'พิชัย'ถกเจโทร-หอการค้าญี่ปุ่นชวนลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมด้านAI

30 มกราคม 2568

"พิชัย นริพทะพันธุ์"รมว.พาณิชย์ ถก “เจโทร-หอการค้าญี่ปุ่น” ย้ำเศรษฐกิจไทยเป็นบวกต่อเนื่อง พร้อมชักชวน ลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต AI เซมิคอนดักเตอร์ Data Center แผงวงจรพิมพ์

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายคุโรดะ จุน (Mr. KURODA Jun) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ หรือ JETRO Bangkok และนายโท โคโซ (Mr. TO Kozo) ประธานหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok : JCCB) เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2568 ณ ห้องรับรองชั้น 11 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์  

นายพิชัย กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์พร้อมส่งเสริมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นในการให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการลงทุน ซึ่งเศรษฐกิจของไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) กำลังเป็นไปได้ด้วยดี เราเดินมาถูกทาง การส่งออกปี 2567 โตถึง 5.4% และเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาโตถึง 8.7% และปี 2567 มีตัวเลขขอส่งเสริมการลงทุนสูงถึง 1.13 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้ง JETRO และ JCC ต่างมีส่วนสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของไทย

ที่ผ่านมาญี่ปุ่นถือเป็นนักลงทุนสะสมอันดับหนึ่งของไทยมาอย่างยาวนานนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับนักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาทำการค้าในไทย อยากให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเยอะๆ ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ประสบความสำเร็จในการจัดทำ FTA กับเอฟตา และนายกฯได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดทำ FTA กับอียูให้สำเร็จภายในปีนี้ เพื่อให้นักลงทุนที่เข้ามาสามารถใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA สร้างแต้มต่อทางการค้าและการลงทุน และหลังจากนี้จะมีอีกหลายฉบับ เช่น  อิสราเอล ภูฏาน ยูเออี เกาหลีใต้ แคนาดา และอังกฤษ ที่เร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ทั้งนี้ ได้เชิญชวนให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ Data Center แผงวงจรพิมพ์ และ AI ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตและสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการขยายการลงทุน และขอให้ไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของญี่ปุ่น ที่จะมีการทุ่มงบประมาณมากกว่า 10 ล้านล้านเยน (2.2 ล้านล้านบาท) ในช่วง 10 ปีข้างหน้า และตนยังให้นโยบายกับกระทรวงพาณิชย์ ในการเร่งทำงานเชิงรุกแก้ไขปัญหาล่วงหน้า และปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งวันที่ 3-8 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ตนจะเดินทางไปที่สหรัฐฯ เพื่อหารือกับฝ่ายการเมืองและภาคเอกชนของสหรัฐฯ เพื่อเจรจาเรื่องกำแพงภาษีจากนโยบายทรัมป์ที่ภาคเอกชนแสดงความกังวลอยู่ในเวลานี้ 

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อีกทั้งยังมุ่งสร้างความเป็นธรรมทางการค้า ทั้งการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายและสินค้าด้อยคุณภาพจากต่างประเทศเพื่อดูแลผลประโยชน์ผู้บริโภค และการกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน พร้อมเน้นย้ำที่จะแก้ไขปัญหาให้กับทุกท่านที่มาลงทุนกับไทยอย่างเต็มที่ 

พร้อมกันนี้ ฝ่าย JETRO และ JCC ได้ยื่นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อเป็นแนวทางให้ภาครัฐไทยสร้างระบบนิเวศธุรกิจที่เอื้อต่อการค้าการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจแก่บริษัทต่างชาติในไทยและเพิ่มความยืดหยุ่นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน โดยเฉพาะการปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยินดีรับข้อเสนอไปปรับใช้ในการกำหนดนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตลอดจนบูรณาการและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

\'พิชัย\'ถกเจโทร-หอการค้าญี่ปุ่นชวนลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมด้านAI

ด้านนายคุโรดะ จุน ได้นำเสนอผลสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2567 จากบริษัทที่เป็นสมาชิกหอการค้าญี่ปุ่นฯ จำนวน 559 ราย พบว่า ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (Diffusion Index : DI) อยู่ที่ -11 (ตัวเลขคาดการณ์) สาเหตุหลักมาจากการบริโภคสินค้าคงทนที่ยังซบเซาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับผลดีบางส่วนจากการฟื้นตัวของการส่งออก ส่วนแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2568 มีสัดส่วนบริษัทผู้ตอบแบบสำรวจที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 24 คงที่ ร้อยละ 62 และลดลง ร้อยละ 13 โดยตลาดส่งออกที่มีศักยภาพในอนาคต 4 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย ร้อยละ 49 เวียดนาม ร้อยละ 44 อินโดนีเซีย ร้อยละ 28 และสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 20 ตามลำดับ และมีหลายประเด็นที่ญี่ปุ่นเห็นว่ารัฐบาลไทยมีการปรับปรุงพัฒนาดีขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมการขนส่ง ร้อยละ 28 การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินงานของภาครัฐ ร้อยละ 15 การแก้ปัญหาการออกใบอนุญาตทำงานและวีซ่า ร้อยละ 14 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร ร้อยละ 14 การออกมาตรการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ร้อยละ 11 และการดำเนินงานด้านความตกลงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ FTA และ EPA ร้อยละ 10 ซึ่งทางญี่ปุ่นให้การยืนยันที่จะลงทุนในไทยต่อไป

\'พิชัย\'ถกเจโทร-หอการค้าญี่ปุ่นชวนลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมด้านAI

โดยญี่ปุ่น เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 3 ของไทย โดยในปี 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 52,020.4ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่นมูลค่า23,285.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูปเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ 

ขณะเดียวกัน ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น เป็นมูลค่า 28,734.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และ แผงวงจรไฟฟ้า 

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเป็นนักลงทุนสะสมอันดับ 1 ของไทยมาอย่างยาวนาน โดยในปี 2567 ญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เป็นอันดับ 5 จำนวน 271 โครงการ มูลค่ารวม 49,148 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทสำคัญของญี่ปุ่นในฐานะหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการลงทุนของไทย

Thailand Web Stat