เสนาธิปไตย : การเมือง การปกครองที่มีทหารเป็นใหญ่
ทวี สุรฤทธิกุล"เสนา" ตั้งแต่สมัยโบราณหมายถึง "ทหาร"
ทวี สุรฤทธิกุล
"เสนา" ตั้งแต่สมัยโบราณหมายถึง "ทหาร"
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้กำหนดบรรดาศักดิ์ขุนนางในตำแหน่ง "สมุหพระกลาโหม" ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารให้มียศเป็น "เจ้าพระยามหาเสนา" แปล ตรงตัวว่า "ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ทหาร" ตำแหน่งนี้มีอยู่ในทำเนียบศักดินามาตลอดจนถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้เป็นท่านสุดท้าย ก็คือ "เจ้าพระยาอัครมหาเสนา (บุนนาค)" ผู้เป็นสหาย คู่พระทัยของรัชกาลที่ 1 มาตั้งแต่ครั้งแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระบรมโกฐ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และร่วมกอบกู้เอกราชร่วมกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน หลังเสียกรุงศรีอยุธยาในปี 2310 นั้นด้วย (ตำแหน่งนี้ต้องเป็นผู้ที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์มากๆ ถ้าใครได้ชมภาพยนตร์ เรื่อง "ตำนานสมเด็จพระนเรศวร" จะเห็นว่าผู้ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้ คือ "ไอ้บุญทิ้ง" ที่ติดสอยห้อยตามพระนเรศวรมาตั้งแต่เด็กๆ เป็นคู่ซ้อมทั้งหมัดมวยและเพลงอาวุธต่างๆ กับพระนเรศวรมาโดยตลอด ในศึกสงครามต่างๆ ก็ร่วม รบเคียงบ่าเคียงไหล่ ได้เป็นที่ "พระราชมนู" ในภาพยนตร์จะแสดงโดย นพชัย "ปีเตอร์" ชัยนาม เมื่อพระนเรศวรขึ้นครองราชย์แล้วได้พระราชทานยศเป็น "เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี" ตำแหน่ง "สมุหพระกลาโหม")
อย่างไรก็ตาม คนไทยจำนวนมากยังมีความเข้าใจว่า "เสนา" นี้หมายถึงแต่ "ทหารผู้น้อย" หรือบรรดาไพร่พลในกองทัพ หรือทหารที่ติดตามรายรอบ "ตัวเอก" เพราะถูกปลูกฝังติดตามาจากการชมโขนละครหรือลิเก ที่เสนามักจะเป็นแค่ตัวประกอบ แม้กระทั่งเป็นตัวตลก "ตามพระ-ตามนาง" นั้นเป็นส่วนใหญ่ แต่กระนั้นคำว่า เสนา ในสมัยใหม่ก็ยังมีใช้อยู่ในหมู่ทหาร เช่น เรียกตำแหน่งนายทหารทางด้านยุทธการว่า "เสนาธิการ" หรือมีวารสารที่เผยแพร่ข่าวคราวและเทคโนโลยีด้านการทหารที่ชื่อ "เสนาธิปัตย์" เป็นต้น
ในครั้งที่ผู้เขียนศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ใน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านอาจารย์ผู้สอนวิชาการเมืองการปกครองไทย บอกว่า แต่ไหนแต่ไรมานั้นประเทศไทยมีการปกครองที่เรียกว่า "เสนาธิปไตย" มาโดยตลอด นั่นก็คือ "ประเทศไทยขาดทหารไม่ได้" แม้แต่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเป็นล้นพ้น ก็ยังต้องอาศัยทหารค้ำจุนราชบัลลังก์
