วิจัยชี้แค่มองโลกในแง่ดีก็อายุยืนไป 90 ปี
พฤติกรรมการมองโลกในแง่ดีเกี่ยวข้องกับการมีอายุยืน
ผลการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร American Geriatrics Society ระบุว่า คนที่มองโลกในแง่ดี ซึ่งหมายถึงผู้ที่มี "ความคาดหวังโดยทั่วไปเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ดีในอนาคต" มีโอกาสสูงที่จะอายุยืนถึง 90 ปีขึ้นไป
การวิจัยที่รวบรวมจากการศึกษาผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ 159,255 คนซึ่งมีภูมิหลังที่หลากหลายตลอด 26 ปีพบว่า ผู้เข้าร่วมการศึกษาที่มองโลกในแง่ดีมีอายุยืนยาวกว่าผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้มองโลกในแง่ดี 5.4% หรือมีอายุยืนขึ้นอีกราว 4 ปี
การวิจัยนี้ต่อยอดจากการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและมหาวิทยาลัยบอสตันเมื่อปี 2019 ซึ่งพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วผู้ชายและผู้หญิงที่มองโลกในแง่ดีมีอายุยืนขึ้น 11-15%
การวิจัยของปี 2019 ได้ข้อสรุปว่า คนที่มองโลกในแง่ดีเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มสูงที่จะมีอายุถึง 85 ปี หรือมากกว่านั้น แต่ยอมรับว่าผู้เข้าร่วมการวิจัย “ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวและมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงกว่าประชากรทั่วไป”
การวิจัยชิ้นล่าสุดนี้ก็ยังให้ผลเหมือนกับการวิจัยของปี 2019 แม้ว่าจะพิจารณาสถานะทางสังคม ภาวะสุขภาพ ความเครียด การสูบบุหรี่ การเข้าสังคม อาหารที่ไม่ดีและแอลกอฮอล์ร่วมด้วย
ฮายามิ โคงะ นักวิจัยหลังปริญญาเอกของ Harvard T.H. Chan School of Public Health ซึ่งเป็นผู้เขียนงานวิจัยเผยว่า “แม้ว่าการมองโลกในแง่ดีอาจถูกออกแบบโดยปัจจัยทางโครงสร้างของสังคม แต่การวิจัยของเราบ่งชี้ว่าประโยชน์ของการมองโลกในแง่ดีต่อการมีอายุยืนเกิดขึ้นในทุกกลุ่มเชื้อชาติและชาติพันธุ์”
ด้านผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การมองโลกในแง่ดีไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเพิกเฉยกับสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด แต่เมื่อมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้น คนที่มองโลกในแง่ดีจะไม่ค่อยโทษตัวเองและมักจะมองว่าอุปสรรคนั้นเกิดขึ้นชั่วคราวหรือกระทั่งมองในแง่บวก
คนมองโลกในแง่ดียังเชื่อว่าพวกเขาควบคุมชะตากรรมของตนเองได้ และสามารถสร้างโอกาสให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้การวิจัยยังพบว่า การมองโลกในแง่ดียังช่วยให้สุขภาพดีขึ้น การวิจัยก่อนหน้านี้พบความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างการมองโลกในแง่ดีกับการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและพฤติกรรมการออกกำลังกาย ตลอดจนสุขภาพหัวใจที่ดีขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงขึ้น การทำงานของปอดที่ดีขึ้น และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่ลดลง และอื่นๆ
REUTERS/Kevin Lamarque