posttoday

ดาวสว่างในเวลาหัวค่ำ

07 มกราคม 2561

ท้องฟ้าเวลาหัวค่ำตลอดเดือน ม.ค. 2561

โดย วรเชษฐ์ บุญปลอด

ท้องฟ้าเวลาหัวค่ำตลอดเดือน ม.ค. 2561 ไม่มีดาวเคราะห์สว่างให้เห็นเลยแม้แต่ดวงเดียว ดาวเคราะห์สว่าง 4 ดวง ได้แก่ ดาวพุธ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ต่างก็อยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด ขณะที่ดาวศุกร์ก็ยังอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ถึงอย่างนั้นเราก็ยังเห็นดาวฤกษ์สว่างอยู่ใกล้กันบนท้องฟ้าทิศตะวันออก

ช่วงเดือนนี้ของทุกปี ท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาหัวค่ำจะมีกลุ่มดาวที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อดาวเต่าปรากฏบนท้องฟ้า มีดาวสว่าง 4 ดวง เรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมแทนตำแหน่งเท้าของเต่า ตรงกลาง 4 เหลี่ยม มีดาวสว่าง 3 ดวง เป็นส่วนหนึ่งของดาวไถ ซึ่งในทางดาราศาสตร์สากล ทั้งดาวเต่าและดาวไถ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวนายพราน ดาวสว่าง ที่สุดสองดวงมีชื่อว่าเบเทลจุสและไรเจล บริเวณ ดาวไถมีกลุ่มแก๊สและฝุ่นของเนบิวลาสว่างที่เห็นได้ ด้วยตาเปล่า สังเกตได้ดีในกล้องสองตาและกล้อง โทรทรรศน์

ใกล้กลุ่มดาวนายพรานมีดาวสว่างมากสองดวง ดวงหนึ่งคือซิริอัสในกลุ่มดาวหมาใหญ่ อีกดวงหนึ่งคือโพรซิออนในกลุ่มดาวหมาเล็ก ดาวสามดวง ได้แก่ เบเทลจุส ซิริอัส และโพรซิออน เรียงกันเป็นสามเหลี่ยมที่คนในซีกโลกเหนือเรียกว่าสามเหลี่ยมฤดูหนาว เนื่องจากสังเกตได้ดีในฤดูหนาว ขณะที่คนในซีกโลกใต้เรียกว่าสามเหลี่ยมฤดูร้อน เพราะฤดูกาลสลับกันในแต่ละซีกโลก

นอกจากกลุ่มดาวหมาใหญ่และหมาเล็ก กลุ่มดาวอีกหลายกลุ่มที่อยู่ใกล้กลุ่มดาวนายพรานก็มี ดาวสว่างเป็นสมาชิก ได้แก่ ดาวอัลเดบารันในกลุ่มดาววัว ดาวคาเพลลาในกลุ่มดาวสารถี ดาวพอลลักซ์ และคาสเตอร์ในกลุ่มดาวคนคู่ หากเราลากเส้นเชื่อมโยงดาวสว่างหลายดวง เริ่มจากดาวซิริอัส ไปหาไรเจล อัลเดบารัน คาเพลลา พอลลักซ์ และโพรซิออน เราจะได้สิ่งที่เรียกว่าหกเหลี่ยมฤดูหนาว หรือวงกลมฤดูหนาว อันประกอบขึ้นจากดาวสว่าง 6 ดวงในกลุ่มดาว 6 กลุ่ม

ซิริอัสเป็นดาวสีขาว โดดเด่นที่สุดในบรรดาดาวเหล่านี้ เนื่องจากเป็นดาวฤกษ์ที่มีความสว่างมากที่สุดบนท้องฟ้าเวลากลางคืน สาเหตุสำคัญเพราะอยู่ใกล้ ห่างโลก 8.6 ปีแสง หรือแสงใช้เวลาเดินทาง นาน 8.6 ปี จากดาวดวงนี้จึงจะมาถึงเรา ซึ่งหากเปรียบเทียบกับดวงอาทิตย์ แสงใช้เวลา 8.3 นาที จากดวงอาทิตย์มาถึงโลก ดาวซิริอัสจึงอยู่ไกลจากโลกมากเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ แต่ในทางดาราศาสตร์ ระยะห่างระหว่างดาวฤกษ์ในหน่วยไม่กี่ปีแสงนั้นถือว่าใกล้ ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ห่างออกไปราว 4.25 ปีแสง

