posttoday

"ปฏิรูปไม่ถึงฝั่ง" หมดหวังให้ทหารนำการเปลี่ยนแปลง

17 ธันวาคม 2560

"ตอนนี้พลังเปลี่ยนแปลงประชาชนสิ้นหวัง จะฝากไว้กับทหารก็ไม่ใช่ ฝากไว้ที่พรรคการเมืองก็ไม่ใช่ ฝากกับกลุ่มทุนก็เห็นชัดเจนว่าได้แต่กอบโกย"

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้เป็นที่เรียบร้อย ทำให้ถนนการเมืองทุกสายพุ่งสู่สนามเลือกตั้ง ทว่า ประเด็นซึ่งอยู่ในความสนใจของหลายฝ่ายโดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศ ว่าจะสำเร็จลุล่วงตามประสงค์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือไม่ 

“พิภพ ธงไชย” อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้มุมมองผ่าน “โพสต์ทูเดย์” ว่า “ถ้าตามกฎหมาย ก็นำไปสู่การเลือกตั้ง แต่โจทย์สังคมไทยไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้ง แต่โจทย์ใหญ่วันนี้อยู่ที่การปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่ผมไม่สนับสนุนการเลือกตั้ง แต่ในฐานะผมเป็นอดีตแกนนำพันธมิตรฯ คือ เราจะปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งได้ไหม” 

พิภพ ขยายความว่า การบริหารประเทศที่ผ่านมา เป็นการนำไปสู่ระบบทุนนิยม จะเป็นทุนนิยมต่างชาติหรือในประเทศก็ตาม แต่โจทย์วันนี้ชัดเจนว่าจะปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งจึงค่อยปฏิรูป หรือปล่อยให้การปฏิรูปประเทศคาราคาซังอย่างนี้แล้วมีการเลือกตั้ง หากปล่อยให้คาราคาซังหลังการเลือกตั้งไป ก็ไม่รู้จะมีรัฐบาลแบบไหน

“นายกฯ ไม่มีความรู้สึกเรื่องการปฏิรูปประเทศนั้นควรทำก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง และไม่ได้รู้สึกกับการปฏิรูปอย่างเป็นเนื้อใน ท่านไม่มีวิธีการทำงานแยบยลในเรื่องการปฏิรูปประเทศ ไม่มีความคิดดังเดิมที่จะเข้ามาปฏิรูปประเทศ เข้ามาเพราะสถานการณ์ความขัดแย้งมันบังคับ

และลืมมองไปว่าสถานการณ์ที่บังคับ มันมีกระแสปฏิรูปรวมอยู่ด้วย แต่ตำหนิท่านไม่ได้ เพราะนายกฯ ไม่เคยพูดคำว่าการปฏิรูป แม้แต่คุณสุเทพก็ไม่พูดเรื่องนี้บนเวที กปปส. จนกระทั่งถูกกดดันจากคนขึ้นเวที จึงเกิดคำนี้ ผิดจากพันธมิตรฯ ที่ได้เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องเป็นราว ตั้งแต่เวทีในทำเนียบรัฐบาล”

พิภพ บอกว่า ถ้าส่วนตัวได้เป็นนายกฯ จะเสนอให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง เพราะมันปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2560 ในแง่ของคณะกรรมการปฏิรูป ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐบาลคาบเกี่ยวบนรัฐธรรมนูญ 2560 จึงควรใช้โอกาสนี้ในการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญกำหนด แต่ได้ตัวจริงหรือเปล่านั้นประชาชนยังสงสัย

“คำว่าตัวจริง คือ เป็นนักปฏิรูป และคิดเรื่องการปฏิรูปชัดเจน ผมว่าโจทย์นี้ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ ตีโจทย์ไม่แตก และไม่กล้าประกาศขอปฏิรูปให้เสร็จก่อนแล้วจึงจะให้มีการเลือกตั้ง ท่านเลยประกาศเพียงว่าจะทำตามโรดแมป แต่โรดแมปไม่ได้บอกว่าปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งให้สำเร็จ หรือจะปฏิรูปหลังการเลือกตั้ง”

พิภพ กล่าวว่า ปฏิรูปหลังการเลือกตั้งมันไม่มีใครคุมได้ ถึงแม้รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแบบไหน ซึ่งต้องแต่งตั้งแน่และรื้อคณะกรรมการปฏิรูปที่รัฐบาลนี้แต่งตั้งไว้ แล้วรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็มาทำซ้อนกัน ด้วยการเสนอนโยบายการพัฒนาประเทศ 20 ปี เมื่อทับซ้อนกัน นายกฯ ไม่เด็ดขาดเอาอย่างไร แล้วใช้วิธีเร่งรีบที่จะปฏิรูปให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง

