posttoday

‘อมร Phuket Pearl’ ไข่มุกคู่มงกุฎนางงามโลก

06 กุมภาพันธ์ 2558

โดย...อชัถยา ชื่นนิรันดร์

โดย...อชัถยา ชื่นนิรันดร์

เมื่อ 50 ปีก่อน ฟาร์มหอยมุกเล็กๆ แห่งหนึ่งในอ่าวสะปำ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เริ่มต้นขึ้น และสืบทอดธุรกิจ จากรุ่นอาก๋ง ต่อมาถึงรุ่นหลาน จนขณะนี้กลายเป็นฟาร์มเลี้ยงหอยมุกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีโรงงานผลิตภัณฑ์เครื่องประดับไข่มุก และโชว์รูมแสดงสินค้า ภายใต้ แบรนด์ “อมร Phuket Pearl” ซึ่งมีรางวัลระดับชาติและนานาชาติการันตีคุณค่าของไข่มุกทะเลใต้ และผลงานการออกแบบของช่างฝีมือชาวไทย

ยิ่งกว่านั้น ภูเก็ตเพิร์ลยังได้รับความไว้วางใจให้ออกแบบและผลิตมงกุฎนางงามมาแล้วหลายครั้ง อาทิ มงกุฎมิสไทยแลนด์เวิลด์ มิสเวิลด์ สิงคโปร์ และมิสเวิลด์ สวิตเซอร์แลนด์

ความสำเร็จของภูเก็ตเพิร์ล เริ่มจากจุดเปลี่ยนสำคัญในรุ่นหลาน ที่มี อมร อินทรเจริญ ประธาน บริษัท ภูเก็ตเพิร์ล กรุ๊ป เข้ามาสืบทอดดูแลกิจการต่อจากบิดาตั้งแต่ปี 2533 เริ่มจากการต่อยอดจากการขายไข่มุกมาเป็นการผลิตเครื่องประดับ และขยายจากอุตสาหกรรมในครัวเรือนมาเป็นอุตสาหกรรมแบบครบวงจร โดยทำการศึกษาและวิจัยร่วมกับสถาบันต่างๆ

ความสำเร็จครั้งสำคัญของภูเก็ตเพิร์ล คือ ในปี 2546 ประสบผลสำเร็จในการทดลองผลิตมุกเกือบ กลม (Rather Round Pearl) และยื่นจดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเป็นความลับทางการค้า และเริ่มการผลิตมุกเกือบกลมออกวางจำหน่าย

ปัจจุบันภูเก็ตเพิร์ลสามารถผลิตไข่มุกได้เดือนละประมาณ 1,000 เม็ด ความโดดเด่นของเครื่องประดับแต่ละชิ้น คือ มีเพียงชิ้นเดียวในโลก

“แบรนด์อมรสร้างเพียงชิ้นเดียว คือ มีแบบละชิ้น ราคาตั้งแต่หลักร้อยบาทจนถึงหลักล้านบาท มีมุกแบบธรรมดาจนถึงแบบหรูหรา ตัวเรือนเป็น เงิน ทอง ทองคำขาว พิงก์โกลด์”

อมร บอกว่า กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมโชว์รูมที่บ้านสะปำ ถนนเทพกระษัตรี อ.เมือง เป็นคนไทย 60% ที่เหลืออีก 40% เป็นนักท่องเที่ยวยุโรป และกำลังจะขยายสาขาไปยังศูนยืการค้าที่จะเปิดใหม่ใน จ.ภูเก็ต

“เรามุ่งเน้นการผลิต การออกแบบดีไซน์ พัฒนาพันธุ์หอยให้เน้นคุณภาพวัตถุดิบตั้งแต่ต้นน้ำให้ได้มากขึ้น และได้รับเกียรติให้ทำมงกุฎหลายประเทศ เขามั่นใจในผลิตภัณฑ์ จึงติดต่อทำมงกุฎนางงาม ราคามงกุฎละ 1 ล้านบาทขึ้นไป ที่ผ่านมาทำมาแล้ว 4 มงกุฎ ของสิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และไทย มีแบรนด์ของเราติดในมงกุฎทุกชิ้น เราตั้งใจทำและภูมิใจว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของภูเก็ต ให้ได้เห็นว่าคนภูเก็ตทำได้ เป็นฝีมือของชาวภูเก็ต” อมร กล่าวอย่างภาคภูมิใจ