ครม.แก้กฎหมาย ให้นายจ้างจ่ายชดเชยลูกจ้างเกษียณอายุ
ครม.เห็นชอบแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน บังคับอายุ 60 ปีเกษียณ ถือเป็นเลิกจ้าง บีบนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยสูงสุด 10 เดือน บังคับใช้ พ.ค.นี้
ครม.เห็นชอบแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน บังคับอายุ 60 ปีเกษียณ ถือเป็นเลิกจ้าง บีบนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยสูงสุด 10 เดือน บังคับใช้ พ.ค.นี้
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่
4 ม.ค. 2560 ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยสาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมาย คือ กำหนดกรณีการเลิกจ้างโดยเหตุเกษียณอายุให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง และต้องจ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด คาดว่าจะบังคับใช้กฎหมายในเดือน พ.ค.นี้
ขณะที่กรณีที่นายจ้างและลูกจ้างไม่ได้ตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุลูกจ้างไว้ให้ถือว่านายจ้างให้ลูกจ้างเกษียณอายุเมื่อลูกจ้างอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยหลังจากเกษียณอายุและมีการจ่ายเงินชดเชยแล้วนายจ้างกับลูกจ้างอาจทำสัญญาจ้างงานกันใหม่โดยแตกต่างจากสัญญาเดิมก็ได้ซึ่งข้อกำหนดนี้แตกต่างจากกฎหมายฉบับเดิมที่การเกษียณอายุของลูกจ้าง นายจ้างไม่มีภาระต้องจ่ายชดเชยแต่อย่างใด
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า อัตราการจ่ายชดเชยการเกษียณอายุของลูกจ้างจะครอบคลุมลูกจ้างทั้งระบบให้ได้รับการจ่ายชดเชยจากนายจ้างตามมาตรา 144 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่กำหนดการชดเชยการเลิกจ้างกรณีที่ลูกจ้างทำงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ให้ได้รับชดเชยค่าจ้างในอัตรา 10 เดือน กรณีทำงาน6-10 ปี ได้รับชดเชยค่าจ้าง 8 เดือน และกรณีทำงานตั้งแต่ 3-6 ปี ได้รับชดเชย 6 เดือน
ทั้งนี้ หากนายจ้างรายใดไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษสำหรับนายจ้าง ทั้งโทษทางอาญาที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกินปีละ 1 แสนบาท และทางแพ่งที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยในการจ่ายเงินล่าช้า 15% ต่อปี และสามารถคิดอัตราค่าปรับเพิ่มเติมอีก 15% ของเงินต้นทุกๆ 7 วัน
“การปรับปรุงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเกษียณอายุของลูกจ้าง ถือเป็นการปฏิรูปที่สำคัญสำหรับแรงงานสูงอายุ ซึ่งจะมีแรงงานสูงอายุได้รับประโยชน์ปีละประมาณ3-4 แสนคน” นายกอบศักดิ์ กล่าว
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานรอบนี้ ยังเพิ่มเติมอำนาจคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับกลุ่มลูกจ้างต่างๆ ให้ครอบคลุมแรงงานอีก 3 กลุ่ม ได้แก่ แรงงานคนพิการ แรงงานเด็กรวมทั้งนิสิต นักศึกษา และผู้สูงอายุ เพื่อให้ครอบคลุมการจ้างงานทั้งระบบให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบายของรัฐบาลด้วย