ตลาดขายส่งผลไม้ไทย โอกาสและอุปสรรค (1)
ตลาดจีนและเวียดนามถือเป็นตลาดหลักของผลไม้ไทย เพราะผู้บริโภคทั้งสองประเทศนิยมบริโภคสินค้าไทยเป็นอย่างมาก
โดย...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช
ตลาดจีนและเวียดนามถือเป็นตลาดหลักของผลไม้ไทย เพราะผู้บริโภคทั้งสองประเทศนิยมบริโภคสินค้าไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผลไม้ไทย 4 ประเภท คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลำไย โดยบทความนี้เน้นการขนส่งผลไม้ไทยบนเส้นทางบกและตลาดขายส่งผลไม้ไทยในเวียดนามและจีน
ข้อมูลของฝ่ายการเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ณ นครกว่างโจว รายงานว่า ระหว่างปี 2555-2557 ปริมาณการส่งออกผลไม้ไทยไปยังเวียดนามและจีนเพิ่มขึ้นทุกปีจาก 786,869 ตัน เป็น 9 แสนตัน ในปี 2557 และในปี 2558 จากการคำนวณพบว่าการส่งออกรวมไปยังสองประเทศอยู่ที่ 1 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการนำเข้าของสองประเทศนั้น ปรากฏว่าผลไม้ไทยส่งออกไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นทุกปีและการส่งออกผลไม้ไปจีนกลับลดลงใน 2 ปีที่ผ่านมา คำถามคือ “ทำไมมูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนลดลง”
ปัจจุบันการส่งออกผลไม้ไทยไปยังจีนนั้นใช้ 2 เส้นทาง คือ ทางเรือและทางบก โดย 70% เป็นการขนส่งทางเรือไปยังท่าเรือกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง โดยเส้น R12 จาก จ.นครพนม ผ่านไปยังลาวและเวียดนามถึงตลาดไฮกรีน (Hi Green) ระยะทาง 1,053 กิโลเมตร (กม.) และ R9 จาก จ.มุกดาหาร ผ่านลาวและเวียดนามไปตลาดไฮกรีนระยะทาง 1,320 กม.
ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ประกอบการเวียดนาม หรือ “ล้งเวียดนาม” ที่ตลาดลองเบียน ที่เข้ามารับซื้อเงาะที่ จ.ตราด และผลไม้อื่นๆ ของไทย พบว่าใช้เวลาในการขนส่งผลไม้จากตราดถึงตลาดลองเบียน 1 วัน โดยเงาะที่ขายวันละ 150 ล้ง ช่วงขายเยอะๆ มีถึง 2,000 ล้ง ซื้อจากสหกรณ์ไทยกิโลกรัมละ 53 บาท มาขายส่ง 70 บาท/กิโลกรัม (กก.) และเมื่อขายปลีก 160 บาท/กก. มังคุดรับซื้อมากิโลกรัมละ 80-85 บาท ขายส่ง 100 บาท/กก. ในตลาดขายกิโลกรัมละ 200 บาท ขายวันละ 5,000 ลัง ขายสูงสุด 1 หมื่นลัง และมะม่วงเขียวเสวย 62 บาท/กก. ขายส่ง 80 บาท/กก. และขายปลีกกิโลกรัมละ 170 บาท
ปัญหาอุปสรรคของล้งเวียดนามก็คือผลไม้ไทยเริ่มขาดแคลนและขาดแรงงานในการขนย้ายสินค้า หลังจากนั้นผลไม้ไทยจะเข้าไปทางด่านหยวยอี้กวน ในเมืองผิงเสียง ซึ่งเป็นด่านสากลและด่านปู้จ้าย ในเมืองฉงจั่ว สองด่านนี้อยู่ห่างกัน 2 กม. จากฮานอยไปยังด่านหยวนอี้ กวนของจีนและที่ฝั่งเวียดนามเรียกว่า “หูหงี้” ในจังหวัดลางเซิ้นนั้นระยะทาง 175 กม. ใช้เวลา 5 ชม.
ที่น่าสนใจก็คือที่ด่านหยวนอี้กวนไม่มีสถิติข้อมูลผลไม้ไทย เพราะหากผลไม้ผ่านด่านนี้จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 13% และ 17% สำหรับสินค้าทั่วไป สินค้าที่จีนส่งไปเวียดนามตรงด่านนี้ส่วนใหญเป็นเสื้อผ้าและรถยนต์ ส่วนสินค้าที่เวียดนามส่งเข้าจีนส่วนใหญ่เป็น “แก้วมังกร” ที่ด่านปู้จ้ายเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% และคนเวียดนามและจีนสามารถขนสินค้าได้คนละ 8,000 หยวน
นี่คือเหตุผลสำคัญว่าทำไมสินค้าไทยจึงไม่มีสถิติปรากฏที่ด่านหยวนอี้กวน เพราะหนีกันไปส่งที่ด่านปู้จ้ายมากกว่าเพราะมีการเสียภาษีน้อยกว่า ขอต่อฉบับหน้าครับ