ความเสี่ยงทางการเงิน 10 ประการในชีวิตที่ไม่ควรมองข้าม
โดย...ศิวัฒน์ สิงหสุตกร นักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาด้านประกันอิสระ
โดย...ศิวัฒน์ สิงหสุตกร นักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาด้านประกันอิสระ
ช่วงเวลาปลายปีแบบนี้ หลายคนอาจจะกำลังวางแผนเดินทางท่องเที่ยว หรือวางแผนที่จะร่วมงานเฉลิมฉลองตามสถานที่ต่างๆ แม้จะอยู่ในช่วงเวลาแห่งความสุข แต่อย่าลืมว่าความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนต่างๆ ในชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ และหากมันเกิดขึ้นแล้ว ช่วงเวลาแห่งความสุข ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าได้ ถ้าเราไม่ระมัดระวังมากพอ ในวันนี้ ผมจึงขอเสนอให้ระมัดระวังความเสี่ยงทางการเงินต่างๆ ที่สำคัญ 10 ประการ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของเราไว้ดังนี้
1.ความมั่นคงของรายได้
เราจะมีปัญหาแน่นอน ถ้าวันหนึ่งเราเกิดขาดรายได้ขึ้นมา ไม่ว่าจากการถูกให้ออกจากงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ไม่ได้ทำงานประจำ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการขาดรายได้สูง เช่น ขายของไม่ได้ ไม่มีคนว่าจ้าง ย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายประจำวัน รวมถึงการออมเงินเพื่ออนาคต จึงควรป้องกันด้วยการพยายามหารายได้หลายทางเพื่อลดภาระการพึ่งพารายได้ทางใดทางหนึ่ง หรือหมั่นพัฒนาศักยภาพความรู้ความสามารถอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตัวเองตลอดเวลา
2.ความเสี่ยงด้านสุขภาพ
คือโอกาสการเจ็บป่วยจากโรคภัย หรือจากอุบัติเหตุ โดยไม่คาดฝัน ที่อาจจะทำให้เราต้องสูญเสียทรัพย์สินไปกับค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก ทางป้องกันคือ หมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายด้วยการออกกำลังกาย ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการเจ็บป่วย รวมไปถึงการเตรียมเงินสำรอง หรือทำประกันสุขภาพไว้ เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในการรักษากรณีฉุกเฉินไว้ด้วยเช่นกัน
3.ภาระทางการเงินที่มีอยู่
ภาระทางการเงินที่สำคัญ ได้แก่ ภาระหนี้สิน และภาระค่าเลี้ยงดูบุคคลอื่น เช่น พ่อแม่ ลูก หรือคู่สมรส ที่เรียกว่าเป็นภาระ เนื่องจากเป็นสิ่งที่เราต้องแบกรับไว้ นั่นแปลว่า หากเราจากไปกะทันหัน หรือกลายเป็นคนทุพพลภาพ ภาระเหล่านี้จะต้องถูกส่งต่อไปที่บุคคลอื่น เช่น คนในครอบครัว ที่ต้องมาแบกรับภาระหนี้สิน หรือค่าเลี้ยงดูแทนเราต่อไป ซึ่งอาจกระทบการใช้ชีวิตหรือสร้างความเดือดร้อนให้คนที่ต้องมารับภาระแทน รวมถึงคนที่ต้องเลี้ยงดูต่อไปด้วย เราควรรองรับความเสี่ยงเรื่องนี้ด้วยการมีทรัพย์สินให้เพียงพอต่อการจัดการหนี้สิน และให้คนที่เลี้ยงดูอยู่ได้ใช้ต่อไปจนหมดภาระเลี้ยงดู หรือทำประกันชีวิตและประกันเอาไว้ให้ครอบคลุมภาระการเงินส่วนขาด เพื่อโอนความเสี่ยงดังกล่าวให้บริษัทประกันชีวิตมารับผิดชอบแทน
4.ความเสียหายของทรัพย์สิน
ทรัพย์สินต่างๆ ที่เรามีอยู่ โดยเฉพาะทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง ไม่ว่าจะเป็น รถ บ้าน โทรศัพท์มือถือ นาฬิการาคาแพง หรือทรัพย์สินอื่นๆ นั้นมีโอกาสเสียหายได้เสมอจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น น้ำท่วม รถชน หรือถูกโจรกรรม เป็นต้น ซึ่งหากเกิดความเสียหายแล้ว เราก็ต้องจ่ายค่าซ่อมแซมเป็นจำนวนมาก จึงควรรองรับความเสี่ยงด้วยการดูแลรักษา และระมัดระวังตัวเวลาใช้ทรัพย์สินนั้น ก็ลดโอกาสเกิดความเสียหาย นอกจากนี้ ก็ควรเตรียมเงินสำรองเอาไว้สำหรับการซ่อมบำรุง หรือทำประกันไว้ สำหรับโอกาสเกิดความเสียหายมูลค่าสูง เช่น ประกันอัคคีภัย หรือประกันรถยนต์ด้วยเช่นกัน
5.ความผันผวนของการลงทุน
ขึ้นชื่อว่าการลงทุน ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงที่จะขาดทุน หรือความผันผวนในระยะสั้นเสมอ ไม่ว่าจะลงทุนในหุ้น กองทุนรวม ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ก็อาจจะมีโอกาสที่ผู้เช่าจะไม่ทำตามสัญญา หาผู้เช่าไม่ได้ ขายไม่ออก หรือลงทุนทำธุรกิจ ก็อาจจะมีโอกาสที่ธุรกิจเจ๊ง ถูกหุ้นส่วนโกง และมีโอกาสที่จะมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาร่วมแข่งด้วยได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ทุกการลงทุนจึงควรมีแผนรองรับว่าถ้าหากสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่คาดแล้ว จะมีวิธีรับมือไว้ล่วงหน้าอย่างไรเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดเสมอ
