คลัง ชี้สหรัฐขึ้นภาษี กระทบGDP 1% เตรียมแผนปรับสมดุลการค้ารับมือ
พิชัย เตรียมแผนปรับสมดุลการค้าไทย-สหรัฐฯ ลดผลกระทบจากภาษี 36% จ่อเพิ่มนำเข้าวัตถุดิบ เช่น ข้าวโพด หมู ปลาทูน่า พร้อมปรับลดภาษีนำเข้า เตรียมเดินทางเจรจาสหรัฐฯ เร็วๆ นี้
นายพิชัย ชุณหวชิรรองนายกรัฐมนตรีไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุม เพื่อหารือผลกระทบ และแผนเตรียมรับมือผลกระทบ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีใหม่สำหรับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศในอัตรา 10% และภาษีตอบโต้กับหลายประเทศ รวมถึงคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ โดยประเทศไทยถูกเก็บภาษีในอัตราสูงถึง 36% ว่า รัฐบาลไทยได้ประเมินถึงมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการรองรับและถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับไทยล่วงหน้านานแล้ว
สำหรับแนวทางการรับมือของไทย โดยการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส คือการสร้างสมดุลทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และไทย เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงถึง 70% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.3-1.4 ล้านล้านบาท โดยวิธีที่สร้างสรรค์ คือ ไทยต้องนำเข้ามากขึ้น สำหรับสินค้า 2 ส่วนที่มีผลกับดุลการค้า ได้แก่ ภาคเกษตร และภาคอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ หนึ่งในแนวทางสำคัญคือการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากสหรัฐฯ ให้มากขึ้น โดยการปรับลดภาษีการนำเข้าและทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อแปรรูปและส่งออกสินค้าไปขาย เช่น ข้าวโพดและปลาทูน่า นอกจากนี้ยังต้องลดอุปสรรคทางการค้าและมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งในเรื่องนี้รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ทันที แม้จะยังไม่ได้เจรจาอย่างเป็นทางการ โดยเชื่อว่ารายงานจากสหรัฐฯ จะชัดเจนในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลจะพยายามทำให้การแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบเป็นไปได้โดยเร็วที่สุด
เราสามารถใช้โอกาสนี้ในการนำเข้าสินค้าเกษตรมากขึ้น เช่น ข้าวโพด โดยต้องปรับเกณฑ์ให้สามารถนำเข้าได้มากขึ้น และสนับสนุนการแปรรูปเพื่อส่งออกต่อ ส่วนปลาทูน่าซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตใหญ่ก็ต้องดูแลผู้เลี้ยงในประเทศและเพิ่มการนำเข้า โดยเรามีสินค้าเกษตร 4-5 รายการที่ต้องการนำเข้ามากขึ้นจากสหรัฐฯ เพื่อปรับสมดุลการค้าของเรา
สำหรับภาคอิเล็กทรอนิกส์นั้น ต้องไปดูเรื่องการออกใบรับรองต้นตอสินค้าที่ผลิตในไทยให้เข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีสินค้าที่แจ้งว่ามีต้นกำเนิดในไทย แต่ไม่ได้ผลิตในไทยเต็มที่ จนทำให้เราดูเหมือนผู้ร้าย ก็ต้องมาดูในส่วนนี้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและมีความเข้มงวดมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ต้องเข้าไปดูการจัดการมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff) ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าบางอย่างที่ไทยไม่สามารถส่งออก หรือไม่สามารถนำเข้าได้ แต่มีการตั้งภาษีไว้สูงถึง 40-80% เช่น รถจักรยานยนต์ ซึ่งสหรัฐฯ เองมีการผลิตรถฮาเลย์ ประเด็นนี้ทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถขายรถฮาเลย์ได้ เพราะไทยตั้งอัตราภาษีสูง ตรงนี้ทำให้ไทยดูเหมือนเป็นผู้ร้าย ดังนั้นหากเอาตรงนี้ออกไปได้ก็จะเป็นเรื่องดี
สำหรับการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐนั้น นายพิชัยกล่าวว่า มีกรอบการทำงานที่ชัดเจนในทิศทางที่ต้องการ แต่ไม่สามารถระบุเป้าหมายตัวเลขได้ว่าจะขอลดอัตราภาษีที่สหรัฐปรับขึ้นให้เหลือเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม หากสามารถลดความได้เปรียบจากการได้ดุลการค้าได้แม้เพียง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็คงจะดี
นายพิชัยยังประเมินเบื้องต้นว่า ภาษีศุลกากร 36% ที่สหรัฐฯ ปรับเพิ่มอาจทำให้จีดีพีไทยลดลงราว 1% แต่เชื่อว่าการเจรจาที่รัฐบาลไทยเตรียมดำเนินการตามแผนจะช่วยทำให้ผลกระทบนี้ไม่ถึง 1%
เรื่องนี้กระทบจีดีพีทั่วโลก กระทบอย่างน้อย 1% หากเราทำได้ตามที่วางไว้จะลดผลกระทบจีดีพีลง ซึ่่งขณะนี้เราต้องพร้อมนำมาตรการหารือกับสหรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างไม่ได้ทำได้ภาย2-3 เดือน
ส่วนประเด็นที่เอกชนกังวลว่าจะเกิดความปั่นป่วนในตลาดโลก ทำให้สินค้าจากประเทศอื่น ๆ ทะลักเข้ามาไทย ไม่เพียงแต่จากจีน เช่น เวียดนามและอินเดีย ทางรัฐบาลไทยก็เตรียมมาตรการรองรับ รวมถึงแนวทางการเยียวยาผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบ แต่ต้องรอความชัดเจนหลังการเจรจาเสร็จสิ้นก่อน
นายพิชัยยังกล่าวว่า เขาจะเดินทางไปยังสหรัฐฯ ภายใน 2-3 สัปดาห์ นี้เพื่อเจรจากับฝ่ายสหรัฐฯ เกี่ยวกับมาตรการทางการค้า พร้อมกับเสนอแนวทางที่ไทยเตรียมไว้ในการปรับสมดุลการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดผลกระทบจากภาษีที่เพิ่มขึ้นได้