้น

แล้วสมมติว่าถ้ากรณียูเครนกลายเป็นสงครามโลกขึ้นมา (อย่างที่บางคนหวั่นใจ)?

พิจารณาจากสงครามใหญ่ๆ ครั้งที่ผ่านมา เบน คาร์ลสัน (Ben Carlson) ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการสินทรัพย์สถาบันที่ Ritholtz Wealth Management บอกว่า “ตั้งแต่เริ่มสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1939 จนถึงสิ้นสุดในปลายปี 1945 ดาวโจนส์เพิ่มขึ้นทั้งหมด 50% มากกว่า 7% ต่อปี ดังนั้น ในช่วงสงครามครั้งเลวร้ายที่สุดสองครั้งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ตลาดหุ้นสหรัฐก็ขึ้น รวมกัน 115%"

พูดสั้นๆ คือตลาดหุ้นไม่สะเทือน อาจจะมีผวา มันอาจจะตกลงมากกว่าอัตราเฉลี่ย 1.2% แน่นอน แต่มันจะไม่ลากยาวจนถึงกับล่มสลาย

ที่ต้องจับตาไม่ใช่เมื่อเกิดสงครามแล้ว เพราะจากประสบการณ์ในอดีตตลาดจะไม่ตื่นตูม ให้จับตา "ก่อน" จะเกิดสงครามมากกว่า เพราะมันง่ายที่สถานการณ์จะถูกปั่นให้ตื่นตระหนก (จนเกินจริง)

และอย่าลืมว่า ตลาดทุนเป็นสมรภูมิแห่งการเก็งกำไรสู้กัน มันมีกลเม็ดเด็ดพรายมากมายที่จะสร้างกำไรจากข่าวร้าย และทำให้ข่าวดีเป็นฝันร้ายของบางคนก็ได้

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน

Russian Defence Ministry/Handout via REUTERS