posttoday

ผวาไชน่าโมบายล์นำ"ซง"บุกไทยเปิดศึกมือถือดุ

11 กันยายน 2557

ค่ายมือถือชี้หากไชน่า โมบายล์ นำมือถือยี่ห้อซงเข้ามาทำตลาดหลังร่วมทุนทรู มือถือแข่งดุแน่

ค่ายมือถือชี้หากไชน่า โมบายล์ นำมือถือยี่ห้อซงเข้ามาทำตลาดหลังร่วมทุนทรู มือถือแข่งดุแน่

แหล่งข่าวจากวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เปิดเผยว่า การที่กลุ่มทรูมูฟนำผู้ร่วมทุนใหม่ยักษ์วงการโทรคมนาคมประเทศจีน บริษัท ไชน่า โมบายล์ เข้าพบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อเยี่ยมคารวะก่อนแถลงยุทธศาสตร์โทรคมนาคมในไทย วันที่ 11 ก.ย. ภายหลังไชน่า โมบายล์ เข้าถือหุ้น 18% หรือ 2.86 หมื่นล้านบาท ในทรูมูฟ

สำหรับกลยุทธ์ไชน่า โมบายล์ หากนำมือถือยี่ห้อ “ซง” เข้ามาทำตลาดในไทย ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะปัจจุบันโทรศัพท์มือถือแบรนด์จีนได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคไทยมากขึ้น และในอนาคตทุกค่ายมือถือต้องเข้าไปผลิตสินค้าในจีน และมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาคุณภาพและแบรนด์ไว้

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากการลงทุนของไชน่าโมบายล์ในหลายประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในแง่ของตัวเงินเพื่อรับผลตอบแทนมากกว่าจะเน้นนำสินค้า เข้าไปจำหน่าย เช่น ในปากีสถาน ที่ไชน่า โมบายล์ เน้นผลตอบแทนจากการถือหุ้น

ทั้งนี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงาน กสทช. กล่าวว่า หลังจากบริษัท ไชน่า โมบายล์ ได้เข้าหารือ ทาง กสทช.ได้ให้ข้อมูลในด้านต่างๆ ให้กับบริษัท ไชน่า โมบายล์ เพื่อสร้างความมั่นใจกับการเข้ามาลงทุนธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทยหลังร่วมกับกลุ่มทรู

ด้านข้อมูลที่ได้ชี้แจงไปยังบริษัท ไชน่า โมบายล์ จะเน้นไปที่อัตราการเติบโตของธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย อัตราส่วนการครอบครองการถือหุ้นของคนต่างด้าว ซึ่งต้องอยู่ในอัตราส่วน 49:51 และการครอบงำการลงทุน 8 ข้อ โดยในส่วนของข้อมูลที่ให้ไปถือว่าตรงกับข้อมูล ที่ บริษัท ไชน่า โมยายล์ ศึกษาไว้ในเบื้องต้น

นอกจากนี้ ยังได้เปิดเผยตัวเลขอัตราการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งปัจจุบันมีตัวเลขอยู่ที่ 110 ล้านเลขหมาย ในจำนวนดังกล่าวอยู่ในระบบ 3จี ประมาณ 65 ล้านเลขหมาย จากจำนวนผู้ใช้บริการดังกล่าวส่งผลให้ยอดขายสมาร์ทโฟนในปีนี้มีอัตราการเติบโตสูงถึง 30%

ปัจจุบันธุรกิจโทรคมนาคมและธุรกิจแพร่ภาพกระจายเสียงโทรทัศน์มีการเติบโต 2.5% คิดเป็นมูลค่า 3% ของจีดีพีประเทศ หากปี 2558-2559 มีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 1900 MHz เชื่อว่า ทั้งสองธุรกิจจะมีมูลค่า 5% ของจีดีพี