การาวาจเกสก์ + ทัสคันสไตล์ = ออราซิโอ เจนติเลสกี
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการค้นพบ The Crowning of Thorns ภาพเขียนชิ้นสำคัญของ ออราซิโอ เจนติเลสกี จิตรกรชาวอิตาเลียนจากยุคแมนเนอริสม์ (
โดย ปณิฏา
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการค้นพบ The Crowning of Thorns ภาพเขียนชิ้นสำคัญของ ออราซิโอ เจนติเลสกี จิตรกรชาวอิตาเลียนจากยุคแมนเนอริสม์ (มีชีวิตระหว่าง 1563-1639) ซึ่งไม่เคยมีการจัดแสดงที่ไหนมาก่อน
นั่นกลายเป็นฤกษ์ดีในการจัดนิทรรศการเปิดแกลเลอรี่สาขาใหม่ของโคลนากี (Colnaghi) ที่กรุงนิวยอร์กฝั่งตะวันออกไปหมาดๆ เมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ร่วมกับผลงานของจิตรกรชาวอิตาเลียนในยุคสมัยไล่เลี่ยกัน อย่าง เปโดร เด เมนา (1628-1688) และลูกา จอร์ดาโน (1634-1705)
The Crowning of Thorns นับเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ หลังจากที่ภาพดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของครอบครัวๆ หนึ่งอยู่กว่า 2-3 รุ่น ทำให้รอดหูรอดตา ไม่อยู่ในสารบบของนักประวัติศาสตร์ศิลป์ และไม่ทราบปีที่ชัดเจนว่า ภาพเขียนขนาด 52x41 ซม. (หรือ 20x16 นิ้ว) นี้ ออราซิโอ ลงมือวาดในช่วงปีใดกันแน่ จนต้องพยายามนำไปเชื่อมโยงกับอีก 2 ภาพเขียนที่สไตล์คล้ายๆ กัน ที่เขาวาดในช่วงปี 1610-15 และเชื่อว่าน่าจะเป็นภาพในยุคดังกล่าว
ออราซิโอ โลมิ เจนติเลสกี (บิดาของจิตรกรหญิงชื่อดัง อาร์เตมิชา เจนติเลสกี) นับเป็นจิตรกรหัวก้าวหน้าในยุคสมัยของตัวเอง (ศตวรรษที่ 17) เขาเกิดที่เมืองปิซ่า แคว้นทัสคานี ก่อนที่จะย้ายไปยึดอาชีพจิตรกรเต็มตัวที่กรุงโรม อันเป็นที่ที่เขาได้พบกับ มิเกลังเจโล การาวาจโจ เจ้าของฉายา เจ้าชายแห่งความมืด และได้รับอิทธิพลในการวาดภาพในแบบดรามาติกมาเต็มๆ หากมานำเสนอในสไตล์ของตัวเองที่นุ่มนวลกว่า
ผลงานก่อนเจอ มิเกลังเจโล การาวาจโจ (ก่อนปี 1600) มักจะออกมาในแนวธรรมชาติ โดยเขาสนิทสนมกับศิลปินแนวแลนด์สเคป อะกอสติโน ตาสโซ่ ทั้งคู่ช่วยกันวาดภาพประดับปราสาท รอสปิโกลซี (Palazzo Rospigliosi) จนกระทั่งเดือน ส.ค. 1603 เกิดกรณีที่ศิลปินรุ่นพี่ยื่นฟ้องเขากับ มิเกลังเจโล การาวาจโจ, ออตตาโว เลโอนี และฟิลิโป ตริเซญี่ เรื่องจดหมายแบล็กเมลในกลุ่มศิลปินกรุงโรม ทำให้เขาได้สนิทสนมกับเจ้าชายแห่งความมืด และได้รับอิทธิพลทางศิลปะมามากมาย ทว่า ยังคงเอกลักษณ์ในการวาดภาพสไตล์ทัสคันของตัวเองเอาไว้ ด้วยโทนสีที่นุ่มนวล ละมุนละไม อีกทั้งรายละเอียดในภาพที่พัฒนามาจากยุคแมนเนอริสม์ก็ไม่ได้หายไป
ในปี 1611 เขาได้ทำงานร่วมกับ อะกอสติโน อีกครั้ง ในงานวาดภาพประดับตกแต่ง กาสิโน เดลเล มูเซ ก่อนจะลงท้ายด้วยการทะเลาะเบาะแว้งเรื่องส่วนแบ่ง แถมยังเกิดกรณีฟ้องร้องกับอะกอสติโน ข้อหาข่มขืนลูกสาวคนเดียวของเขาอีกด้วย
ชีวิตหลัง (พบ) มิเกลังเจโล การาวาจโจ นั้น ออราซิโอ หันมาวาดภาพจากแบบตัวเป็นๆ เช่นเดียวกับเจ้าชายแห่งความมืด โจวานนี มอลลี หนึ่งในพยานที่ต้องขึ้นให้การคดีข่มขืนเล่าว่า เขานั่งเป็นแบบให้ เจนติเลสกี คนพ่อ วาดภาพอยู่หลายครั้งระหว่างรอพิจารณาคดี ในที่สุดหน้าของเขาก็ปรากฏอยู่ในภาพ The Sacrifice of Isaac (1615) ในส่วนศีรษะของอับราฮัม
