posttoday

AI กู้ภัยจากเกาหลีใต้ ช่วยจำกัดพื้นที่ค้นหา 96%

14 มกราคม 2568

หนึ่งในปัญหาสำคัญของการกู้ภัยคือ การค้นหาและระบุตำแหน่งของผู้ประสบภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลอับสัญญาณ แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อมี AI กู้ภัย ช่วยจำกัดพื้นที่ค้นหาลง 96%

เมื่อพูดถึงการกู้ภัยสิ่งที่ทุกท่านนึกถึงย่อมเป็นการช่วยเหลือผู้ตกอยู่ในอันตรายในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ ไปจนการกระทำของมนุษย์ แน่นอนว่าความเร็วในการเข้าช่วยเหลือถือเป็นหัวใจสำคัญ แต่หลายครั้งการค้นหาและระบุตำแหน่งของผู้ประสบภัยไม่ได้ง่ายนัก

 

นี่เป็นเหตุผลในการพัฒนาระบบระบุตำแหน่งผู้ประสบภัยรุ่นใหม่ช่วยลดพื้นที่ค้นหาลง 96%

 

AI กู้ภัยจากเกาหลีใต้ ช่วยจำกัดพื้นที่ค้นหา 96%

 

iSAR ระบบวิเคราะห์ตำแหน่งผู้ประสบภัยจาก AI

 

ผลงานนี้เป็นของบริษัทเทคโนโลยี Solvit System จากเกาหลีใต้ กับการพัฒนา Innovative AI-based search and rescue system (iSAR) ระบบค้นหาผู้ประสบภัยด้วยระบบวิเคราะห์คลื่นวิทยุร่วมกับ AI ช่วยในการระบุตำแหน่งของผู้ประสบภัยที่ขอความช่วยเหลือ สามารถลดพื้นที่ค้นหาลงได้ถึง 96% โดยอาศัยระยะเวลาประมวลผลเพียง 10 นาที

 

ตัวระบบได้รับการออกแบบสำหรับใช้งานค้นหาผู้ประสบภัยไปจนบุคคลที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือมีสภาพแวดล้อมท้าทายเป็นอันตราย เช่น อุทยานแห่งชาติ ภูเขาขนาดใหญ่ พื้นที่ห่างไกล ไปจนพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติรุนแรง ที่อาจทำให้การระบุตำแหน่งตามปกติเป็นไปได้ยาก

 

iSAR จะอาศัยการเก็บข้อมูลจากคลื่นวิทยุพิเศษที่เป็นสิทธิบัตรเฉพาะของทางบริษัท โดยอาศัยข้อมุลจากอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ร่วมกับอนุกรมเวลาอัจฉริยะ จากนั้นจึงนำมาประมวลผลในระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อสะท้อนและคาดการณ์การเคลื่อนไหวของเป้าหมายที่ต้องการค้นหา

 

เมื่อทำการป้อนข้อมูลที่กำหนดเสร็จสิ้นระบบจะประมวลคาดการณ์พื้นที่ที่เป้าหมายอยู่แบบเรียลไทม์ สามารถระบุตำแหน่งโดยคร่าวของเป้าหมายที่ทำการค้นหาให้แคบลงกว่าเดิม 96% โดยอาศัยระยะเวลาในการตรวจสอบและประมวลผลหลังได้รับข้อมูลเพียง 10 นาที

 

นี่จึงถือเป็นระบบระบุตำแหน่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยในสถานการณ์ต่างๆ

 

AI กู้ภัยจากเกาหลีใต้ ช่วยจำกัดพื้นที่ค้นหา 96%

 

ประโยชน์และอนาคตของระบบระบุตำแหน่งผู้ประสบภัย

 

หลายท่านอาจมองว่าการระบุตำแหน่งด้วยคลื่นวิทยุหรือ Radio Frequency Identification (RFID) ไม่ใช่ของใหม่แต่มีใช้งานอยู่ทั่วไป อุปกรณ์อย่างโทรศัพท์มือถือเองก็มีคุณสมบัติในการรับ-ส่งคลื่นวิทยุอยู่ก่อน จึงสามารถใช้ในการตามรอยหรือค้นหาในกรณีฉุกเฉินที่ต้องการความช่วยเหลือได้เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตามโดยพื้นฐานโทรศัพท์มือถือมีอัตราการปล่อยคลื่นวิทยุกำลังต่ำ ด้วยเครื่องมือทั่วไปการค้นหามีระยะทำการจำกัดเพียงไม่กี่สิบเมตร กรณีพื้นที่ค้นหากินบริเวณกว้างอาจต้องอาศัยเวลาในการตรวจสอบยาวนาน ในการใช้งานจริงจึงมักพึ่งพาอุปกรณ์ส่งสัญญาณเฉพาะหรือสัญญาณดาวเทียม ซึ่งหาได้ยากสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป

 

ในขณะที่ iSAR ไม่จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์ส่งสัญญาณเฉพาะเพื่อระบุตำแหน่ง สามารถค้นหาเป้าหมายในกรณีฉุกเฉินได้แม้ไม่มีอุปกรณ์หรือแอปพลิเคชันติดตามเฉพาะทางอาศัยเพียงโทรศัพท์มือถือ รองรับการใช้งานภายในพื้นที่ห่างไกลหรืออับสัญญาณ ช่วยให้ทีมกู้ภัยติดตามและประสานให้ความช่วยเหลือได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

กรอบพื้นที่ค้นหาแคบลงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประสบภัย เพิ่มโอกาสค้นหาผู้ประสบภัยทันท่วงที การเข้าถึงและให้ความช่วยเหลือในช่วงเวลาหลังเกิดเหตุ หรือ Golden hours ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและทำการรักษาให้กลับมาเป็นปกติ ลดผลกระทบทางสุขภาพและภาวะแทรกซ้อนหลังจากนั้นลงมาก

 

ผู้ที่ได้รับประโยชน์ไม่แพ้กันคือเจ้าหน้าที่กู้ภัย พื้นที่และระยะเวลาค้นหาน้อยลงย่อมหมายถึงความเสี่ยงในการปฏิบัติงานที่ลดลงตาม โดยเฉพาะในพื้นที่อันตรายเข้าถึงได้ยากหรือมีเวลาจำกัดในการปฏิบัติงาน ทั้งยังทำให้การระดมกำลังและทรัพยากรในการกู้ภัยทำได้ตรงจุด ช่วยลดภาระจากปฏิบัติการกู้ภัยในหลายด้าน

 

นี่จึงถือเป็นระบบที่มีประโยชน์ทั้งในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและรักษาชีวิตเจ้าหน้าที่ไปพร้อมกัน

 

 

 

 

ปัจจุบันระบบ iSAR เริ่มมีการนำไปใช้งานใน สำนักงานใหญ่ดับเพลิงและจัดการภัยพิบัติส่วนเหนือประจำจังหวัดคยองกี ของเกาหลีใต้ พร้อมขยายไปยังหน่วยงานอื่นในระดับภูมิภาคและต่างประเทศ ทั้งยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มเติม เพื่อรองรับในกรณีไม่สามารถใช้งานสัญญาณวิทยุได้ต่อไป

 

 

 

 

ที่มา

 

https://interestingengineering.com/innovation/ai-shrinks-search-rescue-areas