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 มีผู้เรียกการปกครองตั้งแต่ยุคนั้นเป็นต้นมาว่าเป็น "อำมาตยาธิปไตย" อันหมายถึง "ข้าราชการเป็นใหญ่" เพราะผู้ก่อการที่เรียกว่า "คณะราษฎร" ประกอบด้วยข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน พอมาถึงยุคระบอบทักษิณ ความหมายของคำว่า "อำมาตย์" ได้เปลี่ยนแปลงไป คือ หมายถึง "ชนชั้นสูง" ทั้งในฝ่ายทหาร พลเรือน และภาคส่วนอื่นๆ ที่เรียกว่า "ไฮโซ" นั้นด้วย คำว่า อำมาตยาธิปไตย จึงมีความหมายเบี่ยงเบนไปด้วย
ในวาทกรรมที่ว่าด้วยทหารกับการเมืองการปกครองของไทย ยังมีผู้ใช้คำอื่นๆ อีกมากมายเพื่ออธิบายลักษณะเด่น ของการเมืองการปกครองแบบนี้ เช่น เรียกระบอบทหารในช่วงจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในยุคที่ 2 ตั้งแต่ปี 2490 ว่า "ระบอบนายทุนขุนศึก" เพราะมีการทำมาหากินของทหารร่วมกับพ่อค้าเอกชน ให้สัมปทานแก่พรรคพวกและบริวาร ให้ญาติพี่น้องเข้าไปมีตำแหน่งหรือร่วมประกอบธุรกิจในบริษัทเอกชน (รวมทั้งที่แจกจ่ายตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมการบริหารของรัฐวิสาหกิจต่างๆ แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาและพรรคพวก เป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ดีงามสืบต่อมาถึงปัจจุบัน) หรือเรียกระบอบทหารในช่วงสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดในการบริหารและกำจัดอาชญากรรม แต่ใน ขณะเดียวกันก็เอาอกเอาใจประชาชนและมีการพัฒนาในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างมากมาย นำความเจริญไปทั่วประเทศ จึงเรียกระบอบนี้ว่า "พ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการ" ย้อนยุคไปสู่การปกครองตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยนั้น
นอกจากนี้ ในช่วงที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายทหารผู้มากบารมี ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่กว่า 8 ปี ในช่วงปี 2523-2531 บ้านเมืองก็สงบราบรื่นและโชติช่วงชัชวาลพอควร ถึงขั้นที่มีสื่อมวลชนบางฉบับตั้งชื่อการปกครองแบบนี้ว่า "เปรมาธิปไตย" จึงมีการคาดเดาว่าหากระบอบทหารที่ปกครองโดย คสช.นี้ยังคงดำรงอยู่ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ก็อาจจะมีการเรียกระบอบนี้ว่า "ประยุทธาธิปไตย" หรือ "จันทร์โอชาธิปไตย" ก็เป็นได้
อาจจะมีผู้ตั้งคำถามว่า "ทำไมสังคมไทยจึงเป็นสังคม ที่นิยมทหาร" หรือ "ทำไมคนไทยจึงชอบทหาร" เรื่องนี้ก็มี คำตอบทางวิชาการให้ไว้บอกว่า "เพราะคนไทยเป็นพวกอำนาจนิยม" คือชอบที่จะมีอำนาจหรือยิ่งใหญ่เหนือคนอื่น อย่างเช่นคนไทยเป็นคนหน้าใหญ่ใจโต และชอบทำอะไรเพื่อเอาหน้า เป็นต้น ซึ่งเรื่องของ "หน้าตา" นี้ก็คืออำนาจอย่างหนึ่งของสังคมไทย ที่วัดกันด้วยฐานะตำแหน่งต่างๆ ทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือ ทรัพย์สมบัติ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ (ดูการแต่งกายของลิเกนั้นก็ได้) บ้าน ที่ดิน และข้าทาส หรือฐานะตำแหน่งทางสังคมที่รวมถึงตำแหน่งหน้าที่การงานในทางราชการ ซึ่งก็ชอบวัดกันว่า "ใครเล็ก ใครใหญ่" นั่นเอง
ทหารจึงมีอำนาจมากที่สุดในสังคมไทย เพราะท่านมี "หน้าตา" ในทุกๆ เรื่องทั้งหมดนั้น n