posttoday

ผ่าตำนาน 60 ปี "เอฟบีที" จากแบรนด์กีฬาไทย สู่อาเซียน

07 ธันวาคม 2555

โดย...ดวงใจ จิตต์มงคล

โดย...ดวงใจ จิตต์มงคล

คำเรียกขานว่า “เอฟบีที” (FBT) ที่นอกจากจะเป็นชื่อสามัญอันคุ้นเคยของวงการกีฬาไทยมาอย่างยาวนานมาจวบจน 60 ปีในปัจจุบัน ยังถือเป็นชื่ออันเสมือนสัญลักษณ์ตัวแทนของประเทศไทยในวงการกีฬานานาชาติอีกด้วย

“เอฟบีที” คือชื่อยี่ห้อ และเครื่องหมายการค้าของบริษัท โรงงานฟุตบอลล์ไทย สปอร์ตติ้งกู๊ดส์ หรือที่เรียกติดปากว่า “ฟุตบอลไทย” ซึ่งมีที่มาจากสินค้ากีฬายุคบุกเบิก กระทั่งสู่กิจการธุรกิจหลายพันล้านบาทในปัจจุบัน

ธุรกิจและแบรนด์ไทย “เอฟบีที” มาจากจุดเริ่มต้นของ กมล โชคไพบูลย์กิจ หรือ กิมก๊ก แซ่เฮ้ง ชาวจีนโพ้นทะเลจากเมืองซัวเถา ที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินไทย เมื่อ พ.ศ. 2488 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงหมาดๆ

เพราะการเรียนรู้ภาษาจีนกับภาษาไทยอีกพอสมควร กิมก๊กจึงหางานทำได้ในเวลาต่อมา ด้วยการเป็นลูกมือในร้านซ่อมหนัง แถวตลาดสะพานเหลือง ที่รับซ่อมแซมสิ่งของที่ทำด้วยหนังทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า รองเท้า หรือแม้แต่ลูกบอลต่างๆ ทำให้ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่บนแผ่นดินไทยได้มั่นคง อย่างที่เจ้าตัวนึกไม่ถึงเช่นกัน

จากอาชีพช่างเย็บหนังของกิมก๊ก ได้แรงบันดาลใจจากการซ่อมลูกฟุตบอล ซึ่งลูกฟุตบอลในสมัยนั้นทำจากหนังวัวแท้เต็มตัว ตัดเป็นรูปตัว T เย็บด้วยด้ายแล้วประกอบเป็นทรงกลมตามลูกยางกลมข้างใน เมืองไทยในยุคนั้นมีเพียงร้านค้าที่นำลูกฟุตบอลจากเยอรมนีมาจำหน่ายและลูกรักบี้ฟุตบอลมาเล่น เริ่มแรกจากมีร้านค้าอุปกรณ์กีฬาเพียง 4 แห่งในพระนคร หรือ กทม. ที่สั่งเข้ามาจำหน่ายในสมัยนั้น

เรื่องที่กิมก๊กจำได้อย่างแม่นยำจนถึงทุกวันนี้ว่า ลูกค้าฝรั่งคนแรกที่เอาลูกฟุตบอลไปให้ซ่อม เป็นชาวเยอรมันที่เอาลูกฟุตบอลหนังเย็บ แต่ด้ายเย็บขาด ทำให้หนังแผ่นปริแยกจากกัน ไปให้ซ่อมแซม และจากการซ่อมนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กิมก๊กสามารถเย็บลูกฟุตบอลใหม่ขึ้นมากับมือได้

กิมก๊กเรียนรู้วิธีการเย็บ การประกอบแผ่นหนังให้เป็นทรงกลม จากโครงสร้างของลูกฟุตบอลชำรุดดังกล่าว เมื่อมีประสบการณ์การซ่อมลูกฟุตบอลมากขึ้น กิมก๊กจึงมีความชำนาญและมั่นใจ สำหรับการซ่อมหรือเย็บลูกฟุตบอลด้วยมือ จนสามารถทำหรือเย็บลูกฟุตบอลใหม่ขึ้นมาเองได้

จุดเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองเกิดขึ้นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2493 หลังจากที่ฝันอยากเย็บลูกฟุตบอลขาย เพราะเห็นว่ามีลูกค้ามีตลาดแน่นอนพอสมควร พร้อมพยายามหาเงินมาลงทุนเองจนสำเร็จ เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมโรงเรียนฟู่เจิ้นที่ให้ยืมเงิน 1,000 บาทเป็นต้นทุน

จากนั้นได้กลับไปอาศัยบ้านญาติที่ตลาดน้อย แล้วอาศัยศาลาวัดญวนตลาดน้อยเป็นที่เย็บลูกฟุตบอล ซึ่งก้าวแรกของการเย็บลูกฟุตบอลด้วยมือ ทำได้วันละ 23 ลูก ทยอยทำได้จำนวนหนึ่งแล้ว นำกิมก๊กก็เอาลูกฟุตบอลไม่มียี่ห้อของตัวเอง ไปฝากขายตามห้างหรือร้านขายเครื่องกีฬาในสมัยนั้น อาทิ ห้างไนติงเกลโอลิมปิค ห้างมาลินี ห้างนกอินทรี ห้างยูเนี่ยนสปอร์ต ห้างเฮียหลีเซียง ห้างกรุงเทพสปอร์ต ฯลฯ

ในปี พ.ศ. 2495 ธุรกิจเย็บลูกฟุตบอลขายเริ่มติดตลาดมั่นคง ทำให้กิมก๊กมีเงินเหลือไปใช้หนี้ผู้มีบุญคุณ และเริ่มขยับขยายกิจการ และเมื่อได้สัญชาติไทยหลังจากแต่งงาน จึงได้ใช้ชื่อไทยว่า “กมล โชคไพบูลย์กิจ” พร้อมจดทะเบียนการค้าของตัวเองในนามห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานอุตสาหกรรมฟุตบอลไทย เรียกชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า FBT หรือ “เอฟบีที” เพื่อสื่อความหมายถึงลูกฟุตบอลที่ผลิตขึ้นในเมืองไทย

จวบวันแรกจนถึงปัจจุบัน “เอฟบีที” มีอายุครบ 60 ปีเต็ม ในฐานะแบรนด์สินค้าเสื้อผ้าอุปกรณ์กีฬาของคนไทย ที่ปัจจุบัน กมล ในฐานะผู้ก่อตั้งที่ยังคงวางนโยบายหลักในการดำเนินธุรกิจ ปัจจุบันมีทายาท มนต์ชัย โชคไพบูลย์กิจ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานฟุตบอลล์ไทย สปอร์ตติ้งกู๊ดส์ ที่ร่วมผลักดันธุรกิจให้เป็นไปตามทิศทางที่วางไว้

มนต์ชัย กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจ “เอฟบีที” ที่กำลังขึ้นสู่ทศวรรษที่ 7 นับจากนี้ไป จะมุ่งตอกย้ำความแข็งแกร่งของแบรนด์เสื้อผ้าอุปกรณ์กีฬาของคนไทยให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นในฐานะตราสินค้าระดับสากลได้เช่นเดียวกับแบรนด์กีฬาดังๆ อย่างไนกี้ หรืออาดิดาส ฯลฯ ได้ในอนาคต โดยเฉพาะการใช้ประตูการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ที่จะเป็นอีกหนึ่งตลาดสำคัญ

โดยเฉพาะในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ พบว่าคนไทยเริ่มหันมาให้ความสำคัญในการเล่นกีฬาประเภทต่างๆ มากขึ้น ทำให้ตลาดเสื้อผ้าอุปกรณ์กีฬาในปัจจุบันมีมูลค่าการเติบโตสูงขึ้นกว่า 34 เท่าตัว ทว่าก็มีจำนวนผู้แข่งขันเพิ่มขึ้นตามมามากเช่นกัน ทั้งตลาดระดับบน กลาง และล่าง ที่อย่างหลังมีช่องทางขายหลักอย่างในตลาดโบ๊เบ๊ ที่วางราคาจำหน่ายเสื้อกีฬาเพื่อขายส่งราวๆ 4060 บาทต่อตัว และเน้นก๊อปปี้แบบเสื้อกีฬาสโมสรฟุตบอลแบรนด์ดังเป็นจุดขายหลัก

