แผนมัดใจแรงงานกลุ่มมิลเลนเนียล
หากองค์กรต้องการปรับตัวให้ทันนโยบายประเทศไทย 4.0 กลุ่มมิลเลนเนียลก็จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงนี้
โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์
คนอายุ 20-34 ปี จัดว่าเป็นกลุ่มมิลเลนเนียล หรือเจนวาย มักเปลี่ยนงานบ่อย ทำให้บริษัทต้องหาคนทดแทนแต่ก็เป็นกลุ่มที่ทุกองค์กรต้องการ
สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า กลุ่มมิลเลนเนียล มีสัดส่วนกว่า 30% ของแรงงานไทย แม้จะถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่เปลี่ยนงานบ่อย แต่หากเข้าถึงใจได้ กลุ่มนี้จะมีศักยภาพกว่ากลุ่มอื่นในการขับเคลื่อนองค์กร
ดังนั้น สิ่งที่องค์กรต้องทำคือบริหารจัดการโดยเชื่อมโยงกับเป้าหมายชีวิตกลุ่มมิลเลนเนียล ส่วนใหญ่มองเป้าหมายเรื่องส่วนตัวและงานเป็นเนื้อเดียวกัน ได้แก่ ต้องการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้จุดกระแส ทำงานเน้นผลลัพธ์ มองโลกในแง่ดี และต้องการประสบความสำเร็จสูง
ขณะเดียวกันองค์กรต้องปรับกลยุทธ์เติมเต็มทักษะให้กลุ่มมิลเลนเนียลที่มองความก้าวหน้าในชีวิต ไม่ใช่แค่การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง แต่ต้องการพัฒนาทักษะเพิ่ม ฝึกอบรม เรียนรู้ และกลุ่มมิลเลนเนียลให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่ดี ความสัมพันธ์ที่เป็นทางการในองค์กรใช้ไม่ได้ผลกับกลุ่มนี้ จึงต้องเน้นสร้างความใกล้ชิด ให้โอกาสกลุ่มมิลเลนเนียลแสดงตัวตนในองค์กร และการให้สวัสดิการปรับเปลี่ยนได้ (เฟล็กซิเบิล เบเนฟิต) ก็มีส่วนช่วยรักษากลุ่มมิลเลนเนียลได้
“หลายองค์กรเริ่มให้เวทีกลุ่มมิลเลนเนียลเป็นหัวหน้าทำโครงการต่างๆ เปลี่ยนการประเมินผลงานเพื่อจ่ายผลตอบแทน จากเดิมรอประเมินทุกสิ้นปีก็ประเมินเมื่อจบแต่ละโครงการแล้วจ่ายผลตอบแทนหลังประเมินโครงการทันที” สุธิดา กล่าว
พิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย กล่าวว่า สัดส่วนแรงงานปัจจุบัน 27% เป็นคนมีประสบการณ์ทำงาน 1-3 ปี และ 19% มีประสบการณ์ทำงาน 4-6 ปี ทั้งสองกลุ่มนี้น่าจะเป็นเจนวาย เท่ากับว่าเกือบครึ่งหนึ่งขององค์กรเป็นเจนวายดังนั้นองค์กรต้องเข้าใจความต้องการกลุ่มนี้และจัดการให้ได้ โดยเจนวายทำอะไรต้องการเห็นผลเร็ว ชอบความชัดเจนในสิ่งที่ต้องทำในสายอาชีพ ต้องการความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต ดังนั้นต้องปรับสวัสดิการ ผลประโยชน์ให้ตรงกับเจนวาย ไม่ใช่สวัสดิการแบบเดียวใช้ทั้งองค์กร
จากผลสำรวจองค์กรในปัจจุบันพบว่า 7% มีการให้เฟล็กซิเบิล เบเนฟิต อีก 15% ยังไม่ให้แต่กำลังพิจารณา ส่วน 2% มีแผนจะเริ่มใช้ เมื่อรวมกันแล้วในอนาคตจะมีองค์กร 24% ให้เฟล็กซิเบิล เบเนฟิต และอีก 50% ที่แม้ไม่ได้ใช้เฟล็กซิเบิล เบเนฟิต แต่มีทางเลือกสวัสดิการให้พนักงาน จากอดีตมีสวัสดิการแบบเดียว ปัจจุบันมีให้เลือก 3-4 ทางเลือก โดยธุรกิจที่มีแนวโน้มใช้เฟล็กซิเบิล เบเนฟิตมาก คือ สินค้าไฮเทคโนโลยี ธุรกิจที่ปรึกษา กลุ่มยาและเวชภัณฑ์ ขณะที่องค์กรข้ามชาติมีแนวโน้มใช้เฟล็กซิเบิล เบเนฟิต มากกว่าองค์กรระดับท้องถิ่น
สำหรับแนวทางอื่นที่องค์กรทำได้ คือ ให้เจนวายทำงานเป็นโครงการระยะสั้น พอโครงการเสร็จ 3 เดือนประเมินผลแล้วให้รางวัลเลยแทนการรอให้โบนัสปลายปีทีเดียว และอาจปรับพื้นที่ให้ดูไม่เป็นทางการให้สอดคล้องกับเจนวายที่ไม่ชอบนั่งติดอยู่กับที่ใดที่หนึ่ง แทนการจัดโต๊ะสำนักงานแบบเดิมอาจนำโซฟามาตั้งให้นั่งทำงาน จัดพื้นที่สำนักงานเหมือนร้านกาแฟ
คริสทอป เลอเฌอน รองประธานฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ประจำแอคคอร์โฮเทล ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า แอคคอร์โฮเทลมีกลุ่มมิลเลนเนียล 45% ของพนักงาน กำลังวางแผนนำเฟล็กซิเบิล เบเนฟิต มาใช้คาดว่าเริ่มใช้ในปี 2560
ดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไมเนอร์ โฮเทลส์ ในกลุ่มบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ไมเนอร์ โฮเทลส์ มีพนักงาน มิลเลนเนียล 35-40% กลยุทธ์รักษากลุ่มนี้ คือ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ให้อิสระการทำงาน มอบหน้าที่รับผิดชอบให้หลากหลาย ให้อำนาจตัดสินใจ มีเส้นทางก้าวหน้าต่อสายอาชีพ และให้มีส่วนร่วมทำสิ่งที่มีผลเชิงบวกต่อสังคม
หากองค์กรต้องการปรับตัวให้ทันนโยบายประเทศไทย 4.0 กลุ่มมิลเลนเนียลก็จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงควรรักษาแรงงานกลุ่มนี้ไว้