ดาวซิริอัสมีความสว่างมาก เราจึงพบว่าเราสามารถเห็นการกะพริบของแสงดาวได้ชัดเจนเป็นพิเศษ โดยนอกจากกะพริบแล้วยังเปลี่ยนสีไปด้วย ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดจากดาวเอง แต่เป็นผลจากการที่แสงดาวต้องเดินทางผ่านบรรยากาศโลก หากเราไปอยู่นอกโลก เราจะไม่เห็นดาวกะพริบเช่นนี้

เมื่อดูด้วยตาเปล่า ดาวฤกษ์ทุกดวงปรากฏเป็นเหมือนจุดแสง เมื่อเดินทางผ่านบรรยากาศโลก ซึ่งมีความปั่นป่วน ทำให้แสงถูกบิดไปมา บรรยากาศโลกแต่ละชั้นมีความหนาแน่นแตกต่างกัน จึงทำตัวเหมือนเลนส์ที่หักเหแสง แสงดาวที่เดินทางผ่านมาถึงดวงตาเราจึงถูกเบนไปมา ดูเหมือนเปลี่ยนตำแหน่งไปเล็กน้อยอยู่ตลอดเวลาเมื่อสังเกตจากพื้นโลก นอกจากนี้ แสงในแต่ละความยาวคลื่นหรือแต่ละสีก็มีการหักเหต่างกัน บางครั้งแสงสีหนึ่งมาเข้าตาเรา อีกสีหนึ่งถูกหักเหออกไปนอกแนวสายตา ทำให้เราเห็นแสงดาวกะพริบและเปลี่ยนสีไปพร้อมๆ กัน

คาเพลลาในกลุ่มดาวสารถีอยู่ห่างออกไป 43 ปีแสง ทางสเปกตรัมอาจจัดเป็นดาวสีส้ม แต่เมื่อดูด้วยตาเปล่าจะเห็นเป็นสีขาวเหลือง สิ่งที่โดดเด่นและได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดสำหรับดาวดวงนี้คือเราเห็นดาวคาเพลลาเป็นดาวดวงเดียวเมื่อดูด้วยตาเปล่าหรือแม้แต่ด้วยกล้องโทรทรรศน์ประสิทธิภาพสูงอันดับต้นๆ ของโลก แต่การศึกษาสเปกตรัมของแสงจากดาวคาเพลลาทำให้เราพบว่าแท้จริงประกอบด้วยดาวยักษ์สองดวง แต่ละดวงมีมวลราว 2.5 เท่าของดวงอาทิตย์ โคจรรอบกันโดยอยู่ใกล้กันมาก ใกล้เคียงระยะห่างระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวศุกร์ ดาวทั้งสองมีวิวัฒนาการเข้าสู่ช่วงท้าย อาจชนกัน กลายเป็นซูเปอร์โนวา เหลือซากเป็นดาวแคระขาวในอนาคต

โพรซิออนในกลุ่มดาวหมาเล็กอยู่ห่าง 11.5 ปีแสง มีชื่อซึ่งมาจากภาษากรีกโบราณที่แปลว่ามาก่อนหมา เพราะในละติจูดสูง เมื่อเห็นดาวโพรซิออน ขึ้นมาเหนือขอบฟ้าแล้ว ดาวซิริอัสหรือดาวหมาจะขึ้นตามมาในอีกไม่นาน หรือเมื่อเห็นดาวโพรซิออนปรากฏเหนือขอบฟ้าในเวลาใกล้รุ่งของวันใด ไม่กี่วันหลังจากนั้น ดาวซิริอัสก็จะเริ่มปรากฏในเวลาใกล้รุ่งเช่นกัน ส่วนประเทศไทยซึ่งอยู่ในละติจูดต่ำใกล้เส้นศูนย์สูตร ดาวซิริอัสจะขึ้นก่อนดาวโพรซิออนประมาณครึ่งชั่วโมง

