posttoday

มาสด้า 3 ไมเนอร์เชนจ์ มาตรฐานใหม่ของซี-เซ็กเมนต์

06 กุมภาพันธ์ 2560

นับได้ว่าเป็นอีกผลิตภัณฑ์หลักของมาสด้าทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย สำหรับมาสด้า 3

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

นับได้ว่าเป็นอีกผลิตภัณฑ์หลักของมาสด้าทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย สำหรับมาสด้า 3 ซึ่งมียอดขายทั่วโลกไปแล้วกว่า 5 ล้านคัน และในประเทศไทยมียอดขายสะสมอยู่ที่ 6.2 หมื่นคัน นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2547

จนกระทั่งล่าสุด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) ได้มีการเปิดตัวรุ่นไมเนอร์เชนจ์ไปเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2560 ซึ่งได้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 5,500 คัน/ปี เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา 33%

ชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเปิดตัวมาสด้า 3 ใหม่จะเข้ามาเติมเต็มในเซ็กเมนต์ ที่สำคัญจะเป็นโมเดลหลักหนึ่งที่จะทำให้บริษัทสามารถครองอันดับ 3 อย่างถาวรในตลาดรถยนต์นั่งและขยับเข้าใกล้กับอันดับ 2 ให้ได้มากที่สุด

มาสด้า 3 ไมเนอร์เชนจ์ มาตรฐานใหม่ของซี-เซ็กเมนต์

 

นอกจากนั้น การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ของมาสด้า 3 ในตลาดรถยนต์นั่งขนาดกลาง (ซี-เซ็กเมนต์) ที่เทียบชั้นในระดับพรีเมียมแบรนด์ยุโรป ด้วยมาตรฐานใหม่ที่มาพร้อมคอนเซ็ปต์ “BEYOND IMAGINATION ความสมบูรณ์แบบไม่ใช่แค่จินตนาการ”

สิ่งที่พัฒนาขึ้นในมาสด้า 3 ใหม่นี้อยู่ที่การออกแบบดีไซน์ภายนอกที่ยังคงยึดหลัก “โคโดะ ดีไซน์” แต่จุดที่เปลี่ยนแปลงคือกระจังหน้าใหม่ ไฟหน้าแอลอีดี รวมถึงเส้นสายรายละเอียด และล้ออัลลอยด์ขนาด 18 นิ้วใหม่

สำหรับภายในห้องโดยสารโดยเฉพาะบริเวณคอลโซลกลางที่ดูดีมีระดับยิ่งขึ้น อีกทั้งพวงมาลัยดีไซน์ใหม่เช่นเดียวกับพวงมาลัยที่อยู่ในมาสด้า ซีเอ็กซ์-9 ที่มีการเพิ่มปุ่มมัลติฟังก์ชั่นขึ้นเพิ่มเติมซึ่งกระชับมือมากขึ้น

มาสด้า 3 ไมเนอร์เชนจ์ มาตรฐานใหม่ของซี-เซ็กเมนต์

 

ขณะที่ไฮไลต์ที่ทำให้มาสด้า 3 ใหม่คันนี้พัฒนายิ่งขึ้นไปจากเดิมนั้น คือ ระบบใหม่ 2 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบจี-เวคเตอริ่ง คอนโทรล (จีวีซี) และ 2.ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ มาสด้า เรดาห์ ครูซ คอนโทรล (เอ็มอาร์ซีซี) ดังนั้น มาสด้า จึงได้จัดสนามทดสอบให้ได้สัมผัสระบบนอกเหนือจากการขับขี่บนท้องถนนจากกรุงเทพฯมุ่งหน้าสู่เขาใหญ่

เริ่มต้นที่ระบบจี-เวคเตอริ่ง คอนโทรล (จีวีซี) ที่ช่วยผสานระหว่างเครื่องยนต์และช่วงล่างทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สามารถควบคุมการส่งถ่ายแรงจีในทิศทางต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการควบคุมรถยนต์ เมื่อเข้าโค้งระบบจะสั่งการไปยังเครื่องยนต์ให้กำลังลงเล็กน้อยเพื่อถ่ายเทน้ำหนักไปยังล้อหน้า ซึ่งประโยชน์ที่ผู้ขับขี่จะได้รับคือการลดอาการเมื่อยล้าควบคุมพวงมาลัยได้ง่ายขึ้น และลดการปรับแก้พวงมาลัยซึ่งช่วยให้มั่นใจขณะเข้าโค้งและลดอาการโคลงตัวของรถ

ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจนมาสด้าจึงได้เอารุ่นก่อนหน้ามาให้ขับเทียบกับรุ่นใหม่ ซึ่งสิ่งที่รับรู้ได้คือการช่วยลดอาการดังกล่าวตามที่มาสด้าเคลมไว้ได้จริง โดยเฉพาะผู้โดยสารแถวหลังจะรับรู้ได้เป็นอย่างดีถึงอาการโคลงที่ลดลง

มาสด้า 3 ไมเนอร์เชนจ์ มาตรฐานใหม่ของซี-เซ็กเมนต์

 

ส่วนระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ มาสด้า เรดาห์ ครูซ คอนโทรล (เอ็มอาร์ซีซี) เป็นระบบที่ช่วยคำนวณความเร็วและระยะห่างของรถคันหน้าพร้อมช่วยลดและเพิ่มความเร็วตามที่ได้กำหนดระยะเอาไว้ในระบบอย่างชาญฉลาด โดยระบบดังกล่าวจะทำงานตั้งแต่ความเร็ว 30-145 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ด้านอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและสมรรถนะการขับขี่ มีพื้นฐานเดิมที่ลงตัวและครบถ้วนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วคงไม่ต้องกล่าวอะไรให้มากมาย ขณะที่ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน (i-Activesense) ที่มีระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติ ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรคอัตโนมัติ ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนช่องทางจราจร ระบบช่วยควบคุมรถในช่องทางจราจรได้รับพัฒนาขึ้นเพิ่มเติม

สำหรับเครื่องยนต์ยังคงใช้เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร โดยมีอัตราส่วนการอัดสูงที่สุด 14.0:1 ให้กำลังสูงสุด 165 แรงม้าที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 210 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที ประหยัดน้ำมันสูงสุด 15.6 กิโลเมตร/ลิตร ทำงานร่วมกับเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด

สนนราคามาสด้า 3 ใหม่คันนี้เริ่มต้นที่ 8.47 แสน-1.11 ล้านบาท ด้วยความสดใหม่และเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นมาก็น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน