posttoday

รุ่นใหม่เค้นไอเดียบุกเบิก ชาบูมันกุ้ง ‘มานีมีหม้อ’

20 พฤศจิกายน 2558

หากจะเอ่ยชื่อร้านชาบูที่ชื่อดังอันดับต้นๆ ในยุคนี้ คงหนีไม่พ้น “มานีมีหม้อ”

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

หากจะเอ่ยชื่อร้านชาบูที่ชื่อดังอันดับต้นๆ ในยุคนี้ คงหนีไม่พ้น “มานีมีหม้อ” ด้วยเอกลักษณ์ของชื่อที่มาจากตัวละครในหนังสือเรียนวิชาภาษาไทยชั้นประถมศึกษาเมื่อวันวาน ซึ่งประพันธ์โดย อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ บวกกับเมนูที่ไม่เหมือนใคร ทำให้มานีมีหม้อ เป็นชาบูที่ติดตลาดอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มขยายตัวได้รวดเร็วเช่นกัน ด้วยฝีมือของคนรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์ร้านขึ้นมา

พีระศักดิ์ เหลี่ยมมุกดา ผู้ก่อตั้งร้านมานีมีหม้อ เปิดเผยว่า ได้เริ่มต้นทำร้านอาหารนี้ตั้งแต่ปี 2556 โดยเปิดตัวครั้งแรกในโครงการกรีน พลาซ่า ถนนลาดพร้าว-วังหิน แต่ด้วยปัจจัยเรื่องพื้นที่ร้านขนาดเล็กเกินไป จึงได้ปิดดำเนินงานสถานที่เดิม และ 3 เดือนต่อมาก็ย้ายมาเปิดสาขาที่เฟสติวัล วอล์ค ถนนเกษตร-นวมินทร์แทน โดยเริ่มต้นด้วยจำนวน 40 ที่นั่ง เมื่อเดือน มิ.ย. 2557 แต่กระแสตอบรับล้นหลามทำให้ต้องขยายร้านจนกระทั่งปัจจุบันมีพื้นที่ 200 ตารางเมตร รองรับได้ 150 ที่นั่ง

จุดเริ่มต้นของการทำมานีมีหม้อนั้นมาจากความชื่นชอบรับประทานอาหารส่วนตัว ในช่วงที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศก็พยายามตระเวนชิมอาหารร้านต่างๆ วันหนึ่งได้ไปเห็นร้านอาหารจีนในออสเตรเลีย ซึ่งทั้งร้านมีแต่เมนูภาษาจีน ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่าสักวันหนึ่งจะต้องเปิดร้านอาหารไทยที่มีชื่อไทยและมีแต่เมนูภาษาไทย ให้ต่างชาติรู้สึกว่าต้องเข้ามาชิม แม้ร้านจะมีแต่เมนูภาษาไทยให้ได้

เมื่อกลับมาไทยจึงมุ่งมั่นเปิดร้านอาหารตามที่ตั้งใจ โดยแนวคิดที่วางกรอบไว้ก่อนเปิดคือต้องเป็นร้านที่อาหารอร่อย ซึ่งในที่สุดก็ลงตัวด้วยการเปิดร้านชาบู โดยมีเอกลักษณ์พิเศษคือการนำมันกุ้งแม่น้ำมาเป็นองค์ประกอบสำคัญใส่ในน้ำซุปสมุนไพร ซึ่งไม่มีชาบูเจ้าไหนเคยทำมาก่อนและสะท้อนความเป็นเมนูของฉันได้ดี

ที่มาของชาบูใส่มันกุ้งนั้นมาจากครอบครัวเคยทดลองนำมันกุ้งแม่น้ำมาเป็นวัตถุดิบใส่ในน้ำซุปรับประทานกันเองอยู่แล้ว รับประทานแล้วก็รู้สึกชอบและเห็นว่ามันกุ้งเป็นวัตถุดิบที่หลายคนอาจจะไม่รู้จัก หรือรู้จักแต่มองข้ามไปจึงอยากมานำเสนอ เพราะจุดประสงค์ที่ต้องการคือไม่ต้องการเสนอเมนูแบบไทยๆ ไม่ใช่เกาหลีหรือญี่ปุ่น ขณะที่ชื่อร้านก็ต้องการสะท้อนความเป็นไทยและประทับใจในแบบเรียนวัยประถมจึงหยิบยกมาตั้งเป็นชื่อร้านเพื่อสะท้อนความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน

ขณะที่การออกแบบร้านก็เน้นนำบทประพันธ์ที่เคยได้ร่ำเรียนมาสร้างจินตนาการต่อยอดสร้างเป็นเรื่องราวและตกแต่งสาขาตามเรื่องราว เช่น สาขาเกษตร-นวมินทร์ จะเป็นแนวคิดว่ามานีไปเรียนต่อต่างประเทศ แล้วตกแต่งบ้านตัวเองในต่างประเทศด้วยของสะสมต่างๆ ส่วนรายการอาหารก็จะใช้รูปแบบภาพวาดสีน้ำ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ไทยๆ มานำเสนอ ชื่อรายการอาหารก็เป็นแบบไทยๆ และมีรายการอาหารทานเล่นคู่ชาบูที่คิดค้นขึ้นเอง เช่น ข้าวเหนียวทอดไส้ลูกเดทสีแดง ขนมปังหน้าหมูไข่กุ้ง และข้าวหน้ามันกุ้งเสวย บายคุณหรีด ซึ่งรายการอาหารนี้คุณหรีดมาช่วยให้คำแนะนำเพื่อปรับแต่งรายการให้น่าสนใจขึ้น

พีระศักดิ์ กล่าวว่า มานีมีหม้อได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากจากลูกค้า ทำให้ร้านตอบรับกระแสด้วยการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นไปตามจุดที่ลูกค้าต้องการ วัดจากลูกค้าจากพื้นที่ต่างๆ ที่เดินทางมาไกลเพื่อมาร้านมานีมีหม้อ ที่สาขาเกษตร-นวมินทร์ ปัจจุบันมีแล้ว 5 สาขา ได้แก่ 1.เฟสติวัลวอล์ค เกษตร-นวมินทร์ 2.ดิ อเวนิว แจ้งวัฒนะ 3.เอสพละนาด รัชดาฯ 4.เซ็นทรัลเวสต์เกต และ 5.เซอร์เคิล ราชพฤกษ์ ส่วนเดือน ธ.ค.นี้จะเปิดสาขาใหม่ที่ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และเดือน ม.ค. 2559 เปิดที่เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน

ด้านโลโก้ของร้านก็ตั้งใจให้มีเอกลักษณ์เป็นรูปมานีเท้าค้างอยู่บนหม้อ เพื่อให้ลูกค้าที่มารับประทานอาหารในร้านได้ถ่ายรูปและทำท่าเท้าคางน่ารักๆ ตามมานี ตอบโจทย์ลูกค้ายุคนี้ที่นิยมการถ่ายรูปแล้วแบ่งปันรูปตามช่องทางสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งก็ได้ผลตอบรับตามที่ตั้งใจไว้ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เมื่อมารับประทานอาหารก็จะทำท่านี้

ทั้งนี้ ประเมินไว้ว่าปีหน้าจะมีสาขาทั้งหมดกว่า 10 สาขา โดยจะเริ่มขยายสาขาไปยังจังหวัดหัวเมืองใหญ่ต่างๆ ด้วย ซึ่งรูปแบบร้านน่าจะไปเปิดตามศูนย์การค้าต่างๆ ในต่างจังหวัดมากกว่าที่จะเป็นร้านที่ตั้งอยู่เดี่ยวๆ โดยงบลงทุนมานีมีหม้อ เฉลี่ยสาขาละ 7 ล้านบาท โดยร้านอาหารทั่วไปจะใช้เวลา 2 ปีคืนทุน ขณะที่มานีมีหม้อ สาขาเฟสติวัลวอล์ค เกษตร-นวมินทร์ คืนทุนได้ใน 1 ปี ถือว่าเร็วมาก

อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีแผนจะขยายสาขามานีมีหม้ออย่างเดียว ยังมีแผนเปิดร้านอาหารแบรนด์ใหม่ด้วย โดยจะเป็นอาหารไทยเช่นกัน แต่ไม่ใช่ประเภทต้ม คาดว่าจะได้เห็นสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า

พีระศักดิ์ กล่าวว่า ภาพรวมยอดขายมานีมีหม้อปีนี้ชะลอลง 10% เทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับมีร้านอาหารใหม่ๆ เปิดเพิ่มต่อเนื่อง คู่แข่งมากขึ้น อีกทั้งยังมีคู่แข่งทางอ้อมจากกลุ่มสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นที่ปีนี้ทำโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่อง เมื่อคนไปช็อปปิ้งจะมีเงินใช้จ่ายกับร้านอาหารลดลง แต่ก็ไม่ได้กังวลกับยอดขายที่ลดลง สิ่งที่คำนึงคือทำอย่างไรให้จำนวนคนที่เข้ามารับประทานอาหารในร้านยังมีต่อเนื่อง แม้กำไรลดบ้างก็ไม่เป็นไรและยังเชื่อว่าปีหน้าธุรกิจจะดีขึ้นกว่าปีนี้เพราะเศรษฐกิจคงดีขึ้น

สำหรับกลยุทธ์ทำตลาดมานีมีหม้อนั้น จะให้ความสำคัญเรื่องการบอกต่อแบบปากต่อปาก เพราะมองว่าเป็นช่องทางตลาดที่แข็งแกร่งที่สุด อาจทำตลาดผ่านสังคมออนไลน์บ้าง เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม แต่ก็ไม่ได้ให้น้ำหนักมากเกินไป ขณะที่ล่าสุดเปิดตัวโปรแกรมบัตรสมาชิกมานีมีหม้อ ใช้เป็นส่วนลด 5% ที่ร้านมานีมีหม้อทุกสาขา พร้อมสะสมแต้มแลกของรางวัลในอนาคต ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทำเพื่อสร้างกลุ่มลูกค้าสาวกมานีมีหม้อ

ทางด้านหลักการทำร้านมานีมีหม้อให้ประสบความสำเร็จ คือ ทำให้เยี่ยม แล้วคนก็จะมาเยี่ยมเราเอง ทำงานให้ได้งาน ไม่ใช่ทำงานหวังเงิน เพราะหากทำงานให้ได้งาน เงินจะตามมาเอง ส่วนสิ่งสำคัญของร้านอาหารที่ต้องมีคือ ต้องทำให้อาหารอร่อยก่อนแล้วลูกค้าจะตามมาเอง และต้องให้ความสำคัญเรื่องบริการ เพราะต่อให้อาหารอร่อยแค่ไหน หากบริการไม่ดี ครั้งต่อไปลูกค้าก็ไม่มา นอกจากนี้จะพยายามพัฒนาร้านไปเรื่อยๆ มีเมนูใหม่นำเสนอเสมอ เพื่อให้ลูกค้าที่เคยมาแล้วรู้สึกว่ามาอีกครั้งก็จะมีสิ่งใหม่ๆ เสมอ

พีระศักดิ์ ให้คำแนะนำคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจว่า คนรุ่นใหม่มีโอกาสธุรกิจมาก แต่โอกาสนั้นเป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมาเอง ไม่ใช่รอให้คนอื่นหยิบยื่นให้ และหากเป็นการเริ่มต้นจากสิ่งที่รักและชอบก็จะช่วยให้อยากทำงานนั้นทุกวัน ซึ่งในส่วนของมานีมีหม้อหากเป็นไปได้ก็อยากหาโอกาสขยายไปเปิดในต่างประเทศตามที่เคยอยากมีร้านอาหารไทยในต่างประเทศตั้งแต่ต้น