ความมั่นคงไซเบอร์
เมื่อประชาคมโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แม้จะทำให้อารยประเทศพัฒนาไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับที่สูงขึ้นและนำสมัยมากขึ้น
โดย...สดุดี วงศ์เกียรติขจร
เมื่อประชาคมโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แม้จะทำให้อารยประเทศพัฒนาไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับที่สูงขึ้นและนำสมัยมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องประสบกับประเด็นอุบัติใหม่ที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศและภูมิภาคที่จะต้องร่วมกันกำหนดแนวทางรับมือกันต่อไป และประเด็นสำคัญประการหนึ่ง ก็คือเรื่องของ “ความมั่นคงทางไซเบอร์” (Cyber Security)
ประเด็นด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ มีแนวโน้มที่จะมีนัยสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต สำหรับภูมิภาคอาเซียน เมื่อพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ เครือข่ายความเชื่อมโยงของทั้งอินเทอร์เน็ต และนวัตกรรมของสื่อสมัยใหม่ต่างๆ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง อันจะส่งผลให้เกิดการเชื่อมต่อกับโลกไซเบอร์ของประชาชนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบดิจิทัลที่ประเทศต่างๆ มุ่งพัฒนานี่เอง ส่งผลให้เกิดการเปิดทางให้แก่ภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ทั้งต่อสังคมและความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป นั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า “การก่อการร้ายทางไซเบอร์” (Cyber Terrorism)
กลุ่มหรือเครือข่ายก่อการร้าย จะใช้พื้นที่หรือกลไกในโลกไซเบอร์ขับเคลื่อนวาระการก่อการร้ายที่มุ่งหมายไว้ หรือโจมตีเครือข่าย หรือสิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพของเมืองหรือประเทศต่างๆ อาทิ ระบบคอมพิวเตอร์ หรือเครือข่ายโทรคมนาคม และการปฏิบัติการดังกล่าวก็ไม่สามารถติดตามได้โดยสะดวกนัก เพราะกลุ่มบุคคลนี้ดำเนินการจากที่ไหนก็ได้ในโลก ผลเสียหายที่เกิดขึ้นตามมาต่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล การสูญเสียข้อมูลลับทางธุรกิจและทรัพย์สินทางปัญญา การถดถอยของประสิทธิภาพด้านระบบป้องกันภัยต่อความมั่นคงของประเทศ และการชะงักงันของการให้บริการของระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น
ประเด็นเชิงนโยบาย ที่มีการถกเถียงกันในวงการของนักนโยบาย และนักวิชาการสายสังคมศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมาก็คือ จะสร้างสมดุลในโลกไซเบอร์ได้อย่างไร เพราะในด้านหนึ่ง ผู้ใช้บริการออนไลน์ต่างๆ ก็มักจะอ้างถึงสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร และการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ภาครัฐก็อ้างสิทธิและอำนาจโดยชอบธรรมที่จะมุ่งส่งเสริมความมั่นคงทางไซเบอร์และประเทศ รวมถึงสวัสดิภาพของประชาชน ที่มีบทบาทในการเข้ามาสอดส่องดูแลและแทรกแซงตามที่เห็นว่าเหมาะสม เช่น การสกัดกั้นเนื้อหาในเว็บไซต์ที่ไม่พึงประสงค์ การควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชน และการพัฒนากลไกเชิงสถาบัน และปฏิบัติการเพื่อต่อสู้หรือป้องกันภัยจากผู้ก่อการร้ายในโลกไซเบอร์ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้จึงถือเป็นความท้าทายใหม่ครั้งใหญ่ของภาคส่วนต่างๆ ที่จะเข้ามาร่วมกันจัดการกับปัญหาต่อไป