posttoday

อาจารย์มหาวิทยาลัย ต้องปรับตัวอย่างไรในยุค AI เทคโอเวอร์การศึกษา?

13 พฤศจิกายน 2567

AI กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในหลายวงการ ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการการศึกษา ทั้งความเสี่ยงจากการถูกแทนที่อาชีพครู ไปจนถึงประเด็นทางจริยธรรมสู่การคว้าใบปริญญา อาจารย์มหาวิทยาลัย ต้องปรับตัวอย่างไรในยุค AI เทคโอเวอร์?

AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ และทำหน้าที่ในการเรียนการสอนได้จริงหรือไม่? ชวนเจาะลึกบทบาทของ AI ในวงการการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ. ดร.กฤติยา เขื่อนเพชร จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มุมมองต่อบทบาทและความท้าทายของ AI ในวงการการศึกษาว่า 

อาจารย์มหาวิทยาลัย ต้องปรับตัวอย่างไรในยุค AI เทคโอเวอร์การศึกษา?

AI ไม่ได้เป็นศัตรูหรือภัยคุกคามต่อบทบาทของครูผู้สอน แต่กลับเป็น “ผู้ช่วย” ที่มีศักยภาพสูงในการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการเรียนรู้ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าอาจารย์จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลทุกอย่างของ AI อีกขั้นหนึ่งก่อนที่นำไปสอนนักศึกษา

"AI ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยแบ่งเบาภาระงานของครูและอาจารย์ในหลายด้าน โดยเฉพาะงานที่ใช้เวลามาก เช่น สามารถช่วยออกแบบแผนการสอนได้โดยการวิเคราะห์เนื้อหาและจัดสรรข้อมูลให้ตรงกับมาตรฐานการเรียนรู้ของนักศึกษา อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการออกแบบสื่อการสอนที่มีความน่าสนใจ เพื่อให้เนื้อหาดูน่าสนใจและเข้าถึงนักศึกษายุคใหม่ได้ดียิ่งขึ้น"

 

ขณะที่ทางฝั่งนักศึกษาเอง ก็สามารถใช้ AI ในการเรียนได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ AI ในการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลเทคโนโลยีใหม่ ๆ ช่วยแปลและสรุปเนื้อหาจากบทความวิจัยต่างประเทศให้เข้าใจง่ายขึ้น หรือการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน 

AI ยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนา Soft Skills ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสามารถช่วยให้นักศึกษาพัฒนาทักษะสำคัญเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้ AI ช่วยฝึกทักษะการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม การใช้ AI ในแวดวงการศึกษา ต้องใช้อย่างรู้เท่าทัน นักศึกษาต้องรู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลเท็จ/จริง เพราะข้อมูลที่ได้จาก AI อาจไม่ได้ถูกต้องไปเสียทั้งหมด

อาจารย์มหาวิทยาลัย ต้องปรับตัวอย่างไรในยุค AI เทคโอเวอร์การศึกษา?

AI รุกคืบ โจทย์ใหม่ท้าทายการคว้าใบปริญญา

ดร.สานุช เสกขุนทด ณ ถลาง โครงการแปลและล่ามในยุคดิจิทัล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า แม้ AI จะสามารถแปลข้อความได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังขาดความสามารถในการเข้าถึงความหมายเชิงลึก โดยเฉพาะในแง่ของการเข้าใจอารมณ์และบริบททางวัฒนธรรม ดังนั้น การแปลความหมายโดย AI จึงยังไม่สามารถจัดการกับเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนได้ซึ่งหากใช้โดยไม่มีมนุษย์ช่วยตรวจทานอาจสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้รับสารได้

"ในมุมของอาจารย์มหาวิทยาลัย เมื่อ AI รุกคืบการสอน สิ่งที่ผู้สอนจะต้องปรับเปลี่ยนคือวิธีการสอน โดยเน้นให้นักศึกษาตระหนักถึงข้อจำกัดของเทคโนโลยี AI พร้อมกระตุ้นให้นักศึกษาต้องเรียนรู้ทักษะที่จำเป็น เช่น การเข้าใจบริบทและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทักษะที่ AI ยังไม่สามารถแทนที่ได้ ผลในการพึ่งพา AI มากเกินไป อาจทำให้นักศึกษาขาดความเข้าใจเชิงลึกในประเด็นที่ต้องอาศัยการตีความเชิงมนุษย์"

แม้ว่าการใช้ AI จะเป็นก้าวใหม่ที่น่าตื่นเต้น แต่การนำเทคโนโลยีเข้ามาไม่ได้หมายความว่าจะต้องแทนที่อาจารย์ อาจารย์ยังคงเป็นหัวใจของการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ โดยทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำและสนับสนุนนักศึกษาอย่างใกล้ชิด พร้อมสอนให้นักศึกษาตระหนักว่าผู้ใช้ AI ต้องรู้มากกว่า AI เสมอ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารระหว่างบุคคล