posttoday

เจเนอเรชัน 2 ยีนส์ฮาร่าปั้นแบรนด์ไทยผงาดเอเชีย

12 มีนาคม 2553

...ดวงใจ จิตต์มงคล

หลังจากที่ เลิศชัย กมลวิศิษฎ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ฮาร่า (ประเทศไทย) คร่ำหวอดในวงการเสื้อผ้าสิ่งทอเกือบครึ่งศตวรรษ ก็ได้ส่งไม้ต่อให้บุตรสาว ลีลานุช กมลวิศิษฎ์ วัย 28 ปี ในฐานะรุ่น 2 ที่เข้ามาดูแลกิจการในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ 23 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับวางวิสัยทัศน์ในอีก 5 ปีข้างหน้านับจากนี้ จะนำ แบรนด์ฮาร่าแฟชั่นสัญชาติไทยโกอินเตอร์อย่างเต็มตัว

ลีลานุช กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจในรุ่นที่ 2 ต้องการที่จะขยายฐานกลุ่มเป้าหมายสินค้าแฟชั่นแบรนด์ฮาร่าไปยังกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น มีอายุตั้งแต่ 1525 ปีขึ้นไป จากปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายเดิมแบรนด์ยีนส์ฮาร่า เป็นผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 3540 ปี ที่รู้จักแบรนด์เป็นอย่างดี

ดังนั้น บริษัทจึงได้แตกซับแบรนด์ออกมาเพื่อรุกตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ ภายใต้แบรนด์ จิ๊กการู บาย ฮาร่า” (Jikkaroo By Hara) และได้เริ่มทดลองทำตลาด หรือซอฟต์ลอนช์ไปเมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมา วางราคาจำหน่ายตั้งแต่ 8001,600 บาท โดยสินค้าแบรนด์ดังกล่าวจะเน้นรูปทรงการออกแบบที่มีความทันสมัย เข้ากับกระแสของแฟชั่น ซึ่งหลังทดลองทำตลาดระยะหนึ่งพบว่าได้การตอบรับดีจากกลุ่มเป้าหมายลูกค้าวัยรุ่น

ทั้งนี้ ได้วางจำหน่ายสินค้าร่วมกับแบรนด์ใหญ่ฮาร่า ผ่านช่องทางห้างสรรพสินค้าต่างๆ กว่า 160 จุด ขายทั่วประเทศ และในปีนี้ยังมีแผนเปิดเคาน์เตอร์ แบรนด์ จิ๊กการู บาย ฮาร่า เพิ่มอีก 10 จุด และเตรียมเปิดตัวร้านต้นแบบขนาดใหญ่ (แฟล็กชิป สโตร์) ภายในปีนี้ด้วย โดยจะต้องมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตร.ม. ขึ้นไป เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับลูกค้ากลุ่มใหม่มากขึ้นนับจากนี้

นับจากนี้ไปแบรนด์ลูก จิ๊กการู บาย ฮาร่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนรายได้สำคัญให้กับธุรกิจบริษัท โดยจะเริ่มปูทางการทำตลาดอย่างจริงจัง โดยมีคุณพ่อให้คำปรึกษาบ้าง และจะถอยไปดูแลภาพรวมกิจการมากกว่าลีลานุช กล่าว

ส่วนแนวทางการทำตลาด บริษัทจะมุ่งให้ความสำคัญผ่านสื่อโฆษณากลางแจ้งและนิตยสาร รวมทั้งการเข้าไปใช้สื่อใหม่ หรือนิวมีเดีย อย่างอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์ที่มีการปรับโฉมเปลี่ยนใหม่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายลูกค้าได้แบบตัวต่อตัวมากขึ้น

ขณะเดียวกันบริษัทยังเตรียมแผนจัดกิจกรรมเปิดตัวสินค้าแบรนด์ดังกล่าวไปยังสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาราว 15 แห่ง ในรูปแบบอีเวนต์ต่างๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายร่วมกิจกรรม โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนก.ค.ต.ค. ปีนี้ จากนั้นในช่วงไตรมาส 3 จะโรดโชว์กิจกรรมไปยังหัวเมืองต่างจังหวัดใหญ่ด้วย

ขณะที่แบรนด์ ฮาร่านั้น ด้วยความที่เป็นแบรนด์ที่อยู่มานานกว่า 40 ปี และมีกลุ่มเป้าหมายเดิมเฉพาะ จึงเตรียมออกสินค้ารุ่นจำนวนจำกัด (ลิมิเต็ด คอลเล็กชัน) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพร้อมปรับภาพใหม่แบรนด์ฮาร่า เน้นสินค้ากลุ่มเบสิกยีนส์ เพื่อเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายผู้ใหญ่ทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยจะผลิตสินค้าหลากหลายขึ้นมารองรับ ทั้งเสื้อยืด เสื้อแจ็กเกต เสื้อเชิ้ต และกางเกงยีนส์