“ปัญหาการปฏิรูปต้องออกกฎหมาย เพื่อให้สามารถปฏิรูปได้ ดังนั้น ถามว่าจะทันหรือไม่ เพราะต้องออกกฎหมายเยอะมาก ถ้าไม่มีกฎหมายกำกับ แผนปฏิรูปที่คณะกรรมการปฏิรูปเสนอมาจะเป็นเพียงแนวคิด จึงเป็นโจทย์ใหญ่ประเทศ ถ้านายกฯ ตีโจทย์ตรงนี้แตก แล้วตั้งคำถามกับประชาชนถ้าจะปฏิรูปประเทศ และออกกฎหมายประกอบการปฏิรูปให้เสร็จ แล้วจึงให้มีการเลือกตั้งเห็นด้วยหรือไม่ จะบอกว่าไม่กล้าก็คงไม่ใช่ เพียงแต่นายกฯ ความคิดไม่ชัดในเรื่องการปฏิรูป”

อดีตแกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า เมื่อความคิดไม่ชัด สามารถแสวงหาได้ ถ้าแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปถูกคน ซึ่งต้องขีดเส้นใต้คำนี้ ก็สามารถเรียนรู้จากคณะกรรมการปฏิรูป เพราะมีอำนาจเชิญมาจิบน้ำชาที่ทำเนียบรัฐบาลได้เป็นครั้งคราวทุกคณะ และอย่าคิดว่าเป็นการก้าวก่าย เพราะคือผู้นำประเทศ และเป็นคนแต่งตั้ง ต้องพูดคุยให้รู้ว่าในฐานะผู้นำประเทศคิดอะไรในเรื่องปฏิรูปแล้วแลกเปลี่ยนกัน

ส่วนที่มองว่าการปฏิรูปไม่เดินหน้าเพราะมาจากปัจจัยแวดล้อม พิภพ ระบุว่า นายกฯ สามารถคุมได้เพราะมีอำนาจในมือและมากกว่าสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกฯ แม้จะมีแปรปรวนบ้าง แต่คณะทหารคุมได้ถึงขนาดกระแสความคิดของคนชนชั้นกลาง ยังรีๆ รอๆ น่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งไม่ได้บอกว่าถูกหรือผิด เพราะสุดท้ายต้องมีการเลือกตั้ง มีระบบประชาธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ ในการแก้ปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยรอบ 10 ปี

\"ปฏิรูปไม่ถึงฝั่ง\" หมดหวังให้ทหารนำการเปลี่ยนแปลง

พิภพ ยอมรับว่า สัญญาณจากกลุ่มพันธมิตรฯ รวมถึง กปปส. ส่งไปให้รัฐบาลโดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปแม้จะยังไม่ถูกขับเต็มสูบ แต่ก็ถือว่าไม่เสียหลาย เพราะอย่างน้อยรัฐธรรมนูญ 2560 ได้นำทิศทางการปฏิรูปประเทศเข้าไปเขียน และมากที่สุดกว่าทุกฉบับ

 

ทว่า อาจยังไม่ได้พูดถึงเนื้อหา เพียงวางกรอบไว้ในหมวดสิทธิเสรีภาพ หรือหมวดต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของคณะกรรมการปฏิรูป ทว่า อำนาจการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปอยู่ในมือนายกฯ ดังนั้น จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ถ้าตั้งผิดคน ออกมาผิดฝาผิดตัว จึงอยากเสนอให้ ครม.ต้องคุยกับคณะกรรมการปฏิรูปทุกสัปดาห์ เพื่อหากรอบการทำงานร่วมกันให้เกิดความชัดเจน

อย่างไรก็ดี หากให้เทียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กับรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พิภพ มองว่า เป็นความแตกต่างของเรื่องกลุ่มทุนที่เข้าไปมีอิทธิพลในรัฐบาล เพราะรัฐบาลทหารเป็นกลุ่มทุนหนึ่ง ขณะที่กลุ่มทุนรัฐบาลทักษิณก็เป็นอีกกลุ่มทุนหนึ่ง เป็นกลุ่มทุนสองกลุ่ม ดังนั้น ความเห็นกลุ่มทุนทางการเมืองที่ไปหนุนรัฐบาลทหาร เป็นคนละกลุ่ม