ทั้งนี้ เอฟบีทีอาศัยจุดแข็งและความแข็งแกร่งของแบรนด์ที่มีมานาน พร้อมวางตำแหน่งเป็นแบรนด์สินค้ากีฬาเฉพาะรูปแบบ “Technical Ware” ในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคหลัก เพื่อสร้างความแตกต่างไปจากผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะการคำนึงถึงมาตรฐานและวัตถุดิบในการผลิตสินค้าแต่ละประเภทต่างๆ ที่ปัจจุบันมีสายผลิตสินค้าครอบคลุมกีฬาเกือบทุกประเภท ยกเว้นกีฬากอล์ฟเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นจากโรงงานเดิม ตั้งอยู่ที่เขตหนองจอก กรุงเทพฯ บนพื้นที่ 62 ไร่ ที่ปัจจุบันแบ่งสัดส่วนการผลิตเป็นกลุ่มเสื้อผ้า 6065% และกลุ่มอุปกรณ์กีฬา 3540% มีกำลังผลิตกลุ่มเสื้อราว 2.5 หมื่นชิ้นต่อวัน เป็นต้น ซึ่งยอมรับว่าจากนโยบายรัฐการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 300 บาทต่อวันในปีหน้าจะส่งผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตเช่นกัน

ปัจจุบันเสื้อ 1 ตัว มีต้นทุนที่มาจากจากค่าแรงราว 40% ทำให้บริษัทเตรียมหันไปพัฒนาระบบการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมจัดอบรมพนักงานให้มีความรู้เข้าใจในทิศทางเดียวกันเพื่อภายใต้คอร์สอบรมด้านต่างๆ อาทิ ลีน โปรดักชัน เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่มีการขยายอัตราการเติบโตมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนที่เตรียมเข้าสู่เออีซี ในปี2558

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีแผนลงทุนการทำตลาดโดยวางงบประมาณกว่า 100150 ล้านบาทต่อปี ให้การสนับสนุนด้านกิจกรรมกีฬาของไทย โดยเฉพาะการเข้าเป็นสปอนเซอร์สโมสรฟุตบอลไทย หรือไทยพรีเมียร์ลีก ทั้งในดิวิชัน 1 และ 2 โดยเฉพาะอย่างหลังมากที่สุด เพื่อให้ได้ใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น ที่เอฟบีทีให้การสนับสนุนไทยพรีเมียร์ลีกต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 2030 ปี

นอกจากนี้ เอฟบีทียังอยู่ระหว่างรอผลตัดสินว่าจะได้เป็นแบรนด์ผู้สนับสนุนในกีฬาซีเกมส์ 2013 อย่างเป็นทางการที่เตรียมจัดขึ้นในประเทศเมียนมาร์ ราวปลายปี 2556 หรือไม่ ซึ่งต้องรู้ผลก่อนเดือน มี.ค.ปีหน้า จากในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา เอฟบีทีจะเป็นแบรนด์หลักที่เข้าสนับสนุนมหกรรมกีฬาดังกล่าว เพื่อตอกย้ำและสร้างการจดจำแบรนด์ดังกล่าวให้อยู่ในใจผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนในฐานะแบรนด์กีฬามืออาชีพชั้นนำ

จากแนวทางดังกล่าว ถือเป็นเพียงบางส่วนของแผนธุรกิจที่วางไว้เพื่อต่อยอดให้แบรนด์เอฟบีที ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าของคนไทย ให้มีโอกาสขยายการทำตลาดไปยังภูมิภาคนี้ในฐานะแบรนด์ระดับอาเซียนในอนาคต จากปัจจุบันเอฟบีทีทำตลาดส่งออกไปแล้วยังประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และลาว เป็นต้น รวมถึงในประเทศยุโรป และเตรียมแผนขยายตลาดไปยังพม่าในปีหน้าด้วย

ขณะที่ผลประกอบการธุรกิจบริษัทในปีนี้ คาดว่ามีอัตราการเติบโตคงที่ใกล้เคียงกับปีก่อน หรืออยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้านบาท และซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีก่อน จนถึงช่วงต้นปีนี้ที่ชะลอกำลังซื้อสินค้าในตลาดกลุ่มนี้ไปพอสมควร จากนี้ไปบริษัทคาดจะมีอัตราการเติบโตราว 15-20% ต่อปี