ทช.ลั่นปี'62ไทยไร้ถนนลูกรัง
กรมทางหลวงชนบทตั้งเป้าภายในปี 2562 ไทยไร้ถนนลูกรัง เทงบ 1.05 หมื่นล้าน ปรับปรุงทั้งประเทศ
กรมทางหลวงชนบทตั้งเป้าภายในปี 2562 ไทยไร้ถนนลูกรัง เทงบ 1.05 หมื่นล้าน ปรับปรุงทั้งประเทศ
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบทจะเร่งเดินหน้ายกระดับถนนทางหลวงชนบท โดยเฉพาะการปรับปรุงถนนลูกรังให้เป็นถนนลาดยาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งภายในปี 2562 ประเทศไทยจะเหลือทางลูกรังน้อยที่สุด หรือไม่ทางลูกรังเหลืออยู่เลย
ทั้งนี้ ตามแผนงานขณะนี้เหลือถนนลูกรังในประเทศไทยประมาณ 1,500 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้วงเงินปรับปรุงประมาณ 1.05 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2561 กรมทางหลวงจะเสนอของบประมาณ 7,000 ล้านบาท เพื่อเร่งดำเนินการในช่วง 1,000 กิโลเมตรก่อน จากนั้นในปี 2562 จะเสนอของบอีก 3,500 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในช่วงที่เหลือทั้งหมด
"มั่นใจว่า ภายใน 3 ปีนับจากนี้ ประเทศไทยจะต้องเหลือทางลูกรังน้อยที่สุด หรือไม่มีทางลูกรังเหลืออยู่เลย ซึ่งกรมมีแผนที่จะดำเนินการปรับปรุงถนนลูกรังทั้งประเทศไว้แล้ว" นายพิศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ จะพิจารณารับคืนถนนขององค์การบริหารส่วนตำบลให้กลับมาเป็นถนนทางหลวงชนบท เพื่อเดินหน้าปรับปรุงทางลูกรังในแต่ละพื้นที่อีกด้วยโดยจะพิจารณาปรับปรุงถนนลูกรังที่มีการพัฒนาอยู่แล้วเต็มโครงข่ายเสียก่อน เช่น ถนนลูกรังที่ทำไปได้แล้วบางส่วนต้องเร่งทำให้ครบทั้งหมด จากนั้นค่อยไปปรับปรุงถนนลูกรังเส้นอื่นต่อไป
ด้านโครงการลงทุนในปีงบประมาณ 2560 นั้น กรมทางหลวงชนบทรับผิดชอบทั้งสิ้นกว่า 4,000 โครงการ ขณะนี้สามารถลงนามสัญญาได้มากกว่าสัดส่วน 95% แล้ว แต่คาดว่าจะมีโครงการที่ ลงนามสัญญาไม่ทันตามเป้าภายในเดือน มี.ค. 8 โครงการ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ 4 แห่ง โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ 1 แห่ง จ.สระบุรี วงเงิน 80 ล้านบาท โครงการก่อสร้างสะพานลอย 1 แห่ง โครงการก่อสร้างอาคาร 1 แห่ง และโครงการว่าจ้างที่ปรึกษาก่อสร้างถนนทางหลวงชนบท อ.แม่สอด จ.ตาก วงเงิน 13 ล้านบาท
"ที่ล่าช้าเป็นผลจากผู้รับเหมามีงาน ล้นมือ จากการพัฒนาถนนมอเตอร์เวย์หลายสายในปัจจุบัน จึงส่งผลให้การประกวดราคา 2 ครั้งที่ผ่านมาไม่มีเอกชนเข้ายื่นประมูลการก่อสร้างแม้แต่รายเดียว แต่กรมได้เตรียมแผนรองรับปัญหา ดังกล่าวไว้แล้ว โดยจะพิจารณาปรับเพิ่มวงเงินราคากลางในบางโครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนในปัจจุบัน รวมถึงจูงใจให้เอกชนอยากเข้าร่วมประมูลงาน มากขึ้นด้วย" นายพิศักดิ์ กล่าว