“ความเหมือนกัน คือ กลุ่มทุนยังมีอิทธิพลต่อรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทักษิณ หรือรัฐบาลทหารแต่ที่ชัดเจนในรัฐบาลทหาร คือ ข้าราชการมีบทบาท มีอิทธิพลมากขึ้น ถ้าเทียบกับรัฐบาลทักษิณ ข้าราชการเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐบาล แต่ในแง่ความเหมือนกัน ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยลงทั้งสองรัฐบาล ดูเหมือนว่านโยบายไปให้ประชาชนมาก แต่การมีส่วนร่วมน้อยลงเหมือนเดิม รวมไปถึงการกระจายอำนาจไม่ชัดเจนทั้งสองรัฐบาล”

พิภพ ยืนยัน สิ่งที่ต่อสู้มาของพันธมิตรฯ ในเรื่องการปฏิรูปนั้นถือว่ามาถูกทาง แต่พันธมิตรฯ ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเป็นรัฐบาล หรือการตั้งพรรคการเมือง ดังนั้น การจะกำหนดเรื่องการปฏิรูปให้ชัดเจนขึ้นต้องฝากไว้ที่รัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลเลือกตั้ง เพราะพันธมิตรฯ ไม่ได้ทำงานการเมืองในระบบพรรคการเมือง ฉะนั้น เลยไม่มีพลังไปดันเรื่องนี้ในรัฐบาล

อย่างไรก็ดี แต่สิ่งที่พันธมิตรฯ และ กปปส.เหมือนกัน คือ ทำให้ประชาชนตื่นตัวขึ้น แต่การตื่นตัวยังไม่สามารถไปกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงประเทศได้ เพราะอำนาจอยู่ในมือของทหาร อยู่ในมือของพรรคการเมือง อยู่ในมือของกลุ่มทุน ในระหว่างยังไม่มีการเลือกตั้ง และเมื่อมีการเลือกตั้งพรรคการเมืองจะเข้ามามีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงประเทศมากขึ้น แต่จุดอ่อนไม่มีพรรคการเมืองไหนเป็นพรรคการเมืองประชาชน เป็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มทุนเท่านั้น

สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน พันธมิตรฯ มีหน้าที่ทำให้ประชาชนตื่นตัว และเชื่อว่ามีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ แต่ไม่มีอำนาจในการปฏิรูปประเทศ แต่ความตื่นตัวของประชาชน เมื่อมาถึงจุดๆ หนึ่ง ยังไม่มีพลังพอเปลี่ยนแปลงประเทศได้ตามที่ตัวเองต้องการ คือ เรื่องการปฏิรูปประเทศ

ส่วนจะผลักดันอย่างไรนั้น พิภพ ยอมรับ สังคมไทยคงยาก ต้องอาศัยการพัฒนาไปอย่างนี้เรื่อยๆ แต่จุดแข็งของการเคลื่อนไหวในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ความหวังต่อพรรคการเมืองไม่มี และวันนี้ความหวังต่อทหาร ที่จะให้ทหารนำการเปลี่ยนแปลงประเทศ ก็ไม่มี

“สังคมไทยอยู่ในจุดรอยต่อว่ามันไม่มีความหวังต่อพลังทางการเมืองใดๆ ที่จะปฏิรูปประเทศ ฉะนั้นต้องมีการฟอร์มขึ้นมาใหม่ ในอนาคตที่จะให้มีพลังเปลี่ยนแปลง หรือเรียกว่าการปฏิรูปประเทศได้ ตอนนี้พลังเปลี่ยนแปลงประชาชนสิ้นหวัง จะฝากไว้กับทหารก็ไม่ใช่ ฝากไว้ที่พรรคการเมืองก็ไม่ใช่ ฝากกับกลุ่มทุนก็เห็นชัดเจนว่าได้แต่กอบโกย”

พิภพ ยังฝากถึงกลุ่มพันธมิตรฯ ว่า อย่าไปหมดหวัง อาศัยความตื่นตัวและพัฒนามันให้เข้มแข็ง ทำสิ่งที่ทำได้ในเรื่องการเปลี่ยนแปลง คือ ทำจากเล็กไปหาใหญ่ และเมื่อมีโอกาสจึงค่อยทำใหญ่ไปหาเล็ก ซึ่งคิดว่าวันนี้โอกาสที่ประชาชนจะทำสิ่งที่ใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงประเทศไม่มีในระยะสั้นนี้ แต่ประชาชนสามารถปฏิรูประดับย่อยได้ โดยใช้อำนาจโซเชียลมีเดียให้เกิดพลังมากขึ้นในการนำเสนอข้อเท็จจริงและทางออกของประเทศไทย