ในปี 1621 โจวานนี อันโตนิโอ เซาลี เชื้อเชิญเขาไปยังเมืองเจนัว หลังจากที่เคยใช้บริการ ออเรลิโอ โลมิ พี่ชายของเขามาแล้ว ผลงานที่โด่งดังภายใต้การว่าจ้างของ โจวานนี อันโตนิโอ เซาลี ก็มี Magdalene, A Danae แล้วก็ Lot and his Daughters ที่เจนัวเขายังได้พบกับผู้ว่าจ้างคนใหม่ มาร์กันโตนิโอ โดรียา ที่ให้เขาวาดภาพประดับผนังปราสาทซามเปียร์ดาเรนา
ฤดูร้อนปี 1624 ออราซิโอ ออกจากเจนัวไปยังกรุงปารีส เพื่อไปเป็นจิตรกรส่วนพระองค์ของพระนางมารี เดอ เมดิซี ราชินีในพระเจ้าอองรี ที่ 5 แห่งฝรั่งเศส ระหว่างอยู่ในตำแหน่งราว 2 ปี มีเพียงไม่กี่ภาพเท่านั้น ที่วาดประดับพระราชวังลุกซอมบูรก์ (Palais du Luxembourg) ที่ยังหลงเหลือถึงปัจจุบัน โดยคอลเลกชั่นดังกล่าวจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ลูฟร์
ในปี 1626 ออราซิโอ กับลูกชาย 3 คน ออกจากฝรั่งเศสไปยังอังกฤษ เพื่อไปเป็นจิตรกรประจำตัว จอร์จ วิลเลิร์ส ดยุกที่ 1 แห่งบักกิ้งแฮม คนสนิทของพระเจ้าเจมส์ ที่ 1 กษัตริย์แห่งอังกฤษ
ภาพเขียนยุคแรกๆ ของเขาในอังกฤษ คือ Apollo and the Muses ประดับบนเพดานคฤหาสน์ของดยุกที่ 1 แห่งบักกิ้งแฮม โดยหลังจากที่ จอร์จ วิลเลิร์ส ถูกลอบปลงพระชนม์ในปี 1628 เขาก็มีชื่อเสียงโด่งดังในอังกฤษ มีบรรดาเชื้อพระวงศ์และขุนนางจ่อคิวว่าจ้างงานกันเป็นแถว
ออราซิโอ เจนติเลสกี กลายเป็นศิลปินคนโปรดของพระนางอองเรียตตา มารี (หรือเฮนเรียตตา มาเรีย) พระราชินีในพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 1 ผลงานในยุคที่สร้างสรรค์ในอังกฤษดูมีความเรียบง่าย เหมือนลดทอนพลัง และอารมณ์ดรามาติกลงไปเยอะ อย่างที่จะเห็นได้ใน The Finding of Moses (1633) ทั้งสองเวอร์ชั่น อันเชื่อว่าเป็นของขวัญที่พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 1 ทรงส่งไปถวายพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งสเปน ทว่า ภายหลังมีหลักฐานบ่งบอกว่า ตัวออราซิโอเป็นผู้ส่งไปถวายเอง
เขาเสียชีวิตในกรุงลอนดอน ในเดือน ก.พ. 1639 ร่างของเขาถูกฝังในโบสถ์ควีนส์ ที่ซอมเมอร์เซต เฮาส์
ในยุคสมัยของเขา มีหลายคนที่เรียกได้ว่าได้รับอิทธิพลจาก มิเกลังเจโล การาวาจโจ หรือกลุ่มจิตรกรการาวาจเกสก์ (Caravaggesque painters) ซึ่งแต่ละคนก็ล้วนพัฒนาไปในทิศทางของตัวเอง สำหรับออราซิโอ ได้ผสมผสานสไตล์การาวาจเกสก์ที่มีอิทธิพลต่อเขา เข้ากับสไตล์การวาดแบบทัสคัน และแรงบันดาลใจจากของจิตรกรรุ่นพี่อีกหลายๆ ท่าน ตั้งแต่จิตรกรเพื่อนร่วมชาติ อย่าง บาร์โตโลมิว กาวารอซซี (1590-1625) ออราซิโอ ริมินัลดิ (1593-1630) รวมทั้ง โจวานนี ฟรานเชสโก เกร์ริเอรี (1589-1655) และเฮนดริก แทร์ บรุกเคน (1588-1629) จิตรกรชาวดัตช์ด้วย
ทายาททางด้านจิตรกรรมของออราซิโอ ที่สืบทอดอิทธิพลของเขาอย่างชัดเจน หาใช่ลูกชายทั้ง 3 คนที่ทำงานร่วมกับเขาตลอดเวลา ทว่า คือ อาร์เตมิชา เจนติเลสกี ที่ภายหลังกลายเป็นจิตรกรหญิงชื่อดังไม่แพ้บิดา