posttoday

"ประยุทธ์"สั่งเกษตรวางแผนแจงใช้กรดทำยางก้นถ้วย

02 กันยายน 2559

“บิ๊กตู่” สั่งกระทรวงเกษตรฯ ทำแผนพร้อมแจงทั้งเอกชน-ชาวสวนเข้าใจการใช้กรดทำยางก้นถ้วย หลังเกิดกระแสข่าวผู้ผลิตยางล้อไม่ซื้อยางพาราอีสาน

“บิ๊กตู่” สั่งกระทรวงเกษตรฯ ทำแผนพร้อมแจงทั้งเอกชน-ชาวสวนเข้าใจการใช้กรดทำยางก้นถ้วย หลังเกิดกระแสข่าวผู้ผลิตยางล้อไม่ซื้อยางพาราอีสาน

 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ได้สอบถามกับบริษัทเอกชนต่อกรณีที่มีกระแสข่าวว่าบริษัทผู้ประกอบการยางรถยนต์รายใหญ่ของโลกไม่รับซื้อน้ำยางจากพื้นที่ภาคอีสานเพราะมีการใช้กรดซัลฟูริกช่วยให้ยางเซตตัวเร็วขึ้น  ได้รับการชี้แจงว่าเป็นเพียงข้อห่วงใยของผู้ประกอบการ ซึ่งไม่ได้ต้องการให้ราคายางตกแต่อย่างใด  ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใคร

อย่างไรก็ตาม  ทั้งหมดก็เป็นความห่วงใยที่ต้องมีการแก้ไข เช่นการจะใช้กรดฟอร์มิกมากขึ้นก็ปรากฎว่าเป็นกรดประเภทที่น้ำเข้าราคาสูงกว่ากรดซัลฟูริก จึงได้ให้ฝ่ายวิจัยและพัฒนาไปดูว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง  หรือทำอย่างไรไม่ให้มีการผูกขาดนำเข้า 

“จะต้องมีการดูแลการใช้กรดทั้ง 2 ประเภท ทั้งกรดฟอร์มิกและกรดซัลฟิวริก ต้องดูการแก้ปัญหาในเชิงมหภาคด้วยว่ามีการนำเข้ามาเท่าไหร่และใช้ไปเท่าไหร่ เพราะประเทศไทยยางแต่ละประเภทใช้ต่างกัน ยืนยันว่าวันนี้ยางประเทศไทยยังเป็นยางที่มีคุณภาพสูง ทั้งนี้ในส่วนของการแปรรูปนั้นขอให้ช่วยกันสนับสนุนประชาชนว่าจะทำอย่างไรเพื่อสร้างการรับรู้ในทุกพื้นที่”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายธีธัช สุดสะอาด ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนรณรงค์ลดการใช้กรดซัลฟิวริกในยางพาราก้นถ้วยให้มีขั้นตอนและมีผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนภายใน 3 ปีโดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของการใช้กรดฟอร์มิกในยางพาราก้นถ้วยให้ได้มากขึ้นจากปัจจุบันมีการใช้อยู่ประมาณ 40% ของการผลิตยางก้นถ้วยทั้งหมด

ทั้งนี้ แนวทางสนับสนุนให้เกษตรกรใช้กรดฟอร์มิกที่มองไว้แต่ก็ต้องมีการนำไปพิจารณาอีกครั้งคือ ให้ภาคเอกชนที่รับซื้อยางพาราก้นถ้วยสนับสนุนเงินบางส่วนให้กับเกษตรกรเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อกรดฟอร์มิกเนื่องจากปัจจุบันราคาของกรดชนิดนี้ราคาสูงกว่ากรดซัลฟิวริกคือมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 37 สตางค์ต่อยาง 1 กิโลกรัม ขณะที่กรดซัลฟิวริกมีราคาอยู่ที่ประมาณ 15 สตางค์ต่อยาง 1 ก.ก. ขณะเดียวกันมีข้อเสนอให้เอกชนกำหนดราคารับซื้อยางพาราที่มีการใช้กรด 2 ประเภทในกระบวนการผลิตให้แตกต่างกันอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อร่วมกันผลักดันให้มีการใช้ยางพาราในประเทศให้สูงขึ้น จากปัจจุบันที่มีการใช้ในภาคอุตสาหกรรมอยู่เพียง 6 แสนตันต่อปีเทียบกับผลผลิตทั้งหมด 4.2 ล้านตันต่อปี