posttoday

SCB แนะผู้ส่งออกปรับตัวรับค้าโลกฟื้น 5 ปีข้างหน้า

26 สิงหาคม 2558

ศูนย์วิจัยฯ ไทยพาณิชย์ แนะภาครัฐและผู้ส่งออกปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าส่งออกรองรับการค้าโลกจะกลับมาเติบโตอีกครั้งใน 5 ปีข้างหน้า

ศูนย์วิจัยฯ ไทยพาณิชย์ แนะภาครัฐและผู้ส่งออกปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าส่งออกรองรับการค้าโลกจะกลับมาเติบโตอีกครั้งใน 5 ปีข้างหน้า

น.ส.ธีรินทร์ รัตนภิญโญวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสกลยุทธ์ธุรกิจและอุตสาหกรรม และรักษาการคลัสเตอร์ธุรกิจส่งออก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า โจทย์ใหญ่สำหรับภาคการส่งออกไทยในปัจจุบันต้องสร้างจุดยืนที่แข็งแกร่งในเวทีการค้าโลก ซึ่งแนวโน้มการค้าโลกจะกลับมาเติบโตอีกครั้งใน 5 ปีข้างหน้า หลังจากมีการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 ที่เกิดวิกฤตซับไพร์มสหรัฐที่กระทบเศรษฐกิจไปทั่วโลก กระทบมายังการส่งออกไทยที่ลดลงและมีแนวโน้มหดตัวมากกว่า 3% ในปีนี้

ทั้งนี้ ปัจจัยแรก ได้แก่ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่จะก้าวขึ้นมาเป็นหัวจักรสำคัญตัวใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าโลก จากกำลังซื้อที่สูงขึ้นและการก้าวเข้าสู่สังคมเมือง รวมทั้งการค้าขายระหว่างกันเองภายในกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ปัจจัยที่สอง คือ ความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเปลี่ยนไปสู่สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อสุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภคกลุ่มนี้มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น และปัจจัยสุดท้าย คือ การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านการค้าระหว่างประเทศในหลากหลายมิติ

สำหรับกลยุทธ์ที่ช่วยปรับเกมการค้าของไทยแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ โดยอีไอซีพบว่า agro-based และอาหารแปรรูป คืออุตสาหกรรมซึ่งมีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมากและช่วยลดความผันผวนด้านราคาจากการส่งออกเป็นสินค้าโภคภัณฑ์หรือสินค้าเกษตรแปรรูปขั้นต้นอีกด้วย ขณะที่ภาคบริการเองยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งการนำเสนอบริการในรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม

"การเพิ่มมูลค่ามี 3 วิธี คือ การลงทุนด้าน R&D เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม การพัฒนาคนและผลิตนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดแรงงาน และการใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคเพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุน" น.ส.ธีรินทร์ กล่าว

น.ส.ธีรินทร์ กล่าวว่า กลยุทธ์ต่อไป คือ การเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาคเป็นอีกกลยุทธ์ที่จะเข้ามาเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจไทย โดยไทยมีที่ตั้งที่เชื่อมโยงระหว่างแหล่งผลิตและตลาดเป้าหมาย ยังต้องยกระดับความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีปรับปรุงระบบศุลกากรให้ง่าย ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จูงใจและเอื้อต่อการค้าการลงทุน และที่สำคัญสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

นอกจากนี้ กลยุทธ์สุดท้ายที่สำคัญ คือ กลยุทธ์เชิงรุกเพื่อให้รับกับการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยภาคธุรกิจต้องปรับโมเดลทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ การใช้เทคโนโลยีชำระค่าสินค้าและบริการออนไลน์ หรือแม้แต่การสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลได้