posttoday

ธุรกิจชำแหละเรือเดินสมุทร (2)

18 มกราคม 2563

โดย กริช อุ๊งวิฑูรย์สถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึงธุรกิจการผ่าเรือหรือชำแหละเรือเดินสมุทร ที่มีเพื่อนถามมาว่าอยากได้ใบอนุญาต ซึ่งผมได้เล่าไปแล้ว

วันนี้ขอชำแหละธุรกิจนี้ ท่านได้ฟังกันต่อนะครับ เพื่อจะได้คิดตามผมมาครับ ธุรกิจการหล่อเหล็กนั้นวัตถุดิบที่ใช้มีที่มาจากสองทางหลัก คือ จากแร่เหล็กและจากเหล็กเก่า ซึ่งที่ผ่านมาผมเคยได้มีโอกาสประสบพบเจอมาแล้วครั้งหนึ่ง คือช่วงที่ทำธุรกิจที่กัมพูชา เมื่อประมาณสามสิบปีก่อน

ในยุคนั้นเขมรสามฝ่ายได้สู้รบกันอยู่ ผมมีผู้ใหญ่ที่นับถือท่านหนึ่ง ท่านได้เข้าไปที่เขมรทำธุรกิจเก็บซากปฎิกรรมทางสงคราม ซึ่งก็หมายถึงเหล็ก ท่านเอาทุกชนิดเลยครับ ตั้งแต่ปลอกกระสุนปืน เหล็กจากซากรถราต่างๆ

แม้กระทัjงซากปืนใหญ่ ซากรถถัง รถหุ้มเกราะ ซากระเบิด ท่านซื้อหมด แต่ท่านซื้อมาแล้วขายต่อให้โรงหลอมเหล็กในประเทศไทยนี่แหละครับ นำมาซึ่งความร่ำรวยมาให้ท่านจนถึงทุกวันนี้เลยครับ แต่น่าเสียดายที่ท่านไม่ได้นำมาหลอมเอง ในยุคนั้นผมยังไม่ประสาอะไรกับธุรกิจ

ถ้าเป็นวันนี้ผมคงกระโดดเข้าสู่วงการเหมือนท่าน ผมคงรวยไปแล้วละครับ มาดูที่ธุรกิจนี้ที่บังคลาเทศ ผมเห็นเขาชำแหละเรือที่ธากา เมืองท่าเรือ (ชายหาดมาเป็นท่าเรือเพื่อชำแหละเรือ) ได้สร้างความร่ำรวยให้มหาเศรษฐีบังคลาเทศอย่างล้นหลาม

ธุรกิจที่ตามมาอีกธุรกิจหนึ่ง คือธุรกิจอู่ซ่อมเครื่องยนต์ ที่เขานำเอาเครื่องยนต์เก่าบนเรือเช่น เครื่องปั่นไฟฟ้า เครื่องทำน้ำจืด เครื่องยนต์เรือมาซ่อมใหม่ แล้วขายให้คนที่เขาชอบซื้อเครื่องยนต์มือสองไปใช้ ต้องบอกว่าเครื่องยนต์เหล่านี้เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ได้ดี คงทนถาวร ไม่เสียง่าย ราคาก็ถูกกว่าเครื่องยนต์ใหม่มือหนึ่งมาก

ดังนั้นจึงเป็นที่ต้องการของประชาชนโลกที่สามมาก ยังมีธุรกิจขายอะไหล่เรือ นี่เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่สร้างความร่ำรวยมาให้ผู้คนได้เยอะมากเช่นกัน

ที่เมืองธากาจึงมีถนนยาวเป็นสิบกิโลเมตรเลยครับที่ทำธุรกิจนี้อยู่ เพราะผู้ประกอบการสร้างเรือในประเทศโลกที่สามที่ยังล้าหลังอยู่ ชอบไปช้อปกันมาก อุปกรณ์เหล่านี้ เช่น กำปั่นเรือ พังงาเรือ สมอเรือ หางเสือเรือ หรือแม้แต่เครื่องอะไหล่เล็กๆน้อยๆ ที่เมื่อรื้อออกมาแล้ว ทำการซ่อมแซมนิดหน่อย บางชิ้นอยู่ในสภาพที่ใช้ได้เลยครับ