เบเทลจุสเป็นดาวสีแดงซึ่งอยู่ห่างออกไปไกลหลายร้อยปีแสง (ผลการวัดมีความไม่แน่นอนสูง ล่าสุดคาดว่าอาจอยู่ห่างราว 700 ปีแสง ซึ่งอาจใกล้หรือไกลกว่านี้ก็ได้) จัดเป็นดาวขนาดใหญ่ที่สุดและปลดปล่อยพลังงานมากที่สุดในบรรดาดาวที่เห็นด้วยตาเปล่า เบเทลจุสเป็นดาวยักษ์แดงที่อยู่ในช่วงท้ายของวิวัฒนาการ คาดว่าภายในหนึ่งล้านปีหรือไม่กี่ล้านปีข้างหน้าอาจกลายเป็นซูเปอร์โนวาที่สว่างพอให้เห็นได้ในท้องฟ้าเวลากลางวันเมื่อมองจากโลก

เมื่อเวลาผ่านไปในแต่ละคืน การหมุนของโลกทำให้สามเหลี่ยมฤดูหนาวและหกเหลี่ยมฤดูหนาวเคลื่อนที่ขึ้นไปอยู่สูงที่สุดบนท้องฟ้าในเวลาราว 22.00-23.00 น. แล้วตกลับขอบฟ้าไปก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น หากจะดูดาวสว่างเหล่านี้ได้ดีที่สุดจึงควรสังเกตในช่วงเวลาก่อนเที่ยงคืน หรือหลังจากนั้นไม่นาน

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (7-14 ม.ค.)

ท้องฟ้าเวลาเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นมีโอกาสเห็นดาวพุธ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ปรากฏอยู่ทางทิศตะวันออก ดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง โดยดาวพฤหัสบดีสว่างกว่าดาวอังคารหลายเท่า เช้ามืดวันที่ 7 ม.ค. 2561 ดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีจะอยู่ใกล้กันที่ระยะ 0.2 องศา หลังจากนั้นเคลื่อนห่างออกจากกัน ปลายสัปดาห์อยู่ห่างกัน 3.2 องศา โดยดาวอังคารจะอยู่ต่ำกว่าดาวพฤหัสบดี

ดาวพุธอยู่ต่ำลงไปใกล้ขอบฟ้า สว่างน้อยกว่าดาวพฤหัสบดี แต่สว่างกว่าดาวอังคาร สัปดาห์นี้เคลื่อนออกจากกลุ่มดาวคนแบกงูเข้าสู่กลุ่มดาวคนยิงธนู ดาวพุธทำมุมห่างดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา ช่วงนี้จึงกำลังเคลื่อนกลับเข้าใกล้ ดวงอาทิตย์มากขึ้น แต่ยังสังเกตได้ดีหากเหนือขอบฟ้า ทิศตะวันออกไม่มีอะไรบดบัง

ช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ดาวเสาร์อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ จึงไม่เห็นบนท้องฟ้าเวลากลางคืน สัปดาห์นี้ดาวเสาร์ทำมุมห่างดวงอาทิตย์มากพอให้สังเกตได้บนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด โดยปรากฏอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู ใกล้ขอบฟ้ามากกว่าดาวพุธ เช้ามืดวันเสาร์ที่ 13 ม.ค. ดาวเสาร์จะเคลื่อนมาอยู่ใกล้ดาวพุธ โดยอยู่ทางซ้ายมือของดาวพุธที่ระยะห่าง 0.7 องศา หลังจากนั้นดาวเสาร์จะอยู่สูงกว่าดาวพุธ

สัปดาห์นี้เป็นข้างแรม ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดของทุกวัน สว่างครึ่งดวงในวันที่ 9 ม.ค. ขณะอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว จากนั้นจะเห็นดวงจันทร์เสี้ยวอยู่ใกล้ดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีในเช้ามืดวันที่ 11 และ 12 ม.ค.