หุ่นยนต์ AI ที่คอยช่วยฝึกและให้กำลังใจผู้เล่นในการเล่นบาส
ที่ผ่านมาเราได้ยินเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนการเล่นและแข่งขันบาสมาไม่น้อย วันนี้เราจะพัฒนาไปอีกขั้น เมื่อ NBA เริ่มนำหุ่นยนต์ AI มาช่วยในการฝึกซ้อมบาสเกตบอล
ปัจจุบันกีฬาส่วนใหญ่เริ่มรับเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเกมการแข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งระบบวีดีโอรีเพลย์ เซ็นเซอร์ตรวจจับการออกนอกสนาม ไปจนระบบติดตามการเคลื่อนไหว ทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการแข่ง รวมถึงประสิทธิภาพในการฝึกซ้อมอย่างก้าวกระโดด
ล่าสุดเรากำลังจะล้ำไปอีกขั้น เมื่อมีการใช้หุ่นยนต์ AI สำหรับฝึกซ้อมบาสโดยเฉพาะ
หุ่นยนต์ AI สำหรับฝึกซ้อม สอนบาส และให้กำลังใจ
ผลงานนี้เป็นของ The National Basketball Association (NBA) กับการคิดค้นพัฒนาหุ่นยนต์รุ่นใหม่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่ได้รับการออกแบบให้ช่วยสนับสนุนการฝึกซ้อมของนักกีฬาในด้านต่างๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิการฝึกซ้อมทั้งในและนอกสนามไปพร้อมกัน โดยหุ่นยนต์ที่ได้รับการพัฒนามีดังนี้
1.Automated Basketball Engine(A.B.E.)
หุ่นยนต์ตัวนี้ได้รับการออกแบบให้มีการติดตั้งตะกร้าขนาดใหญ่รองรับส่วนบน มีหน้าที่หลักคือสนับสนุนการซ้อมชูตบาสของนักกีฬา เมื่อผู้เล่นทำการชูตลูกบาสตะกร้าบนตัวหุ่นจะรองรับลูกบาสที่ร่วงมาจากด้านบนเอาไว้ จากนั้นจึงส่งลูกบาสดังกล่าวกลับไปหาผู้เล่นได้อัตโนมัติ
ตัวหุ่นได้รับการติดตั้งระบบติดตามตำแหน่งการเคลื่อนไหวของผู้เล่น เพื่อให้คาดการณ์ตำแหน่งการตกของลูกบาสที่ชูตเพื่อให้เข้าไปเก็บและส่งกลับไปหานักกีฬาอย่างแม่นยำ กลไกนี้ช่วยให้นักกีฬาสามารถฝึกซ้อมได้ต่อเนื่องไม่ต้องเสียเวลามาไล่เก็บลูก ช่วยอำนวยความสะดวกและลดภาระให้แก่ผู้เล่นไปพร้อมกัน
2.Motion & Intercept Modular-Interface Coordination(M.I.M.I.C.)
หุ่นยนต์ตัวนี้ถูกออกแบบให้เป็นทรงกระบอกขับเคลื่อนด้วยล้อ มีหน้าที่หลักคือจำลองการวางตำแหน่งและการเคลื่อนไหวของนักกีฬาในสนาม คอยทำหน้าที่จำลองการรุก-รับที่เกิดขึ้นในการแข่งขัน เพื่อสร้างสถานการณ์เสมือนจริงซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้เล่นในการฝึกซ้อมและโค้ชสำหรับใช้วางแผนการเล่น
ตัวหุ่นได้รับการป้อนข้อมูลการเล่นบาสของนักกีฬามืออาชีพใน NBA จึงสามารถจำลองการเคลื่อนไหวของนักกีฬา และสร้างแรงกดดันแบบเดียวกับที่เกิดในเกมการแข่งขันได้ พร้อมตอบสนองคำสั่งเสียงจากผู้ใช้งานสำหรับการจัดวาง เคลื่อนย้ายตำแหน่ง หรือเปลี่ยนแผนการเล่นได้อีกด้วย
3.Kinematic Interface Tool(K.I.T.)