6.การผิดหรือละเมิดสัญญา
ในช่วงชีวิตหนึ่ง เราอาจต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำธุรกิจกรรมบางอย่างที่มีสัญญาผูกมัดให้เราต้องปฏิบัติตาม ซึ่งก็มีโอกาสที่เรา หรือบุคคลที่เราเกี่ยวข้องด้วยในทางธุรกรรมที่อาจจะพลาดพลั้ง จนทำให้ไปละเมิดสัญญาที่ทำไว้กับผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย และมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับเราได้ เช่น การค้ำประกันให้บุคคลอื่น การปล่อยกู้ หรือให้บุคคลอื่นยืมเงิน เป็นต้น ซึ่งทางที่ดี หากไม่จำเป็นจริงๆ ก็ควรหลีกเลี่ยง หรือหากเลี่ยงไม่ได้ก็ควรมีมาตรการลดความเสี่ยง เช่น วางเงินมัดจำ บันทึกข้อมูลส่วนตัว หรือประเมินความเสี่ยงของผู้ร่วมทำธุรกรรมให้ดีก่อนตัดสินใจ เป็นต้น
7.พฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัว
เป็นพฤติกรรมส่วนตัวที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะถ้าหากจับจ่ายใช้สอยตามอารมณ์ความอยากโดยขาดการยับยั้งชั่งใจ ก็อาจทำให้ไม่เหลือกระแสเงินสดเพียงพอที่จะบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ในการบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่จำเป็น เช่น การออมเพื่อเกษียณ การทำประกันเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงทางการเงินได้ในอนาคต หรือเลวร้ายที่สุดคือใช้จ่ายจนไม่เพียงพอกับรายรับที่หามาได้จนกลายเป็นการก่อหนี้สิน ที่จะเป็นปัญหาทางการเงินระยะยาวขึ้นมาอีกในอนาคต การป้องกันหรือการจัดการที่ดีที่สุด จึงคือการมีสติทุกครั้งก่อนที่จะใช้จ่าย โดยคิดถึงความจำเป็น และบริหารจัดการด้วยอยู่เสมอ
8.รายจ่ายเพื่อเป้าหมายที่ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า
บางครั้งในการใช้ชีวิต ก็อาจจะเกิดรายจ่ายที่จำเป็นขึ้นโดยที่เราไม่ได้คาดคิด หรือวางแผนไว้ล่วงหน้า จนอาจจะทำให้เกิดการติดขัดทางการเงิน หรือไม่มีเงินเพียงพอ ทำให้มีปัญหาทางการเงินตามมาได้ เช่น การมีบุตรโดยไม่ได้วางแผนล่วงหน้า หรือการซื้อรถยนต์คันใหม่กะทันหัน ซึ่งควรจะวางแผนทางการเงิน โดยคำนึงถึงเป้าหมายทางการเงินที่จำเป็น หรืออาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพื่อให้เราได้มีเวลาในการเตรียมเงินและบริหารจัดการทรัพย์สินต่างๆ ไว้ล่วงหน้า ทำให้เรามีโอกาสที่จะมีเงินเพียงพอเมื่อถึงเวลาที่เป้าหมายนั้นมาถึงได้
9.ความเสี่ยงจากกิจกรรมที่ทำ
สำหรับบางคน งานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ชอบทำยามว่าง ก็อาจเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินได้ เช่น ชอบเล่นกีฬาผาดโผน ทำให้เสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บและการรักษาพยาบาล หรือบางคนก็อาจจะชอบเล่นการพนัน ก็ทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียทรัพย์สิน จนอาจทำให้หมดเนื้อหมดตัวได้ หากเป็นไปได้ก็ควรเลี่ยงไปทำกิจกรรมอื่นที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า หรือต้องมีการควบคุมความเสี่ยงจากการควบคุมพฤติกรรมของตัวเองอย่างเข้มงวด หรือมีอุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บ
10.ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
เงินสภาพคล่องคือเงินที่ควรเตรียมไว้สำหรับค่าใช้จ่ายประจำ หรือรายจ่ายฉุกเฉินที่จำเป็น จึงต้องอยู่ในที่ที่พร้อมถอนออกมาใช้ได้ตลอดเวลา เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร หรือกองทุนรวมที่มีสภาพคล่องสูง กองทุนรวมตลาดเงิน หรือตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ผลตอบแทนต่ำ ทำให้เสียโอกาสนำเงินมาบริหารการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ดังนั้น เงินสภาพคล่องที่มีจึงควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่มากหรือน้อยจนเกินไป โดยทั่วไปแนะนำให้อยู่ที่ 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน
ทั้งหมดคือความเสี่ยงทางการเงินที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในชีวิต แล้วส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินเราดังนั้น อย่าลืมถามตัวเองว่า ปัจจุบันนี้ได้มีการวางแผนรองรับความเสี่ยงในเรื่องต่างๆ ไว้อย่างรัดกุมแล้วหรือยัง เพื่อให้ปีใหม่ที่จะถึงนี้ รวมถึงอนาคตจะได้มีชีวิตที่มั่งคั่งและมั่นคงด้วยความอุ่นใจตลอดไปครับ
ภาพ เอเอฟพี