พรบ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ เอาผิดเอกชนผู้จ่ายเงินสินบน (1)
วิโรจน์ พูนสุวรรณ ที่ปรึกษากฎหมาย[email protected]พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2560 คือ 180 วันหลังจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้นำมาใช้แทนที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535
วิโรจน์ พูนสุวรรณ ที่ปรึกษากฎหมาย[email protected]
พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2560 คือ 180 วันหลังจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้นำมาใช้แทนที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535
พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่นี้ คนพูดถึงน้อยกว่า พ.ร.บ.ร่วมทุนและระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทั้งนี้ในความเป็นจริง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใช้บังคับครอบคลุมมากกว่า 90% ของงานจัดซื้อจัดจ้างและโครงการก่อสร้างของรัฐบาล ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กทั่วประเทศ
ข้อใหญ่ใจความของกฎหมายใหม่มุ่งเน้นที่การป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น และวิธีปฏิบัติทางการค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน โดยเพิ่มบทบัญญัติเรื่องความโปร่งใส และการตรวจสอบ รวมทั้งการเข้ามามีส่วนร่วมของสาธารณชนอย่างมีข้อจำกัด บทบาทของหน่วยงานราชการในการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายระบุไว้อย่างเต็มที่ ผ่านคณะกรรมการชุดต่างๆ ถึง 5-6 ชุดด้วยกัน
แต่ที่ใหม่จริงๆ ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็คือความรับผิดและโทษทางอาญาที่มีต่อพนักงานของรัฐ ซึ่งดูเสมือนหนึ่งว่าได้นำมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการมาบัญญัติซ้ำไว้ในกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง มาตรานี้ในกฎหมายอาญา ปกติก็เป็นที่เกรงขามอยู่แล้วในบรรดาข้าราชการและพนักงานของรัฐโดยทั่วไป เพราะเป็นมาตราที่นำมาใช้อย่างจริงจังแพร่หลาย เป็นข่าวใหญ่โตทั้งกับนักการเมืองและข้าราชการ เมื่อกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างนำมาบัญญัติซ้ำไว้อีก ก็ดูเหมือนเป็นเครื่องเตือนใจให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นพิเศษ
ส่วนบทบัญญัติใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างที่เป็นที่สะดุดสายตากันจริงๆ ก็คงหนีไม่พ้นบทบัญญัติที่ให้เอาผิดกับเอกชนผู้จ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ในฐานะ "ผู้สนับสนุน" ต้องระวางโทษทางอาญาสองในสามของพนักงานของรัฐที่กระทำผิด เป็นการสร้างความกระจ่างให้กับหลายๆ คนที่เคยเข้าใจผิดว่า กฎหมายเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น ไม่ได้เอาผิดกับเอกชน
ในความเป็นจริง เอกชนที่ต้องรับผิดในฐานะผู้สนับสนุนนี้ ก็เป็นหลักที่กำหนดไว้ช้านานในประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยเป็นข่าวว่ามีการบังคับใช้ จนกระทั่งมีข่าวครึกโครมเมื่อเร็วๆ นี้ว่าใช้บังคับกับบุคคลสาธารณะบางท่าน เมื่อนำหลักการเดียวกันมาบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ก็หมายความว่า โอกาสที่เอกชนที่สนับสนุนให้พนักงานของรัฐกระทำความผิดฐานคอร์รัปชั่น ก็มีโอกาสสูงขึ้นที่จะได้รับโทษตามกฎหมายเฉพาะฉบับนี้
เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้เอกชนว่าต้องเพิ่มความระมัดระวังเช่นกัน กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ได้เพิ่มอัตราโทษของผู้สนับสนุน จากที่กฎหมายอาญาบัญญัติไว้เพียงสองในสาม ก็ให้เพิ่มขึ้นไปเป็น 100% เท่ากับโทษที่พนักงานของรัฐได้รับ
แต่ก็นับว่ากฎหมายใหม่ยังมีความเมตตา ที่กำหนดโทษค่าปรับทางอาญาสูงสุดไว้เพียง 2 แสนบาท ซึ่งไม่หนักหนาอะไรมากเมื่อเทียบกับมูลค่าโครงการหากเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ส่วนโทษจำคุกสูงสุดอยู่ที่ 10 ปี ยังเป็นที่น่าเกรงขามอยู่
ข้อที่น่าสังเกตคือว่ากฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับนี้ยังคงกลิ่นอายของความเป็นกฎหมายของประเทศในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งต่อสู้กับคอร์รัปชั่นแต่เพียงหอมปากหอมคอ ไม่ถึงกับเข้มงวดมากเหมือนประเทศอุตสาหกรรมที่เจริญแล้ว หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศบางแห่ง กฎหมายบ้านเราเอาผิดกับพนักงานของรัฐ และพนักงานบริษัทของเอกชน แต่จะไม่เอาผิดกับบริษัทที่กระทำความผิด และไม่มีมาตรการทางการค้าที่ใช้ได้ผลในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นเหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้ว
ค่าปรับหนักๆ ขนาดหลายพันล้านบาทหรือหลายร้อยล้านบาท ที่บริษัทข้ามชาติที่กระทำผิดต้องจ่ายให้แก่รัฐบาลของตน ไม่ว่าตนจะไปกระทำความผิดในประเทศไหน ก็ยังคงจำกัดอยู่เฉพาะบริษัทที่มาจากประเทศอุตสาหกรรมเหล่านั้น คงจะยังไม่นำมาใช้เป็นกฎหมายของบ้านเราอย่างน้อยก็อีกหลายสิบปี
(อ่านต่อวันอังคารที่ 23 ม.ค. 2561)