พร้อมกับวางแผนเพิ่มไลน์สินค้าเสื้อผ้าชุด หรือเดรส สำหรับผู้หญิงภายใต้แบรนด์ฮาร่า เข้ามาทำตลาดด้วย จากปัจจุบันฮาร่ามีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิง 70% และผู้ชาย 30% และมีกำลังซื้อเฉลี่ยต่อครั้ง 1,0002,000 บาทต่อคน

แผนงานที่วางไว้ทั้งหมดนี้ ทำให้บริษัทเพิ่มงบอีก 20% สำหรับทำตลาดปีนี้ และเป็นการหวนคืนทำตลาดอย่างจริงจังของฮาร่าเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมาทีเดียว

ทั้งนี้ ลีลานุช ยอมรับว่า ตลาดแฟชั่นในประเทศไทยมีการแข่งขันรุนแรงต่อเนื่องมาโดยตลอดทั้งจากรายใหม่ที่เข้ามา และบางรายที่ถอยออกไป ที่สำคัญนับแต่ปีนี้เป็นต้นไป การแข่งขันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากประเทศไทยเข้าสู่การค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) เป็นผลให้อินเตอร์แบรนด์เนมแฟชั่นจากต่างประเทศ ไหลบ่าทะลักเข้ามายังตลาดในประเทศมากขึ้น

จากสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เจ้าของสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมไทยอย่าง ฮาร่านอกจากจะวางแผนตั้งรับแล้ว ยังต้องวางแผนรุกไปพร้อมกันด้วย

เราจะชูจุดแข็งของแบรนด์ฮาร่า ที่อยู่ในวงการแฟชั่นกางเกงยีนส์มานาน เพื่อตอกย้ำโพสิชันนิงสินค้าแบรนด์ดังกล่าวในการทำตลาด และขายไอเดีย ดีไซน์ ที่นำไปมิกซ์กับการแต่งกายได้หลากหลายรูปแบบของผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะด้านฟิตติง การตัดเย็บที่เข้ากับรูปร่างคนเอเชียด้วยกันลีลานุช กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังวาดแผนระยะ 5 ปีนับจากนี้ ที่จะขยายไปยังตลาดส่งออกโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย เป็นต้น โดยจะร่วมมือกับพันธมิตรหรือดีลเลอร์ให้เป็นตัวแทนการขายและทำตลาด รวมถึงร่วมกับผู้ประกอบการค้าปลีกที่เตรียมโรดโชว์แฟชั่นแบรนด์เนมไทย ไปสร้างความรู้จักในตลาดต่างประเทศด้วย ทำให้บริษัทวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกอีก 30% และใน 12 ปี จากนี้ เตรียมขยายไปยังโลกการค้าบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือแฟชั่นออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ด้วย รวมถึงแผนขยายไลน์เสื้อผ้าแบรนด์ฮาร่าเข้าไปยังกลุ่มสปอร์ตแวร์

ทั้งหมดถือเป็นผลงานของทายาทรุ่น 2 ของตระกูลกมลวิศิษฎ์ ที่ยังเหลือน้องชาย และน้องสาวอีก 2 คน เตรียมออกมาช่วยบริหารธุรกิจร่วมกันนับจากนี้

ลีลานุช บอกว่า การที่พี่น้องทุกคนออกมาช่วยกันไม่ใช่เป็นเพราะเหตุผลธุรกิจของครอบครัว แต่เป็นการทำงานด้วยใจรักที่ปลูกฝังมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น และถ่ายทอดต่อๆ ไป เพื่อสร้างให้แบรนด์ยีนส์ฮาร่าที่มาจากสายเลือดไทย ให้เป็นสินค้าของคนไทยที่สวมใส่กันและเป็นที่ยอมรับในตลาดแฟชั่นสากล

จากแผนเชิงรุกตลาดในประเทศปีนี้ บริษัทตั้งเป้ามียอดขายเติบโต 15% ซึ่งจะมาจากสินค้าซับแบรนด์อย่าง จิ๊กการู บาย ฮาร่า ที่เชื่อว่าสัญญาณเศรษฐกิจในปีนี้ที่ฟื้นตัวขึ้นจะผลักดันให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้นตามมาเช่นกัน