posttoday

'ชาตรามือ'วางอนาคต บุกตลาดเครื่องดื่ม

24 กุมภาพันธ์ 2559

ชามักถูกพูดถึงในฐานะที่เป็นเครื่องดื่มในสังคมชั้นสูง เพราะมีราคาแพง และผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงวัยที่มีฐานะ

โดย...ดวงนภา ประเสริฐพงษ์

ชามักถูกพูดถึงในฐานะที่เป็นเครื่องดื่มในสังคมชั้นสูง เพราะมีราคาแพง และผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงวัยที่มีฐานะ ทำให้ผู้บริโภคน้อยคนนักที่จะนิยมดื่มชา เพราะเข้าถึงยาก แต่กระแสความนิยมในการบริโภคชาในประเทศไทย ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา กลับมีให้เห็นอย่างแพร่หลายในสังคมทุกระดับและทุกกลุ่มผู้บริโภค เนื่องจากเริ่มมีชาบรรจุขวดขายในร้านสะดวกซื้อ ที่เข้าถึงง่าย ตีตลาดผู้บริโภคทุกเพศวัยได้อยู่หมัด

เศรษฐกิจ เรืองฤทธิเดช ผู้จัดการโรงงานใบชาสยาม ทายาทรุ่นที่ 3 ของธุรกิจชาตรามือ เปิดเผยว่า จากกระแสความนิยมการบริโภคชาในรูปแบบขวดพร้อมดื่ม หรือเรดี้ทูดริงก์ ทำให้บริษัทมีแนวคิดที่จะขยายการผลิตจากเดิมที่ทำใบชาอบแห้งส่งร้านอาหาร โรงแรมต่างๆ ไปสู่ชาบรรจุขวดแบบพร้อมดื่ม เนื่องจากตลาดยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย และจะขอใช้งานวิจัยบางส่วนของมหาวิทยาลัยเพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาสายการผลิต ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นช่วง 3 ปีจากนี้

“การลงทุนในธุรกิจเครื่องดื่มอย่างน้อยต้องลงทุนเครื่องจักรสำหรับฆ่าเชื้อ 10-20 ล้านบาท ต้องมีการผลิตที่ปลอดเชื้อ มีเครื่องมือพร้อม ขณะนี้อยู่ระหว่างทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อทำการวิจัยและพัฒนา คงต้องใช้เวลา นอกจากนี้ ล่าสุดเราเพิ่งขยายกำลังการผลิตโดยการซื้อเครื่องจักรและเครื่องอบใบชาเพิ่ม และสร้างอาคารใหม่ ซึ่งใช้งบ 20-30 ล้านบาท คาดว่าน่าจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตของเราอีก 20-30% จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตปีละ 1,000 ตัน/ปี” เศรษฐกิจ กล่าว

ทั้งนี้ ความต้องการบริโภคชาในประเทศยังคงเติบโตต่อเนื่องประมาณ 10-15% แต่ยังถือว่าน้อยกว่าความต้องการบริโภคกาแฟเกือบ 10 เท่าตัว ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูกไร่ชาประมาณ 1.3 แสนไร่ และคาดว่าในปีนี้จะมีพื้นที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.5-1.7 แสนไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ขณะที่บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ชาไทย 70-80% ของตลาดชาทั้งประเทศ และมีสัดส่วนการผลิตเพื่อขายในประเทศ 60% ขณะที่ 40% ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา และจีน เป็นต้น

ดิฐพงศ์ เรืองฤทธิเดช กรรมการผู้จัดการโรงงานใบชาสยาม ผู้ผลิตชา ตรามือ กล่าวว่า จากการแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้บริษัทมีแนวคิดจะปรับบทบาทการทำธุรกิจให้มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยการวางแผนทำไร่ชาเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมของบริษัทเอง เนื่องจากปัจจุบันรับซื้อใบชาจากลูกไร่ของบริษัทเป็นหลัก แม้ว่าชาวไร่จะมีผลผลิตส่งโรงงานในจำนวนที่มากขึ้นในทุกๆ ปี แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอน ดังนั้นขณะนี้ จึงอยู่ระหว่างหาพื้นที่ที่เหมาะสม คัดเลือกสายพันธุ์ และใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ในการเพาะปลูก

“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ต้องยอมรับว่าธุรกิจชาในประเทศไทยได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ละบริษัทก็มีจุดขายที่แตกต่างกันออกไป อย่างชาตรามือของเรา มีอัตลักษณ์ของตัวเอง เราขายวัตถุดิบที่ดีให้ลูกค้า ขณะเดียวกันการแข่งขันที่สูงขึ้น เราก็ต้องปรับตัวมากขึ้นเช่นกัน” ดิฐพงศ์ กล่าว

ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทต้องเผชิญอุปสรรคสำคัญ คือ มีผู้ประกอบการจากจีนและไต้หวันบางรายเข้ามาแย่งซื้อวัตถุดิบใบชาในไทย ทำให้วัตถุดิบไม่เพียงพอในบางช่วง ขณะที่ต้องแข่งขันด้านการตลาดกับชาจีนที่มีภาพลักษณ์โดดเด่นมายาวนานด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับตัวในการผลิต พยายามหาช่องทางลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพ โดยบริษัทได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (โอปอย) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ช่วยลดต้นทุนในกระบวนการลำเลียง ขนถ่ายสินค้าลง 45% รวมทั้งพบว่าจำนวนข้อมูลข้อร้องเรียนของลูกค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดด้านเคมีและด้านประสาทสัมผัสของสินค้าเฉลี่ยลดลง