หนำซ้ำราคาย่อมเยากว่าซื้อมือหนึ่งเป็นเท่าตัว นี่แหละที่ทำให้นักต่อเรือจากทั่วทุกสารทิศวิ่งตรงไปหาซื้อที่นี่ สร้างผู้ประกอบการร่ำรวยไปตามๆกันครับ

ที่นี่ยังมีธุรกิจต่อเนื่องที่เราคาดไม่ถึงอีกเยอะเลยครับ มาที่เมียนมา เขาคิดถูกแล้วครับที่ไม่ได้จำกัดธุรกิจนี้มากนัก ยังพอมีโอกาสที่จะขอใบอนุญาตได้ เพราะว่าเขาต้องเอาตัวรอดให้ได้ก่อน

สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดในการสร้างบ้านแปลงเมือง ก็คือวัสดุก่อสร้าง ถ้าไปจำกัดตัวเองด้วยการเอาแต่วัตถุดิบขั้นปฐมต้น เช่นแร่เหล็กมาหลอม แปรรูปเป็นเหล็กชนิดต่างๆ ผมว่าตายอย่างเดียวเลยครับ เพราะราคาจะสูงมาก สู้ทำจากวัสดุรีไซเคิลจึงจะชาญฉลาดมากกว่า โดยไม่ต้องไปแคร์ชาติตะวันตกมากนัก เพราะเขาไม่ได้ช่วยให้เมียนมาดีขึ้นเลย มีแต่ตั้งแง่ต่างๆนาๆมากมาย

ดังนั้นเมียนมาเขาฉลาดกว่าที่คิด จึงอนุญาตให้นำเอาเรือเก่ามาชำแหละ แล้วนำเอาแผ่นเหล็กที่คุณภาพสูงมาหลอมใหม่ นำมาใช้ในการก่อร่างสร้างเมืองใหม่ รอจนกว่าประเทศเมียนมาร่ำรวยกว่านี้ แล้วค่อยมาเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบใหม่ ก็ยังไม่สายเกินไปครับ

ต้องถามว่าวันนี้เมียนมาจะเอาหน้าตาที่ดูดี หรือ จะเอาความอยู่รอด นี่คือคำตอบเลยครับ

ส่วนสถานที่ที่เหมาะที่จะขออนุญาต ในส่วนตัวผมคิดว่ายังมีอีกหลายที่ๆเหมาะสม เช่นที่ รัฐยะไข่ รัฐอิยะวดี รัฐมอญ รัฐตะนาวศรี เป็นต้น ส่วนเมืองในรัฐที่กล่าวมานี้ ท่านอย่าได้กังวลเลยครับ
ขอเพียงติดชายทะเล มีน้ำลึก 30-40 เมตรเป็นพอ

ถนนหนทางไม่จำเป็นต้องสะดวกมาก ขอเพียงเข้าออกได้ไม่ลำบากเกินไป ไฟฟ้าก็ไม่จำเป็นมากนัก ช่วงแรกๆอาจจะต้องซื้อเครื่องปั่นไฟฟ้าไปตัวเดียวก็พอ พอได้ชำแหละเรือแล้ว ก็เอาเครื่องปั่นไฟฟ้าบนเรือนั่นแหละมาใช้ทำงานต่อได้เลย

ส่วนการขนส่งเมื่อชำแหละออกมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว ก็ไม่ต้องกังวล เพราะส่งมายังย่างกุ้งทางเรือได้เลย ไม่ต้องการที่จะส่งทางรถยนต์อยู่แล้วครับ ปัจจุบันนี้ตลาดค้าเหล็กในย่างกุ้งที่ใหญ่ที่สุด จะอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมตะโก่งครับ ที่นี่เขาจะเป็นโรงหล่อ โรงหลอม โรงรีดเหล็กเยอะมาก มีทั้งตลาดที่เป็นการค้าเหล็กสำเร็จรูปพร้อมสรรพเลยครับ

ท่านลองไปสำรวจตลาดดูก็ได้นะครับ หรือถ้าท่านสนใจจริงๆ ลองติดต่อไปที่สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ที่เบอร์โทร 02-345-1131 คุณศิริกานต์ แล้วแจ้งความจำนงค์พร้อมทั้งขอนัดหมายเข้ามาสอบถามข้อมูลได้เลยครับ ยินดีต้อนรับทุกเมื่อครับ