แนวทางการลดอุบัติเหตุ จากรถโดยสารสองชั้น
ข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะในปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่า รถโดยสารสองชั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ารถโดยสารชั้นเดียวถึง 6 เท่า สอดคล้องกับข้อมูลอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าที่เกิดกับรถโดยสารชั้นเดียวถึง 6 เท่าเช่นกัน
ข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะในปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่า รถโดยสารสองชั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ารถโดยสารชั้นเดียวถึง 6 เท่า สอดคล้องกับข้อมูลอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าที่เกิดกับรถโดยสารชั้นเดียวถึง 6 เท่าเช่นกัน
สาเหตุของอุบัติเหตุจากรถโดยสารสองชั้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา พบว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นไม่ประจำทางมากกว่ารถโดยสารสองชั้นประจำทาง ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ดูถึงสาเหตุน่าจะมาจาก รถโดยสารประจำทางจะมีเส้นทางวิ่งที่แน่นอน มีกฎหมายควบคุมเส้นทางที่ขออนุญาตประกอบการเดินรถ ซึ่งรถโดยสารประจำทางจะไม่สามารถวิ่งออกนอกเส้นทางได้ แต่สำหรับรถโดยสารไม่ประจำทาง เป็นการว่าจ้างให้เดินทางไปที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อนเดินทาง ซึ่งบางครั้งผู้ขับรถอาจไม่มีความชำนาญในเส้นทางนอกพื้นที่และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสองชั้น มีหลายปัจจัยประกอบกัน แต่สาเหตุหลักน่าจะมาจากตัวผู้ขับขี่ ทั้งขับรถประมาท ขับรถเร็ว ไม่เคารพกฎจราจร อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญก็คือสภาพของรถสองชั้นที่มีความสูง โดยเมื่อประกอบกับความเร็วในการขับขี่และสภาพถนนที่เป็นทางโค้งลาดชัน มีส่วนที่ทำให้รถโดยสารสองชั้นเกิดอุบัติเหตุเสียหลักหรือพลิกคว่ำได้ง่าย
ประเด็นเรื่องความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้น จะยังเป็นข้อถกเถียงกันระหว่างกลุ่มนักวิชาการและกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง กรมการขนส่งทางบก ก็ได้ออกมาตรการเพื่อความปลอดภัยของบริการรถโดยสารสองชั้นหลายมาตรการ เช่น การกำหนดให้รถโดยสารขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนใหม่จะต้องมีความสูงไม่เกิน 4.00 เมตร จากเดิมที่กำหนดไว้ 4.30 เมตร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2560 โดยมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้มีการจดทะเบียนรถโดยสารสองชั้นเพิ่มใหม่ในระบบอีก ซึ่งถือเป็นการจัดระบบรถโดยสารสองชั้นอีกทางหนึ่ง
สำหรับสิ่งที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการมั่นใจในการใช้บริการรถโดยสารสองชั้น ณ เวลานี้ ก็คือการติดตั้ง GPS ควบคุมความเร็ว รวมถึงมาตรการควบคุมพฤติกรรมคนขับรถด้วยเทคโนโลยี ซึ่งมีผลช่วยในเรื่องความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ในเรื่องโครงสร้างของตัวรถโดยสารสองชั้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้ในเส้นทางเสี่ยง การที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหา เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารสองชั้น คงต้องเกิดจากการปรับใช้นโยบายแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานรัฐที่มีหน้ากำกับดูแล ผู้ประกอบการ และผู้ใช้บริการ