posttoday

น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ปลดปล่อยแบคทีเรียดื้อยาจากแอนตาร์กติกา

30 พฤษภาคม 2565

นักวิทยาศาสตร์จากชิลีพบแบคทีเรียที่มียีนดื้อยาปฏิชีวนะในแอนตาร์กติกา

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า อันเดรส มาร์โคเลตา นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชีลีซึ่งเป็นหัวหน้าในการวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Science of the Total Environment ค้นพบแบคทีเรียที่มียีนดื้อยาในทวีปแอนตาร์กติกา และมีศักยภาพที่จะแพร่กระจายไปนอกพื้นที่ขั้วโลก

มาร์โคเลตากล่าวว่า "เรารู้ว่าดินในคาบสมุทรแอนตาร์กติก ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ขั้วโลกที่ได้รับผลกระทบจากน้ำแข็งละลายมากที่สุด มีแบคทีเรียหลากหลายชนิด และบางชนิดก็มีแหล่งของยีนที่มีศักยภาพในการดื้อยาปฏิชีวนะ"

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิลีได้เก็บตัวอย่างหลายตัวอย่างจากคาบสมุทรแอนตาร์กติกตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2019

มาร์โคเลตาตั้งข้อสงสัยว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีผลกระทบต่อการเกิดโรคติดเชื้อหรือไม่ โดยชี้ว่าหากยีนเหล่านี้แพร่ออกไป อาจส่งเสริมให้เกิดโรคติดเชื้อที่แพร่ระบาดอีก

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่าแบคทีเรีย Pseudomonas ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มแบคทีเรียที่เด่นในคาบสมุทรแอนตาร์กติกไม่ก่อให้เกิดโรค แต่สามารถเป็นแหล่งของยีนดื้อยา ซึ่งไม่สามารถยับยั้งได้โดยสารฆ่าเชื้อทั่วไป อาทิ คอปเปอร์ คลอรีน หรือควอเทอร์นารีแอมโมเนียม

นอกจากนี้ยังได้มีการวิจัยแบคทีเรีย Polaromonas ซึ่งพบว่ามีศักยภาพในการยับยั้งยาปฏิชีวนะชนิด beta-lactam ซึ่งจำเป็นสำหรับการรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ

Photo by Photo by Cristian FUENTES VALENCIA / Universidad de Chile / AFP