ยานยนต์ยันมาตรฐานไทยเข้มข้น ไม่ปลอมข้อมูลซ้ำรอยญี่ปุ่น
อุตสาหกรรมยานยนต์ยันมาตรฐานตรวจสอบรถยนต์ของไทยเข้มข้น ไม่ซ้ำรอยค่ายมิตซูบิชิญี่ปุ่น มั่วข้อมูลประหยัดน้ำมัน
อุตสาหกรรมยานยนต์ยันมาตรฐานตรวจสอบรถยนต์ของไทยเข้มข้น ไม่ซ้ำรอยค่ายมิตซูบิชิญี่ปุ่น มั่วข้อมูลประหยัดน้ำมัน
นายวิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศญี่ปุ่นควรมีการตั้งคณะทำงานกลางขึ้นมาตรวจสอบปัญหาการปลอมแปลงข้อมูลเรื่องการประหยัดน้ำมันของค่ายรถยนต์มิตซูบิชิ ของญี่ปุ่น เพื่อสอบหาความจริงและชี้แจงให้เกิดความกระจ่าง และเรียกความเชื่อมั่นของทุกฝ่ายโดยเร็ว
ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นกับบริษัทผู้ผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ประเทศ ไทยแน่นอน เนื่องจากไทยมีมาตรฐานการตรวจสอบโดยสำนักงานมาตรฐานอุตสาห กรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานกลาง
อย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกันยังได้มอบหมายให้สถาบันยานยนต์ กรมควบคุมมลพิษ และ ปตท. ที่มีห้องทดสอบ (แล็บ) ที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 17025 มาตรฐานสากล ซึ่งเป็นการประเมินความสามารถทางวิชาการของห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบมาตรฐานต่างๆ และมีคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงาน (National Accreditation Council) หรือ NAC ตรวจสอบมาตรฐานอีกครั้ง
“ระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานในประเทศไทยถือได้ว่ามีความแข็งแกร่ง เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ให้อำนาจแก่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งในการรับรองมาตรฐานซึ่งอาจเป็นช่องว่างในการบิดเบือนข้อมูลดังเช่นในลักษณะดังกล่าว” นายวิชัย กล่าว
นอกจากนี้ ระบบการตรวจสอบดังกล่าวถือได้ว่าเป็นจุดแข็งสำคัญของประเทศไทย และผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทย เพราะปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรฐานที่กำหนด จึงสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและผู้บริโภคเพื่อให้ไทยเป็นฐานการส่งออกสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไปทั่วโลก
นายธนวัฒน์ คุ้มสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า การผลักดันให้เกิดศูนย์ทดสอบยานยนต์แห่งชาติ ถือเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการยกระดับมาตรฐานการตรวจสอบของอุตสาห กรรมยานยนต์ในประเทศไทย โดยมีหน่วยงานกลางของรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบและเสริมความมั่นใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้านความเป็นธรรมและเป็นกลาง
นายธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันห้องแล็บในประเทศไทยที่สามารถตรวจสอบมาตรฐานได้ยังมีไม่พอต่อความต้องการในการเข้ารับการตรวจสอบที่มีรุ่นรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1,000 รุ่นในไทย แต่มีห้องแล็บเพียง 3 แห่ง ได้แก่ สถาบันยานยนต์ กรมควบคุมมลพิษ และ ปตท. เท่านั้น จึงอาจให้เกิดความล่าช้าในการตรวจสอบ เช่น การตรวจสอบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ช่วงการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ เป็นต้น
ขณะที่ปัญหาการปลอมแปลงข้อมูลเรื่องการประหยัดน้ำมันของค่ายรถยนต์รายใหญ่ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องที่ควรนำมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อป้องกันและสร้างความตระหนักรู้ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย เพราะความเชื่อมั่นของมาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่ผลิตเพื่อการส่งออกยานยนต์มากกว่าการขายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามไปยังบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) เพื่อให้ได้ความกระจ่างในเรื่องนี้ ทางบริษัท มิตซูบิชิ ไม่ให้ความเห็นหรือยอมชี้แจงในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
สำหรับบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นได้ยอมรับว่ามีการปลอมแปลงข้อมูลผลการทดสอบประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันจริง และเป็นค่ายรถแรกที่เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้น แม้ประเด็นดังกล่าวจะไม่เกี่ยวกับความปลอดภัย แต่การปลอมแปลงข้อมูลถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชาติอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างญี่ปุ่น ซึ่งจะกระทบต่อชื่อเสียงบริษัท รวมถึงชื่อเสียงของประเทศอีกด้วย