ลักษณะภายนอกมีลักษณะใกล้เคียงกับ M.I.M.I.C. ที่ขนาดเล็ก แต่จุดประสงค์และรูปแบบการใช้งานแตกต่างไปจากอีกสองตัวที่เหลือ ตัวหุ่นจะรับหน้าที่พูดคุย สร้างปฏิสัมพันธ์ หรือเข้าไปช่วยเหลือนักกีฬาระหว่างหยุดพักการฝึกซ้อม เพื่อช่วยให้ผ่อนคลายและสร้างกำลังใจโดยเฉพาะ
ตัวหุ่นจะเคลื่อนไหวไปตามทางเดินและห้องล็อกเกอร์ที่พักของนักกีฬา โดยสามารถเข้ามารับฟัง พูดคุย ให้กำลังใจ หรือฉายภาพยนตร์ให้รับชมเพื่อบรรเทาความเครียด ช่วยให้นักกีฬาผ่อนคลายจากการฝึกซ้อมที่หนักหน่วง ลดแรงกดดันที่จะเกิดก่อนการแช่งขัน
จุดเด่นในการใช้งานเทคโนโลยีหุ่นยนต์ AI
สำหรับหลายท่านอาจรู้สึกไม่คุ้นเคยที่ต้องพึ่งพาหุ่นยนต์มาใช้ร่วมกับการฝึกซ้อม แต่ที่ผ่านมา NBA ก็นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากมายเข้ามาสนับสนุนการแข่งขันมากมาย ตั้งแต่การใช้งานเซ็นเซอร์อัจฉริยะ กล้องวีดีโอความละเอียนดสูง ไปจนอินเทอร์เน็ต และคราวนี้เป็นหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI
ข้อดีของการนำหุ่นยนต์ AI มาใช้งานมีหลายด้าน เริ่มจาก A.B.E. ที่มีนักกีฬามืออาชีพเข้าร่วมทดสอบการใช้งาน แม้จะให้ความรู้สึกแปลกไปบ้างในช่วงแรก แต่การมีคู่หูคอยช่วยเหลือสนับสนุนเก็บลูกบาสให้เมื่อทำการชูตช่วยให้การซ้อมสะดวกขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งผู้ช่วยคนนี้ยังไม่จำเป็นต้องหยุดพัก ทำให้นักกีฬาสามารถผลักดันขีดจำกัดการซ้อมได้มากขึ้น
เช่นเดียวกับ M.I.M.I.C. จากการทดสอบใช้งานของหัวหน้าโค้ชทีมบาสใน NBA พบว่า หุ่นยนต์เหมาะต่อการจำลองและสร้างการซ้อมในสถานการณ์เฉพาะเจาะจงมาก อีกทั้งยังมีอัตราการตอบสนองที่รวดเร็ว ระหว่างการฝึกซ้อมตัวหุ่นยังทำการเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อวัดประสิทธิภาพได้ทันทีอีกด้วย
หุ่นยนต์ AI จึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการฝึกซ้อม และอาจช่วยยกระดับการแข่งขัน NBA ไปอีกขั้น
ปัจจุบันหุ่นยนต์ได้รับการทดสอบใช้งานจากนักกีฬาและโค้ชทีม Golden State Warriors เป็นหลัก ต้องรอดูต่อไปว่าเมื่อใช้งานจริง หุ่นยนต์ทั้งสามตัวจะสามารถช่วยเหลือและปรับปรุงประสิทธิภาพการฝึกซ้อมได้ดีเพียงไร หากประสบความสำเร็จไม่ช้าทีมอื่นจะเริ่มนำมาใช้งาน พร้อมพัฒนาหุ่นยนต์บาสสำสโมสรเหล่านั้นต่อไป
ที่มา
https://www.youtube.com/watch?v=iwp7HbfNsp4&t=38s&ab_channel=NBA